posttoday

เขี่ย "ถวิล" ทิ้งสมช.ยิ่งเพิ่มจุดอ่อนรัฐบาล

01 พฤษภาคม 2557

รัฐบาลปรับโครงสร้างศอ.รส.ตัดตอนถวิล เท่ากับเลิกใช้บริการ สมช. ไปโดยปริยาย

เขี่ย "ถวิล" ทิ้งสมช.
ยิ่งเพิ่มจุดอ่อนรัฐบาล
โดยปริญญา ชูเลขา

การที่รัฐบาลปรับโครงสร้างศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เพื่อตัดตอนไม่ให้ ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เพิ่งกลับมากุมบังเหียนอีกครั้งตามคำสั่งศาลปกครอง เข้าไปมีส่วนร่วมนั้น เท่ากับว่ารัฐบาลนี้เลิกใช้บริการ สมช. ไปโดยปริยาย

ความจงเกลียดจงชังของรัฐบาลต่อถวิลนั้น เนื่องจากก้าวแรกที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ถวิลดื้อแพ่งไม่ยินยอมถูกเด้งตามคำบัญชา แถมดันไปยื่นฟ้องศาลปกครองจน ไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำกลุ่ม 40 สว. นำไปต่อยอดฟ้องศาลรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะกำหนดความชัดเจนในวันที่ 6 พ.ค.

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไม่ใช้งาน สมช. ย่อมมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะ สมช.ถือเป็นองค์กรมันสมองผลิตประมวลผลงานเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายด้านความมั่นคงแก่รัฐบาล ยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ ยิ่งจำเป็นต้องใช้ สมช. เพราะงานข่าวกรองด้านความมั่นคงทั้งหมด เช่น ศูนย์รักษาความปลอดภัยกระทรวงกลาโหม (ศรภ.กห.) สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ หรือกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล้วนต้องรายงานข้อมูลตรงต่อ สมช.เพื่อประมวลยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงรับมือสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ศอ.รส.ไม่เลือกใช้งาน สมช.เพราะไม่ไว้ใจถวิล ภารกิจดังกล่าวย่อมตกเป็นภาระหน้าที่ของธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะเลขานุการ ศอ.รส. แทนที่จะให้ฝ่ายยุทธศาสตร์อย่าง สมช.เป็นผู้นำเสนอข้อมูลเชิงวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ในภาพรวม ที่จะมองเห็นการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ มิใช่มุ่งเน้นงานข่าวกรองสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองต่อฝ่ายต่อต้านเป็นหลัก

ฉะนั้น เมื่อไร้ สมช. อยู่ในกระบวนการฝ่ายความมั่นคง ย่อมปล่อยให้การเมืองนำฝ่ายความมั่นคงหรือการเมืองเชิงฝ่ายความมั่นคงมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ข้อมูลจากฝ่ายปฏิบัติต่างๆ ถูกนำไปตอบสนองนโยบายการเมืองเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้

อีกบทบาทสำคัญของ สมช. คือ หน่วยราชการที่คอยประสานงานกับทุกหน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนั้น เมื่อขาดเลขาธิการ สมช. ย่อมขาดมือประสานสิบทิศ ซึ่งจากโครงสร้างใหม่ ศอ.รส.ได้มีการวาง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช.ในตำแหน่งที่ปรึกษา ศอ.รส. และธาริต ในฐานะเลขานุการ ศอ.รส. แต่ทั้งสองย่อมมีความยากลำบากในตัวเอง

กล่าวคือ พล.ท.ภราดร เมื่อหลุดจากเก้าอี้เลขาฯ สมช. ย่อมไร้น้ำหนักและความน่าเชื่อถือในการประสานงานกับฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร หรือแม้แต่ตัวธาริตเองย่อมไม่อาจจะทำหน้าที่ได้เต็มร้อย เพราะงานดีเอสไอใน ศอ.รส.ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการยกร่างแถลงการณ์ เน้นงานดำเนินคดีทางกฎหมาย ไล่ล่าตัวแกนนำ กปปส.มาลงโทษ มิได้มีทักษะงานนโยบายด้านความมั่นคงแต่อย่างใด

ดังนั้น ความสำเร็จเชิงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของ ศอ.รส.และรัฐบาลต่อปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ย่อมลดน้อยลง ยิ่งเมื่อรัฐบาลตัดสายสัมพันธ์กับ สมช.โดยไม่เหลือเยื่อใย การทำงานนโยบายฝ่ายความมั่นคงที่สำคัญด้านอื่นๆ ย่อมล้มเหลวไปด้วย

ยิ่งทราบกันดีว่า นายกรัฐมนตรีอ่อนประสบการณ์และไม่เชี่ยวชาญงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมเป็นการเปิดจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีรัฐบาลว่าละทิ้งปัญหาด้านความมั่นคง แม้ว่าระดับฝ่ายปฏิบัติการที่เป็นหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคง (กอ.รมน.) ภาค 4 ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งถือเป็นงานประจำวันย่อมไม่ได้รับผลกระทบหรือมีปัญหา แต่ในระดับยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายการเมืองต้องลงไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดย่อมหยุดชะงักไปโดยปริยาย หรืออาจสร้างช่องโหว่ให้สถานการณ์เพิ่มดีกรีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้

แม้ถวิลจะเป็นลูกหม้อ สมช.มานานกว่า 30 ปี รู้ลึกถึงรากเหง้าของปัญหา หรือจะเก่งในการประสานกับกลไกฝ่ายข้าราชการด้านความมั่นคงส่วนอื่นๆ ด้วยกันที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ เช่น ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เป็นต้น แต่การแก้ไขปัญหาภาคใต้มิอาจปล่อยให้ฝ่ายข้าราชการประจำระดับปฏิบัติอย่างถวิลเดินไปเพียงลำพังได้ เพราะปัญหาการเมืองในภาคใต้ต้องใช้การเมืองนำการทหาร ดังคำกล่าวของ ปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้การเมืองนำการทหาร เพราะในภาคใต้มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนและเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น นโยบายทางการเมืองต้องชัดเจน แต่เมื่อคนในรัฐบาลไม่ทำงานกับ สมช. จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ยิ่งเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ต้องนำมาเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล มีเพียงหน่วยงานเดียวที่ลงไปทำงานในพื้นที่ คือ สมช. ที่จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองและกระทรวงยุติธรรม มาผลิตเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีตัดสินใจต้อง ขาดตอนลง จึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่สังคมจะ มองว่ารัฐบาลเพิกเฉยปัญหา 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ ข้ออ้างของรัฐบาลว่าทำงานกับถวิลไม่ได้เพราะไม่ไว้วางใจกลัวเป็นไส้ศึกให้ กปปส.นั้น โดยตรรกกะแล้วมีน้ำหนักน้อยมาก เพราะในอดีตศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในสมัยนั้นมีสุเทพ เทือกสุบรรณเป็น ผู้อำนวยการ ศอฉ. ข้อมูลยังรั่วไหลไปถึงมือฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน ซึ่งไม่ต่างกับ ศอ.รส.ปัจจุบัน

ยิ่งแย่ไปกว่านั้น ศอ.รส.ชุด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เจอแรงต้านหนักจากกองทัพ เช่น กรณีแถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับที่ 1 ปล่อยออกมากดดันการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระทั้งศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยอ้างว่าผู้นำเหล่าทัพสนับสนุน แม้รัฐบาลจะตะเพิดถวิลพ้นไปได้ แต่รัฐบาลก็ไม่อาจจะไว้วางใจข้าราชการส่วนอื่นๆ ได้เต็มที เพราะวันนี้รัฐบาลเจอแรงต้านจากข้าราชการสายแข็งข้อ เช่น นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ยิ่งรัฐบาลผลักไสถวิล พร้อมกับลากคนทั้งองค์กร สมช.ออกไปด้วยโดยมิได้คำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรบุคคลกว่า 300 ชีวิต ที่ล้วนเชี่ยวชาญงานด้านความมั่นคง อาทิ ปัญหาชายแดน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาค้ามนุษย์ หรือปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่รอการแก้ไข

ดังนั้น การที่รัฐบาลชิงชังบุคคลเพียงคนเดียว แต่กลับไปผลักไสคนทั้งองค์กร ย่อมทำให้รัฐบาลถูกมองได้ว่าละทิ้งปัญหาความมั่นคงมิติอื่นๆ ด้วย มิหนำซ้ำการกระทำเช่นนี้ย่อมทำให้ข้าราชการเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้เลือกใช้งานเฉพาะพรรคพวกตัวเอง ในท้ายที่สุดจะเป็นการเพิ่มแนวต้านรัฐบาล โดยเฉพาะจากข้าราชการให้มีมากยิ่งขึ้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพรัฐบาลแต่อย่างใด.