posttoday

10วิถีวิกฤตยูเครนเปลี่ยนโฉมการเมืองโลก

03 เมษายน 2557

วิกฤตยูเครนอาจส่งผลให้การเปลี่ยนโฉมการเมืองโลกได้ถึง 10 รูปแบบ

โดย...ก้องภพ เทอดสุวรรณ

สถานการณ์ความตึงเครียดกรณียูเครน ระหว่างฝั่งซีกโลกตะวันตกอันประกอบด้วยสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) กับฝ่ายรัสเซีย ซึ่งล่าสุดสถานการณ์ความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากสภาดูมาของรัสเซียผ่านกฎหมายผนวกดินแดนไครเมีย ทำให้โลกตะวันตกหันมาใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพื่อเป็นการโต้ตอบ

แม้ว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะได้หารือกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าความตึงเครียดดังกล่าวจะคลี่คลายลงแต่ประการใด ทำให้เกรงกันว่าครั้งนี้อาจยืดเยื้อและลุกลามจนทำให้โลกเข้าสู่ภาวะสงครามเย็นอีกครั้ง

พอล เทย์เลอร์ จากสำนักข่าวรอยเตอร์ส แสดงทัศนะไว้ว่า วิกฤตยูเครนอาจส่งผลให้การเปลี่ยนโฉมการเมืองโลกได้ถึง 10 รูปแบบ ดังนี้

1) รัสเซียลดบทบาทบนเวทีโลกลง อย่างน้อยชั่วระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากซีกโลกตะวันตกได้ร่วมมือกันใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซียจากเวทีโลก โดยทำให้พญาหมีขาวถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (จี8)
นอกจากนี้ รัสเซียยังถูกระงับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) และองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) อีกด้วย

กรณีดังกล่าวแม้อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อรัสเซียมากนัก แต่นับเป็นการโดดเดี่ยวและลดบทบาทของรัสเซียบนเวทีโลกโดยตรง

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พยายามที่จะหาความร่วมมือจากสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจบริกส์ เพื่อบรรเทาการถูกซีกโลกตะวันตกโดดเดี่ยว ทว่ากลับไม่ได้รับความร่วมมือมากนัก เพราะทั้งจีนและอินเดียซึ่งมีปัญหาแบ่งแยกดินแดนในประเทศ ไม่เต็มใจนักที่จะสนับสนุนการแบกแย่งดินแดนไครเมียออกจากยูเครน

การออกแถลงการณ์ร่วมของกลุ่มบริกส์ จึงเป็นแค่การประณามการคว่ำบาตรเท่านั้น ทว่าไม่มีการพูดถึงกรณีไครเมียหรือยูเครนแต่อย่างใด

2) การฟื้นฟูองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ก่อนหน้านี้นาโต้ถูกลดบทบาทลงหลังจากที่สหรัฐประกาศถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน กระนั้นก็ตาม ความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างพญาหมีขาวกับพญาอินทรีในครั้งนี้ จะทำให้นาโต้ต้องกลับมามีบทบาทในฐานะเครื่องมือในการปกป้องความมั่นคงของประเทศสมาชิกอีกครั้ง

โดยตั้งแต่วิกฤตความตึงเครียดบนแหลมไครเมียปะทุขึ้น นาโต้ได้ทำการซ้อมรบทางอากาศร่วมกับประเทศสมาชิกอย่าง โปแลนด์ และ 3 รัฐบอลติก อันได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่านาโต้ยังพร้อมที่จะปกป้องดินแดนแถบนี้ให้พ้นจากภัยคุกคามอยู่

นอกจากนี้ บรรดาประเทศที่เคยวางตัวเป็นกลางระหว่างสองขั้วอำนาจ เช่น สวีเดน และ ฟินแลนด์ อาจเริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของรัสเซียในฐานะภัยคุกคามเช่นกัน และอาจยกระดับความมั่นคงของรัฐด้วยการหันไปร่วมมือกับนาโต้มากขึ้น

3) อียูกระจายความเสี่ยงด้านพลังงาน โดยคาดว่าอียูจะพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เพราะปัจจุบันอียูต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียถึง 1 ใน 3 ทำให้อียูอ่อนไหวต่อนโยบายพลังงานของรัสเซียมาก

นอกจากนี้ รัสเซียมักใช้พลังงานมาเป็นข้อต่อรองกับฝั่งยุโรป โดยมักขู่จะปิดท่อส่งก๊าซหากยุโรปไม่ดำเนินนโยบายตามที่รัสเซียต้องการ

ยุโรปจึงมองหาการพึ่งพาพลังงานจาก เชลก๊าซ ในภูมิภาค และอาจเพิ่มผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ซึ่งหากยุโรปประสบความสำเร็จในการลดการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย จะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปและรัสเซียไปเลย

นอกจากกรณีที่กล่าวมานี้ มีความเป็นไปได้เช่นกันว่ากรณีวิกฤตไครเมียจะทำให้บทบาทของประเทศมหาอำนาจบนเวทีโลกเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

4) ความหมางเมินระหว่างจีนกับรัสเซีย อาจเรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดจากวิกฤตยูเครนเลยทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้พญามังกรกับพญาหมีขาวถือเป็นพันธมิตรบนเวทีโลก โดยทั้งคู่มักโหวตไปในทิศทางเดียวกันเสมอ เช่น กรณีที่รัสเซียและจีนร่วมกันใช้สิทธิ วีโต ต่อประเด็นการประณามการใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงโดยรัฐบาลซีเรีย ระหว่างการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงระหว่างประเทศ (ยูเอ็นเอสซี) เมื่อปี 2012

อย่างไรก็ดี ท่าทีของพันธมิตรคู่นี้ต้อง|สั่นคลอน เมื่อจีนกลับเลือกที่จะวางตัวเป็นกลางในกรณีไครเมีย ซึ่งสวนทางกับรัสเซียที่คาดหวังให้จีนสนับสนุน จึงเป็นไปได้ว่าต่อไปนี้รัสเซียอาจไม่สนับสนุนจีนบนเวทีโลกอีกต่อไป ขณะเดียวกันจีนอาจมองว่าการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซียไม่เป็นประโยชน์ต่อตนอีกต่อไป หลังจากที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ

5) บทบาทของสหรัฐ สหรัฐอาจกลับสู่ภาวะความเป็น “ผู้นำโลกเสรี” เสมือนในยุคสงครามเย็นอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐต้องถอยเข้าไปหลังฉากในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2009 และเปิดทางให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขึ้นมามีบทบาทแทน

อย่างไรก็ดี สหรัฐจะไม่กลับไปมีบทบาทในยุโรปเหมือนเช่นที่เคยเป็นในสมัยสงครามเย็นอีกต่อไป แต่จะเพิ่มบทบาทในเอเชียมากขึ้น เนื่องจากยุทธศาสตร์หลักเพื่อประกันความมั่นคงของสหรัฐในขณะนี้คือ การจำกัดการเติบโตของจีนนั่นเอง นโยบายต่างประเทศของสหรัฐจึงให้ความสำคัญกับเอเชียมากกว่ายุโรป

6) บทบาทของเยอรมนี ผู้เขียนได้วิเคราะห์ต่อไปว่า การที่สหรัฐลดบทบาทในยุโรปลง ทำให้ยุโรปต้องหันมาดูแลด้านความมั่นคงกันเองมากขึ้น นับเป็นการเปิดทางให้เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดในกลุ่มอียูจะก้าวขึ้นมามีบทบาทในภูมิภาค และมีแนวโน้มว่าเยอรมนีในฐานะผู้นำใหม่จะผลักดันให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียลง

7) อียูรวมตัวเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น อียูกลับมารวมตัวกันอย่างกลมเกลียวอีกครั้ง หลังจากที่ประสบภัยคุกคามจากรัสเซีย ซึ่งนับเป็นผลดีต่อผู้นำอียูในการเอาชนะความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานในภูมิภาค

ด้าน รีเบคกา ฮาร์มส์ สมาชิกพรรคกรีนจากสภายุโรปพูดติดตลกว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประธานาธิบดี ปูติน เป็นตัวเต็งในการชิงรางวัลชาร์ลเลอมาญ ในฐานะผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอียู

8) การแข่งกันในเอเชียกลาง เป็นไปได้ว่าวิกฤตยูเครนที่ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลงจะทำให้บรรดาประเทศในเอเชียกลางหันหน้าไปหาโลกตะวันตกมากขึ้น ขณะที่ตะวันตกเองก็อ้าแขนรับประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะเป็นประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการนำเข้าพลังงานจากภูมิภาคดังกล่าวเป็นหนทางหนึ่งที่ยุโรปสามารถใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

9) ความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐและรัสเซียยังคงรักษาความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นเรื่องความมั่นคงโลก เนื่องจากรัสเซียไม่ต้องการถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลกยิ่งขึ้นไปอีก

10) อนาคตของประธานาธิบดี ปูติน ความนิยมในตัวประธานาธิบดีแดนหมีขาวผู้นี้ใกล้ถึงจุดสูงสุด หลังจากที่ปลุกกระแสชาตินิยมในกรณีดินแดนไครเมีย อย่างไรก็ดี หลังจากนี้รัสเซียต้องประสบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการที่เข้าไปผนวกดินแดนไครเมีย ซึ่งจะทำให้คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดี ปูติน ลดลงอย่างแน่นอน