posttoday

"ทางตันนายกฯม.7"ชัยชนะยังอีกไกล

14 พฤษภาคม 2557

โอกาสที่นายกฯ คนใหม่จะตกเก้าอี้ด้วยประเด็นนี้มีความเป็นไปได้สูง เว้นเสียแต่จะเกิดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาล 193 วันของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ถึงจะทำลายในเชิงปริมาณได้หลายด้าน เช่น จำนวนวันของการชุมนุม หรือตัวเลขของมวลชนที่มาร่วมสนับสนุน แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถโค่นล้มคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเพื่อให้เกิดสุญญากาศตามที่ตั้งความหวังเอาไว้ได้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เฉพาะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คนออกจากตำแหน่ง ส่วนรัฐมนตรีที่เหลือยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามรัฐธรรมนูญ

ตรงกันข้าม การต่อสู้ที่ กปปส.จะคิดว่าเป็นครั้งสุดท้ายกลับมีแนวโน้มว่าต้องยืดเยื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนดและยังไม่รู้ว่าชัยชนะจะมาถึงเมื่อไหร่ เนื่องจากข้อเรียกร้องที่ให้ผู้นำองค์กรต่างๆ ร่วมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร

เดิมที กปปส.วางแนวทางไว้ว่าหาก สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้เป็นประธานวุฒิสภาเมื่อไหร่ก็คิดว่าการมีนายกฯ มาตรา 7 น่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่สถานการณ์กลับผิดคาด เพราะสุรชัยออกลูกไม่ปฏิเสธและไม่ตอบรับข้อเสนอของ กปปส. โดยเลือกที่จะใช้เวทีวุฒิสภาเป็นหลังพิงเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่ารับลูก กปปส.

โดยแนวทางที่สุรชัยเตรียมจะเดินต่อไป คือ การเดินสายพบปะกับผู้นำองค์กรต่างๆ ทั้งภาคการเมือง ความมั่นคง และเอกชน เพื่อให้ได้ความคิดเห็นรอบด้านก่อนจัดทำเป็นบทสรุปอีกครั้ง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการปฏิเสธข้อเสนอของ กปปส.แบบนิ่มนวล

ใช่ว่าจะมีแต่วุฒิสภาเท่านั้นที่เมินข้อเรียกร้องของ กปปส. เพราะกองทัพและศาลยุติธรรมได้ส่งสัญญาณไม่เล่นตามเพลงของ กปปส.เช่นกัน ซึ่งตามรายงานที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คำขอของ กปปส.ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่าทีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า เลือกที่จะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปด้วยการยืนยันนัดหารือกับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค.ตามกำหนดการเดิม

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายหันหลังให้กับ กปปส. คือ ตัวข้อเสนอของ กปปส. เนื่องจากการเสนอให้มีการตั้งนายกฯ มาตรา 7 ไม่มีทางทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า “นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส.ตามมาตรา 171 และต้องได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 172” ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันยังมีรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งอีก 25 คน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

การกำหนดแนวทางการได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยิ่งทำให้การตั้งนายกฯ โดยอาศัยมาตรา 7 ทำได้ลำบาก ผนวกกับประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสุญญากาศแบบสมบูรณ์ 100% จึงไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่พอจะช่วยให้สามารถนำรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน องค์กรต่างๆ รู้ดีว่าหากไปฝืนดำเนินการตามที่ กปปส.ร้องขอ ย่อมเป็นเหตุให้อีกฝ่ายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาในข้อหาจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้

ที่สำคัญไม่ได้มีหลักประกันว่านายกฯ มาตรา 7 ในอนาคต จะอยู่ในอำนาจได้อย่างมั่นคง เพราะแน่นอนว่าจะมี สว.จำนวน 1 ใน 10 ของวุฒิสภา หรือ 15 คนจาก สว.ทั้งหมด150 คน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ คนกลางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 92 และ 182 เนื่องจากอย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ทุกตัวอักษร

เท่ากับว่าโอกาสที่นายกฯ คนใหม่จะตกเก้าอี้ด้วยประเด็นนี้มีความเป็นไปได้สูง เว้นเสียแต่จะเกิดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

แต่ถามว่าชั่วโมงนี้ทหารจะกล้ารัฐประหารหรือไม่

ทหารรู้ดีว่าถึงจะได้อำนาจมาแต่ก็ไม่อาจจะปกครองได้ เนื่องจากเสื้อแดงจองคิวเข้ามาชุมนุมต่อต้านอยู่ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเหตุปะทะเหมือนกับปี 2553 จึงคิดว่าควรเก็บแผนการรัฐประหารไว้ในลิ้นชักต่อไป เพราะฝืนทำไปทหารจะได้ไม่คุ้มเสีย

เมื่อหลายฝ่ายไม่เอาด้วยกับ กปปส.เป็นผลให้ กปปส.มาสู่ภาวะคับขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเดินต่อไปก็ลำบาก จะถอยหลังก็ไม่ได้

ครั้นเดินหน้าต่อไปด้วยการชุมนุมยืดเยื้อก็มีคำถามว่าจะนำพามวลชนไปสู่ชัยชนะได้เมื่อไหร่ แต่จะยิ่งมีผลให้มวลชนเกิดความอ่อนล้าลงไปอีก หลังจากสุเทพได้ประกาศชุมนุมใหญ่ครั้งสุดท้ายมาแล้วหลายครั้งแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

หรือถ้า กปปส.จะเสนอชื่อนายกฯ เอง ก็อาจมีคำถามตามมาว่าตัวเองมีอำนาจและมีความเหมาะสมหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญได้กำหนดที่มาของนายกฯ เอาไว้ กลับกันจะยิ่งเป็นการสร้างประเด็นอ่อนไหวให้กับสังคม แถมเสี่ยงต่อการทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปอีก

มาถึงจุดนี้แม้คำว่า “สุดท้าย” ของ กปปส.จะยังไม่มีใครรู้ว่าจะถึงฉากสุดท้ายเมื่อไหร่ แต่ด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ ทั้งหมดได้ทำให้ กปปส.อยู่ในภาวะเข้าตาจนเข้าไปทุกที