posttoday

รู้จักกับบางช่วงชีวิต"สุเทพ เทือกสุบรรณ"

17 มกราคม 2557

“ไปเป็นนักการเมืองต้องทำประโยชน์ให้กับประชาชน แต่พ่อห้ามอย่างยิ่ง ห้ามมิให้ทำอะไรระคายเบื้องพระยุคลบาทเป็นอันขาด”

โดย...วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย

เมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้รับการยกย่องจากเว็บไซด์ของเอเชียโซไซตี้ ซึ่งเป็นสถาบันร่วมมือระหว่างชาติที่มีจุดหมายในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปเอเซีย รวมไปถึงหมู่เกาะในแปซิฟิกให้เป็นบุคคลแห่งปีของเอเชีย (Asia’s person of the year 2013) พร้อมๆ กับที่ได้รับความชื่นชมศรัทธาจากมวลมหาประชาชนคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เว็บไซด์เดอะท็อปเทนดอทคอม มีผลโหวตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำยอดแย่อันดับ 1 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำยอดแย่ อันดับ 2 เหนือฮิตเล่อร์ เหนือฮุนเซ็น และคิมจองอิล

ขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่รัฐบาลรักษายิ่งลักษณ์ ชินวัตร รู้เห็นเป็นใจ ก็พากันออกทำหน้าที่เด็กเลี้ยงแกะช่วยกันปั้นน้ำเป็นตัวอย่างสนุกสนาน ใช้ความสามารถในการทำความจริงให้เป็นเท็จทำความเท็จให้เป็นจริงได้ทุกเรื่อง เพื่อใส่ร้ายป้ายสีให้ประชาชนเข้าใจผิด

เราจึงมารู้จักและสัมผัสกับชีวิตจริงของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ดูบ้าง

ตระกูล เทือกสุบรรณ นับเป็นตระกูลที่สืบเชื้อสายเก่าแก่มายาวนาน ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สืบมาแต่พระวิเศษสงครามภักดี (สม) และหลวงเทพพิทักษ์สุนทร (เดช) เจ้าเมืองท่าทอง (อำเภอกาญจนดิษฐ์ ในปัจจุบัน) นครรัฐอันรุ่งเรืองแห่งลุ่มน้ำตาปีในอดีตที่เคียงคู่มากับเมืองไชยา

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายครุฑ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากหลวงเทพพิทักษ์สุนทร (เดช) และเรียกตัวเองว่าเป็นผู้สืบสายสกุลเทพพิทักษ์ จึงไปขออำเภอตั้งนามสกุลว่า เทพพิทักษ์ แต่นายอำเภอนาสารในขณะนั้นไม่ยินยอม โดยอ้างว่าเทพพิทักษ์มีความหมายว่า มีเทพคุ้มครองอันไปเสมอกับพระมหากษัตริย์ ที่ถือว่าเป็นสมมุติเทพและมีเทพคุ้มครอง พร้อมกับบอกว่าคนรุ่นต่อไปเป็นเทือกเถาเหล่ากอของนายครุฑ จึงควรจะเริ่มต้นสกุลกันใหม่ที่ตัวนายครุฑ นายอำเภอจึงตั้งชื่อสกุลให้ใหม่ว่า “เทือกสุบรรณ” อันหมายความว่า เชื้อสายของนายครุฑ นายครุฑเป็นปู่ของกำนันจรัสซึ่งเป็นบิดาของ สุเทพ เทือกสุบรรณ

สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นบุตรชายคนโต ในจำนวนพี่น้อง 7 คน ของกำนันจรัส เทือกสุบรรณ และนางละม้าย (สกุลเดิม ส้มทับ) บุตรีคหบดีของเจ้าของสวนยางพารา ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 2492 ที่บ้านบ่อกรัง ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนวัดท่าสะท้อน แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนบ้านบ่อกรัง อันเป็นโรงเรียนที่กำนันจรัสผู้บิดาสร้างขึ้นเพื่อให้ลูกหลานชาวบ้านได้เรียนหนังสือแล้วจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนธีราศรมวิทยา และโรงเรียนประจำอำเภอบ้านนาสาร โรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อเสียงมากของสุราษฎร์ธานีในขณะนั้น

จากนั้นก็เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ในกรุงเทพ อยู่ระยะหนึ่งจึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเข้าศึกษาต่อไปในสาขารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมทำกิจกรรมนักศึกษา จนได้เป็นผู้แทนนักศึกษา เป็นกรรมการสโมสรนักศึกษา และเป็นประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากสุเทพ เทือกสุบรรณ จะสนใจในกิจกรรมนักศึกษาที่ทำประโยชน์ให้กับส่วนร่วมแล้ว จากพื้นฐานทางครอบครัวที่มาจากชาวสวนยาง สวนผลไม้ ทำไร่ ทำนา ทำการเกษตร แม้ความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวจะเกิดมาจากมรดกตกทอดของบรรพบุรุษมายาวนาน และการสัมปทานส่งฟืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทยของกำนันจรัสผู้บิดาก็ตาม แต่สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มีความสนใจอยู่ลึกๆ เมื่อได้รับทราบข่าวคราวเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริและโครงการหลวงต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสนับสนุนให้ชาวไทยภูเขาเลิกปลูกฝิ่นหันไปปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวแทน ว่าจะมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้โครงการต่างๆ นี้ได้อย่างไร แล้วในที่สุดสุเทพ เทือกสุบรรณ และเพื่อนนักศึกษากลุ่มหนึ่งก็ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้การดำเนินการของโครงการหลวงด้วยพระเมตตาของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี

จากนั้นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงใช้เวลาในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันที่ว่างเว้นจากการเรียนตามเสด็จ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ไปศึกษาดูงานและทำงานช่วยเหลือชาวไทยภูเขาในโครงการหลวงในทุกที่ ด้วยความเอาใจใส่และตื่นตาตื่นใจและคาดไม่ถึงว่าโครงการพระราชดำริและโครงการหลวงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะสามารถพลิกฟื้นผืนแผ่นดินตามหุบเขาที่เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น ให้กลายเป็นพื้นแผ่นดินแห่งการเกษตรที่สูงที่นำรายได้มาให้กับชาวไทยภูเขาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้ชาวไทยภูเขามีโอกาสได้พัฒนาตนเองได้รับการศึกษา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะมีความอยู่ดีกินดีอย่างเห็นได้ชัด

จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปศึกษาคลุกคลีการดำเนินงานของโครงการหลวงมในทุกซอกทุกมุนทำให้สุเทพ เทือกสุบรรณ เห็นคุณค่าและประโยชน์ของโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2529 และ 2535 สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการพระราชดำริและโครงการหลวงเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเต็มที่

หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ถูกชักชวนให้ทำงานเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองนักศึกษาอยู่หนึ่งปี จึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททางทฤษฎีการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยมิดเดิ้ลเทนเนสซีสเตทยูนิเวอร์ซิตี้ มลรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ขณะที่ศึกษาอยู่ก็ได้ออกไปทำงานเพื่อหารายได้มาแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วย ทั้งทำงานร้านอาหาร ทำงานในโกดังเก็บรองเท้า ทำงานในโรงงานผลิตภัณฑ์แซมโซไนท์ โรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ โจนล็อคเกอร์ ทำงานไปเรียนหนังสือไปจนสำเร็จการศึกษา

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยในปี 2519 ตั้งใจจะสมัครผู้แทนราษฎร แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจอยากเป็นกำนันเหมือนพ่อ อยากคลุกคลีกับชาวบ้านสักพัก กำนันจรัสจึงลาออกเปิดทางให้ลูกชายลงสมัคร สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงได้รับเลือกให้เป็นกำนันด้วยอายุเพียง 25 ปี และเป็นกำนันคนแรกของประเทศไทยที่จบปริญญาโทมาจากต่างประเทศ การเป็นกำนันในวัยหนุ่มประกอบกับความขยันขันแข็งอันเป็นบุคลิกเฉพาะตัว ทำให้ต้องทำงานหลายอย่าง ทั้งปราบรามโจรผู้ร้าย ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา การสาธารณสุข สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ตลอดจนโรงเรียน วัดวาอารามต้องดูแลหมด ด้วยความเป็นคนหนุ่มมีหัวก้าวหน้าก็ได้ชักชวนราษฎรจัดตั้งสหกรณ์รวมกลุ่มกันขายยาง เมื่อมีกำไรก็เอาเงินไปสร้างโรงเรียน จ้างครูหาอาสาสมัครมาสอนเด็ก โดยมีกำนันสุเทพเป็นอาจารย์ใหญ่สอนเด็กชั้น ม.ศ.3 ด้วยเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านอย่างยิ่ง

แม้การทำงานในหน้าที่ของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ จะทำอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา แต่ในห้วงเวลานั้นพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เข้าไปเผยแพร่อุดมการณ์อย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่ตำบลของกำนันสุเทพเป็นเหตุให้ถูกเพ็งเล็งและถูกควบคุมตัวไปสอบสวนหลายครั้ง เพราะเห็นมีการตั้งสหกรณ์และตั้งโรงเรียน เคราะห์ดีมีชาวบ้านเป็นเกราะกำบัง เมื่อกำนันถูกจับก็แห่ตามกันไปเป็นร้อยๆ ร้องห่มร้องไห้กันระงมกลัวทางการจะเอากำนันไปฆ่า แต่กำนันก็ถูกปล่อยตัวกลับทุกที ระหว่างที่เป็นกำนันนอกจากจะทุ่มเททำงานให้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงจังแล้ว กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังได้เริ่มประกอบอาชีพส่วนตัวทำการเกษตร ทำฟาร์ม เลี้ยงวัวเนื้อส่งไปขายที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และได้เป็นผู้รับเหมาสร้างถนนสายเอเชียไปทางใต้ด้วย ทำให้มีรายได้สามารถซื้อที่ดินทำฟาร์มขยายกิจการค้าขายกว้างขวางออกไปอีก

สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้แต่งงานกับสาวงามเพื่อนนักศึกษาที่พบกันในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อ จุฑาภรณ์ ครองบุญ มีบุตร-ธิดา 3 คน คือ แทน เทือกสุบรรณ น้ำตาลและน้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ

สุเทพ เทือกสุบรรณ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในนามพรรคประชาธิปัตย์เป็นครั้งแรก จากการชักชวนของ ชวน หลีกภัย และบัญญัติ บรรทัดฐาน เมื่อปี 2522 ได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่บัดนั้น มาจนถึงวันนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เป็นผู้แทนราษฎรติดต่อกันมาเกือบ 10 สมัย เป็นเวลากว่า 30 ปี

เมื่อจากบ้านมาเป็นผู้แทนราษฎร สุเทพ เทือกสุบรรณ ยังจดจำคำสอนของพ่อไว้อย่างแม่นยำตลอดมาว่า “ไปเป็นนักการเมืองต้องทำประโยชน์ให้กับประชาชน เรื่องอื่นไม่ต้องกลัวใคร จะสู้รบตบมือกับใครได้ทั้งนั้น แต่พ่อห้ามอย่างยิ่ง ห้ามมิให้ทำอะไรระคายเบื้องพระยุคลบาทเป็นอันขาด”

การเป็นนักการเมืองในสนามใหญ่ แม้จะต้องเสียสละตนเองให้กับการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนมากมายเพียงไร แต่เมื่อจุฑากรณ์ภรรยาล้มเจ็บลงด้วยโรคมะเร็ง สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ทุ่มเทเอาใจใส่ดูแลรักษาภรรยาอย่างใกล้ชิดจนวาระสุดท้าย

สุเทพ เทือกสุบรรณ กลายเป็นหม้ายเรือพ่วงในวัยเพียง 40 ต้นๆ จนพรหมลิขิตให้มาพบกับหม้ายสาวเรือพ่วงผู้งดงามที่ถูกตาต้องใจคนใหม่ชื่อ ศรีสกุล พร้อมพันธุ์ ทั้งคู่จึงตัดสินใจร่วมชีวิตกันและต่างฝ่ายต่างก็ช่วยกันเลี้ยงดูลูกฉันลูกเธอให้เติบโตมาอย่างอบอุ่น เติมเต็มความรักความเอาใจใส่ให้กันและกันอย่างเต็มที่ จนเด็กๆ ที่เป็นลูกของสุเทพ และลูกของศรีสกุล ต่างก็เติบโตสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีและมีชื่อเสียงของต่างประเทศด้วยกันทุกคน

เมื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ หัวหน้าครอบครัว ยอมสละชีวิตและอนาคตทางการเมืองทุกสิ่งทุกอย่างตัดสินใจออกมานำมวลมหาประชาชนเข้าต่อสู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยขจัดความเลวร้ายที่ทำลายจริยธรรมคุณธรรมทางสังคม และการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่ไร้จิตสำนึกให้หมดสิ้นไป ภาพของภรรยาและลูกๆ ทุกคนที่พร้อมใจกันแสดงความสามัคคีอย่างเหนียวแน่นออกมาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่ออย่างไม่เกรงกลัวสิ่งใด

จึงน่าจะเป็นความชื่นใจและเป็นกำลังใจให้มวลมหาชนคนรักชาติรักแผ่นดินทั้งหลาย ออกมาร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวช่วยกันต่อสู้ให้ได้ชัยชนะเพื่อชาติบ้านเมืองของเรา ไม่ควรจะเป็นไทยเฉยรอชัยชนะจากความเหนื่อยยากของผู้อื่นอีกต่อไป