posttoday

จัดทัพ ขรก.รื้อประชานิยม

30 พฤษภาคม 2557

บรรดาโครงการประชานิยม ซึ่งก่อร่างสร้างขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งสืบทอดมรดกมาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

บรรดาโครงการประชานิยม ซึ่งก่อร่างสร้างขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งสืบทอดมรดกมาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจถึงคราวได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ

เริ่มมีสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเป็นหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยที่ส่งไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องแนวปฏิบัติแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยอ้างถึงนโยบายของหัวหน้า คสช.ตอนหนึ่ง ให้จังหวัดเร่งปลูกฝังและส่งเสริมการประกอบอาชีพให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเองได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลดแนวทางประชานิยม

หรือแม้แต่สุ้มเสียงจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกลุ่มงานสังคมและจิตวิทยา ซึ่งมาเป็นประธานการประชุมให้นโยบาย 7 กระทรวง มีการพูดถึงการทบทวนโครงการแจกแท็บเล็ต โดยอาจปรับเปลี่ยนด้วยการนำงบประมาณไปดำเนินการปรับห้องเรียนในรูปแบบสมาร์ท คลาสรูม แทน

การรุกคืบทบทวนโครงการประชานิยมจึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าขณะที่ในการดำเนินการกับนโยบายโครงการประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พิจารณาตามแนวทาง คสช.ได้พยายามเร่งแต่งตั้งตัวบุคคลระดับหัวหน้าส่วนราชการที่กำกับดูแล หรืออนุมัติโครงการประชานิยมก่อนเป็นอันดับแรกก่อน

จากนั้นทาง คสช.จะมอบนโยบายให้หัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวไปพิจารณา ทบทวน หรือนำเสนอแนวทางใหม่แก่ คสช. หรือรัฐบาลใหม่ที่ คสช.ตั้งขึ้น โดยหัวหน้าส่วนราชการเหล่านี้ก็จะได้เข้ามาสานงานต่อตามแนวทาง หรือโรดแมป ที่ คสช.วางไว้อย่างสอดคล้อง ดังนั้นขณะนี้จะเห็นประกาศแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการกฤษฎีกา เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มีคำสั่งให้ปฏิบัติราชการแทนไปพลางก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่

นอกจากนี้ คสช.ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงทั้งหมดไปพิจารณาการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงออกเป็น 2 ส่วน คือ นโยบายด้านความมั่นคงแห่งรัฐที่เป็นแผนนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งเป็นงานปกติประจำยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นแผนงานที่จัดทำโดยส่วนราชการเอง เช่น นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอีกส่วนคือนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาลชุดเก่า เช่น นโยบายการเจรจากับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ทาง คสช.ได้สั่งการให้ต้นสังกัดที่รับผิดชอบ เช่น สมช. ต้องไปพิจารณา ทบทวน นโยบายดังกล่าวใหม่ พร้อมกับนำเสนอแนวทางใหม่ต่อ คสช.ด้วยว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

สำหรับนโยบายประชานิยมเดิมที่สานต่อตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ว่ากองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ต้องรอชี้แจงและรับมอบนโยบายจาก คสช.ด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาลใหม่หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแล ดังนั้น การพิจารณาอนุมัติงบประมาณในขณะนี้ จึงขึ้นกับ คสช. จะพิจารณาหรือรอจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาว่าดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังคงใช้งบประมาณเดิมจากรัฐบาลเก่าไปพลางก่อน

“ขณะนี้ยังรอให้ คสช.เรียกไปรับมอบนโยบายและชี้แจงถึงผลการดำเนินงาน แต่ตอนนี้โครงการทั้งสองยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในขณะนี้” นที กล่าว