posttoday

เก็ง 3 ทางเลือก "บิ๊กตู่"

21 พฤษภาคม 2557

ทันทีที่กฎอัยการศึกถูกผู้นำกองทัพประกาศเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หลายฝ่ายเฝ้าติดตามว่าสถานการณ์การเมืองจากนี้จะจบอย่างไร

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ทันทีที่กฎอัยการศึกถูกผู้นำกองทัพประกาศเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หลายฝ่ายเฝ้าติดตามว่าสถานการณ์การเมืองจากนี้จะจบอย่างไร

ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึก หากว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่ทำเพื่อรักษาสภาพความมั่นคงเพียงอย่างเดียว ปัญหาที่ใช้ก็จะน้อย แต่หากนำมาใช้ในทางการเมืองปัญหาก็จะมาก เพราะเป็นอำนาจสูงสุด เข้มข้นที่สุดในบรรดากฎหมายความมั่นคงทั้งหมด และตรวจสอบได้ยาก ที่สำคัญคือเป็นการดึงอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือน โดยทหารนำอำนาจนั้นมาบริหารเอง

ทั้งนี้ สำหรับต่างประเทศยอมรับกฎอัยการศึกน้อยมาก แม้ว่าจะมีการใช้ในบางประเทศ แต่ก็อยู่ในกรอบจำกัด เพียงไม่กี่วันก็จะมีการยกเลิก คือ ไม่ใช้ในการบริหารความขัดแย้งทางด้านการเมือง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของการใช้กฎอัยการศึกในครั้งนี้ไม่ใช่มาจากความล้มเหลวของศอ.รส. เพียงอย่างเดียว แต่คงมีปัญหาภายในมากกว่าที่คิดไว้ เมื่อล้มเหลวแล้วทหารก็ออกมาเตือน7 ข้อแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อีก กระทั่งมีการตรวจพบอาวุธสงครามล่าสุด การเจรจาทางการเมืองก็ไม่เป็นผลมีความชะงักงัน จึงนำมาสู่การประกาศกฎอัยการศึก

อย่างไรก็ตาม หากทหารสามารถกดดันให้ทุกฝ่ายเจรจาตกลงกันผ่านทางรัฐสภา คิดว่ากฎอัยการศึกก็จะทำให้งานสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่หากคงกฎอัยการศึกไว้นานก็มีแต่จะเสียหาย ทั้งการปิดกั้นสื่อหรือแม้แต่การเรียกข้าราชการระดับสูงมาชี้แจงบ่อยครั้งก็จะยิ่งอันตราย ที่สำคัญที่สุดมีแรงต้านอยู่แล้วภายในกองทัพ ในกรณีที่กลุ่มหนึ่งทำอย่างหนึ่ง อีกกลุ่มก็ต้องต่อต้าน ดังนั้นต้องดูแรงต้านเหล่านี้ให้ดี เพราะเชื่อว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวที่ออกมาด้วย

"ประเมินการใช้กฎอัยการศึกนานแค่ไหน ประเมินได้ยาก ต้องดูว่าแต่ละฝ่ายตอบรับมากน้อยแค่ไหนเช่น ฝ่ายหนึ่งออกมาต่อต้านกับทหาร ก็จำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกอย่างต่อเนื่องแต่ขณะนี้ทุกฝ่ายก็ยังรักษาท่าที ส่วนใหญ่จะไม่ให้เป็นลบกับทางทหารมากนักรวมถึงต่างประเทศก็ดูท่าทีของกองทัพเช่นกัน และได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ใช้นาน" ปณิธาน ระบุ

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติกล่าวว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้จะไม่นำไปสู่ความรุนแรงหรือเกิดการรัฐประหารแน่นอนเพราะกฎอัยการศึกถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเพียงพอ และเห็นว่ากลุ่มกองกำลังใต้ดินคงออกมาต่อต้านไม่มาก เนื่องจากที่ผ่านมามีแค่กลุ่มเล็กๆเท่านั้น ขณะที่ทหารได้นำกำลังออกมาควบคุมในจุดยุทธศาสตร์ทั้งหมด

ด้านแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงประเมินการประกาศกฎอัยการศึกของกองทัพจะออกมา 3 แนวทาง

แนวทางแรก กองทัพจะดำเนินการกับกลุ่มติดอาวุธ พร้อมกับกดดันให้มวลชนทั้งสองกลุ่ม นปช.และ กปปส. ยุติการชุมนุม สถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย หลังจากนั้นจะกดดันให้รัฐบาลลาออกทั้งคณะเพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาปฏิรูปภายใน 6 เดือน จากนั้นเลือกตั้ง ซึ่งแนวทางนี้เสี่ยงต่อการปะทะอย่างมาก เพราะรัฐบาลสูญเสียอำนาจและ นปช.ไม่ยอมรับ จะเกิดความรุนแรง และภายในกฎหมายกฎอัยการศึกในตัวเองไม่สามารถเข้ามาใช้แก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองได้

แนวทางที่ 2 กองทัพดำเนินการกับกลุ่มติดอาวุธและกดดันให้มวลชนทั้งสองกลุ่ม นปช. และ กปปส.ยุติการชุมนุม สถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อยจากนั้นปล่อยให้กลไกทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามระบบปกติ โดยจะให้กฤษฎีกาตีความสถานะ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ว่าสามารถทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ได้หรือไม่ จากนั้น สว.ทูลเกล้าฯนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการปฏิรูป แล้วถึงมีการเลือกตั้ง

แนวทางที่ 3 กองทัพดำเนินการกับกลุ่มติดอาวุธ พร้อมกับกดดันให้มวลชนทั้งสองกลุ่ม นปช.และ กปปส. ยุติการชุมนุม สถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย หลังจากนั้นปล่อยให้กลไกทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามระบบปกติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้ง ซึ่งแนวทางนี้เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีก แล้วเข้ามาดำเนินการปฏิรูป แต่ทาง กปปส. ไม่ยอมรับจะกลับมาชุมนุมอีก