posttoday

นักรบนิรนามปี2557

20 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่นักรบป๊อปคอร์นทำในชั้นนี้ เป็นเพียงการสกัดกั้นเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นตอบโต้

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

สถานการณ์ทางการเมืองหากเปรียบกับมวยไทยก็เข้ายกห้า ซึ่งเป็นยกสุดท้าย สองฝ่ายต่างงัดเอาทุกกลยุทธ์ทุกอย่างที่มีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่ ดูเหมือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเดินไปสู่มุมอับมากขึ้นทุกที ทั้งที่เริ่มต้นเป็นต่อทุกประการ แต่ “ความชอบธรรม” ลดหายลงไปทุกที เวลานี้รัฐบาลไม่อาจปกครองและบริหารประเทศต่อไปได้แล้ว เพราะประชาชนที่ไม่ยอมรับมีเพิ่มมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะเมื่อชาวนาออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาลถึง กทม.

ปรากฏภาพความขัดแย้งที่เห็นชัดเจนระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เสื้อแดงในปี 2553 ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำกับการชุมนุมของขบวนการประชาชนกปปส. ในปี 2557 ที่เป็นไปอย่างสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง ภายในกรอบรัฐธรรมนูญ

ด้านความรุนแรงนั้น จากข้อมูลจนถึงวันที่ 12 ก.พ. 2557 ระบุว่า นับแต่วันที่ 30 พ.ย. 2556 ที่มีการล้อมยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถึงการปะทะกันที่ผ่านฟ้าฯ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 มีทั้งหมดกว่า 60 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 685 ราย ยังพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอีกกว่า 10 ราย เหตุร้ายที่มีความรุนแรงและเกิดความสูญเสียมาก มีอาทิ เหตุการณ์ที่รามคำแหง เมื่อคืนวันที่ 30 พ.ย. 2556 มีผู้เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 64 ราย การปะทะกันรอบทำเนียบรัฐบาลระหว่างวันที่ 1-3 ธ.ค. 2556 มีผู้บาดเจ็บ 221 ราย ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ที่ดินแดง

วันที่ 26 ธ.ค. 2556 มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 160 ราย คนร้ายขว้างระเบิดใส่ประชาชนที่เดินขบวนที่ถนนบรรทัดทอง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ ประคอง ชูจันทร์ และบาดเจ็บ 40 ราย ขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 27 ราย การระดมยิง กปปส.ที่วัดศรีเอี่ยม เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2557 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ สุทิน ธราทิน และบาดเจ็บ 12 ราย ที่บริเวณสโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2557 บาดเจ็บ 5 ราย และการปะทะกันที่แยกหลักสี่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2557 มีผู้บาดเจ็บ 7 ราย เป็นต้น ส่วนเหตุการณ์ที่เหลือมีผู้บาดเจ็บไม่กี่ราย หากรวมการสลายการชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่ของตำรวจ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นตำรวจ 1 นาย และบาดเจ็บ 73 ราย

นอกเหนือจากการปะทะกันของสองฝ่ายแล้ว เหตุร้ายส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นการริเริ่มจากฝ่ายรัฐบาล จะโดยตรงหรืออ้อมก็ตาม นัยหนึ่ง เหตุร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นตำรวจน่าจะมีส่วนรู้เห็นบ้างไม่มากก็น้อย อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่า คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตำรวจไม่เคยจับคนร้ายได้แม้แต่คนเดียว แม้ว่าจะมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอหรือภาพถ่ายที่เห็นหน้าชัดเจน เช่น คนร้ายที่ขว้างระเบิดสังหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเห็นภาพชัดเจนตั้งแต่หัว ใบหน้าจนถึงเท้า แต่ตำรวจก็ยังจับคนร้ายไม่ได้

แต่ถ้าใครไปทำร้ายแกนนำเสื้อแดงหรือคนของพรรครัฐบาล เช่น ขวัญชัย ไพรพนา ปรากฏว่าตำรวจสามารถสืบสวนจับกุมคนร้ายได้ในเวลาอันรวดเร็วผิดปกติ

การข่มขู่คุกคามสิทธิเสรีภาพในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนรายล่าสุด แต่คงไม่ใช่รายสุดท้าย คือ การที่คนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงบ้านพักของประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เมื่อเช้ามืดวันที่ 14 ก.พ. แม้รัฐบาลพยายามเบนให้เป็นประเด็นความขัดแย้งทางธุรกิจ แต่หลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าน่าจะมาจากหนังโฆษณาขององค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่นเรื่อง “ลูกคนโกง” ที่โด่งดังมาก

มีเสียงวิจารณ์ว่า เวลานี้แทนที่ตำรวจจะ “พิทักษ์สันติราษฎร์” กลับไปพิทักษ์ “ทรราช” แทน เมื่อประชาชนไม่มีที่พึ่งและตกเป็นเหยื่อการคุกคามจากทรราช จึงเกิด “นักรบนิรนาม” ขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ประชาชนแทน ในปี 2553 มี “เสธ.แดง” และ “ชายชุดดำ” ที่ยิงทหารตายและบาดเจ็บไปหลายราย แต่ปี 2557 เรามี “เสธ.น้ำเงิน” และ “นักรบป๊อปคอร์น” ที่ออกมาช่วยประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่มาจากฝ่ายรัฐบาล

สิ่งที่นักรบป๊อปคอร์นทำในชั้นนี้ เป็นเพียงการสกัดกั้นเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นตอบโต้ หากตำรวจไม่ถอนกำลังกลับก็มีสิทธิเจอไม่เพียงแต่นักรบป๊อปคอร์นเท่านั้น ยังเจอ “นักรบสามสี” อีกด้วย

เหตุการณ์วันที่ 18 ก.พ. 2557 ส่วนหนึ่งมีความคล้ายคลึงกับคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 ที่คืนนั้นมี “ชายชุดดำ” เอาอาวุธสงครามยิงทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน สำหรับวันที่ 18 ก.พ.ปีนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นการ “ย้อนรอย” ปี 2553 คงได้ โดยมี “นักรบป๊อปคอร์น” ออกมา และเปลี่ยนเป้าหมายจากทหารมาเป็นตำรวจแทน

รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงไม่สร้างเงื่อนไขให้ทหารประกาศกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ ซึ่งทหารจะมีอำนาจเหนือกว่าตำรวจและรัฐบาลโดยไม่ต้องปฏิวัติ หากสององค์กรหลักคือ ทหารกับศาลได้เริ่มทำหน้าที่ อีกไม่นานก็คงรู้ว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไป