posttoday

ลดกระแสชินวัตร เกมดิ้นหนีวิกฤต

28 มีนาคม 2557

"เพื่อไทย"ส่งสัญญาณเตรียมถอยถอด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรออกจาก ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์หนึ่ง รวมทั้งไม่ส่งคนในตระกูล "ชินวัตร" ลงสมัคร สส.

ทีมข่าวการเมือง

โยนหินถามทางรอบใหม่ "เพื่อไทย"ส่งสัญญาณเตรียมถอยถอด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรออกจาก ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์หนึ่ง รวมทั้งไม่ส่งคนในตระกูล "ชินวัตร" ลงสมัคร สส.เที่ยวนี้ เพื่อเป็นเงื่อนไขเรียกร้องให้ประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมลงสมัครในการเลือกตั้งรอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ซึ่งประเมินแล้วนี่อาจจะเป็น "ทางออก"

จากวิกฤตที่เริ่มเข้าสู่สภาพ "เดดล็อก"ต้องยอมรับว่าสภาพความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างดึงดันกันจนพาตัวเองมายืนอยู่ปากเหว และไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะหากยังดึงดันกันต่อไปเช่นนี้อาจจะต้องพาประเทศดำดิ่งสู่เหวลึก ดังนั้น การยอมถอยเพื่อให้มีทางออกเดินต่อไปได้ย่อมอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้

เมื่อด้านหนึ่งทางฝั่งกปปส. ซึ่งเวลานี้ได้ปักหลักเคลื่อนไหวต่อเนื่องมาใกล้จะครบ5 เดือนเต็ม ที่ผ่านมางัดกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้จนไม่รู้จะ "ยกระดับ" ต่อไปอย่างไรแล้ว แต่ยังไม่สามารถ "ปิดเกม" ให้นายกฯ รักษาการทิ้งเก้าอี้เปิดช่องตั้ง "รัฐบาลประชาชน" มาขับเคลื่อนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้สำเร็จ

แม้กระทั่งการนัดชุมนุมใหญ่ 29 มี.ค.นี้ ไม่ว่าจะมีประชาชนออกมาร่วมเคลื่อนไหวมากแค่ไหน สุดท้ายก็ซ้ำรอยเดิมคือเป็นเพียงการ

แสดงพลังของประชาชนที่ไม่อาจทำให้รัฐบาลเปลี่ยนใจลาออกจากตำแหน่งรักษาการได้ ตรงกันข้ามหากมวลชนที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส.เที่ยวนี้บางตาลงไปมากย่อมสั่นคลอนต่อ "พลัง" และ "ทิศทาง" การเคลื่อนไหวจากนี้ของ กปปส.

ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งรัฐบาลเพื่อไทยซึ่งอ้างความชอบธรรมทำหน้าที่รักษาการอยู่ในตำแหน่งควบคู่ไปกับความพยายามลุยผลักดันการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้

แต่ทว่ายังไม่มีวี่แววว่าการเลือกตั้งรอบใหม่จะสามารถเดินหน้าต่อไปจนได้ สส.ครบ 95%ครบเกณฑ์เปิดสภานัดแรกเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะ กปปส.ยังประกาศคัดค้านการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อ

หากบรรยากาศยังเป็นเช่นนี้ ทั้ง กปปส.ยังคัดค้านการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมหารือกับ 53 พรรคการเมืองเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ประกาศว่าหากมีความรุนแรงก็จะไม่เสี่ยง ดังนั้น หากยังดันทุรังต่อไปในเงื่อนไขเดิมๆอย่างนี้ สุดท้ายก็อาจจะหนีไม่พ้นที่ต้องวนกลับมาจบลงเหมือนการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะที่ผ่านมา

ยิ่งในวันนี้เสื้อแดงหลังเงียบเหงามานานรอบนี้ได้ยกเครื่องปรับโครงสร้างใหม่ดึงจตุพรพรหมพันธุ์และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อมารับตำแหน่งประธาน และเลขาธิการ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ก่อนเปิดหน้าลุยถล่ม กปปส.พร้อมทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล เริ่มต้นจากการออกมาเตะสกัดด้วยการเปิดเผยรายชื่อว่าที่นายกฯคนกลาง เพื่อเบี่ยงกระแสการเมืองให้หันมาจับจ้องที่ทางฝั่ง กปปส.มากกว่าจะจับจ้องเฉพาะที่รัฐบาล

ยังไม่รวมกับการนัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 5 เม.ย. ที่จะเป็นการวัดกำลังครั้งใหญ่ของนปช. และเป็นสัญญาณอันตรายที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการปะทะกันของมวลชนสองฝั่ง อันจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

แม้แต่รัฐบาลรักษาการปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าประคองตัวอยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆรอวันที่จะถูกองค์กรอิสระสอยจากคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญในคดี สว.ยื่นให้พิจารณาการพ้นคุณสมบัติจากการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือคดีทุจริตโครงการจำนำข้าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใกล้จะมีคำวินิจฉัยว่าจะชี้มูลความผิดหรือไม่เร็วๆ นี้

ที่สำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนองค์กรอิสระจะชี้ขาดเสียงสะท้อนจากคนในรัฐบาล ประเมินแล้วมีความเป็นไปได้สูงว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์อาจจะถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยรองนายกฯ อันดับหนึ่ง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลจะขึ้นมาทำหน้าที่แทนดังนั้น แนวคิดกันนายกฯ ยิ่งลักษณ์ออกไปจากสถานการณ์ความตึงเครียดในปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับทั้งตัวนายกฯ และพรรคเพื่อไทยรวมไปถึงทำให้การเจรจาหาทางออกเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ยิ่งส่องดูรายชื่อเต็งหนึ่งที่ถูกวางตัวมาลงสมัครอันดับหนึ่งบัญชีรายชื่อเพื่อไทยอย่าง"พงศ์เทพ เทพกาญจนา"นอกจากจะช่วยลดแรงเสียดทานเพราะไม่ใช่คนในตระกูลชินวัตรแล้วด้วยบทบาทที่ถูกวางตัวให้รับผิดชอบงานด้านการปฏิรูปที่ผ่านมา ยังเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ไปถึงฝั่งตรงข้ามว่ารัฐบาลชุดหน้าหากเพื่อไทยชนะเลือกตั้งก็จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูป

สอดรับกับแนวคิดที่มีการพูดถึงเงื่อนไขการเลือกตั้งใหม่ที่จะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรอบใหม่นี้ มีวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจนไม่ว่าจะ 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปในสิ่งที่ทำได้ก่อนเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ ก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป ซึ่งถือเป็นขั้นตอนรายละเอียดที่พรรคเพื่อไทยจะหารือกับพรรคการเมืองอื่นๆที่จะลงสมัครต่อไป

ในขณะที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ยัง "อุบไต๋"แบ่งรับแบ่งสู้ไม่พูดถึงเรื่องนี้บอกแค่เพียงว่า"สิ่งที่ถามอาจจะเป็นสเต็ปที่ยังอีกไกล"

แต่การออกมาหยั่งกระแสวัดเสียงตอบรับจากสังคมรอบนี้ แม้จะยังไม่ได้รับตอบรับจากฝ่ายต่างๆ แถมยังถูกมองว่าจะเป็นเพียงแค่การเบี่ยงประเด็นลดกระแสแรงเสียดทาน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นความพยายามสร้างทางเลือก เพื่อฟันฝ่าออกจากวิกฤตที่เป็นอยู่

ในเมื่อทางออกที่สุดขั้วทั้งสองฝั่งที่เป็นอยู่เวลานี้มีแต่จะทำให้ปัญหาที่เป็นอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข นี่จึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มต้นหันหน้าเข้าเจรจากันเพื่อร่วมหาทางออกเพราะหากปล่อยให้สภาพยังเป็นเช่นนี้ยืดเยื้อยาวนานย่อมไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย