posttoday

พรรคเล็กหวั่นไม่มีเลือกตั้ง

03 มกราคม 2557

ต้องจับตาดูมติกกต. 3ม.ค. ขยายเวลา-ย้ายสถานที่รับสมัคร ส.ส. เยียวยาผู้ที่ประสงค์เข้ารับการเลือกตั้งอย่างไร

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ตัดสินว่าจะขยายการรับสมัคร สส.เขต ใน 8 จังหวัดภาคใต้รวม 28 เขตเลือกตั้ง ที่ยังติดปัญหาเปิดรับสมัครไม่ได้ โดยให้สำนักงาน กกต.รวบรวมข้อเท็จจริงทางกฎหมายส่งให้ กกต.พิจารณาอีกครั้งในวันนี้

ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงาน กกต. แถลงว่า การประชุม กกต.วันนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปแน่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป ส่วนตัวเห็นว่า การจะขยายเวลารับสมัครไม่น่าจะทำได้แล้ว และที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้ กกต.เปิดรับสมัคร สส.8 จังหวัดภาคใต้ในพื้นที่ส่วนกลางนั้น ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ระบุชัดว่าผู้ที่จะสมัครต้องยื่นสมัครต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งที่เขตเลือกตั้ง ดังนั้น จะมายื่นส่วนกลางคงไม่ได้ อีกทั้งก็ไม่เคยมีมาก่อน

แหล่งข่าวจาก กกต. แจ้งว่า ทางสำนักงานมีข้อเสนอ 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 กกต. ไม่สามารถเปิดรับสมัครเพิ่มเติม หรือขยายวันรับสมัครได้โดยเป็นการยึดกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะได้เปิดการรับสมัครครบทั้ง 5 วันและมีการปิดรับสมัครไปแล้ว หากดำเนินการจะกระทบต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่ได้วางไว้ เช่น ต้องขยายเวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ตามแผนงานแล้วภายในวันที่ 11 ม.ค. แนวทางนี้ แม้ กกต. จะยังเผชิญกับการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ก็จะเจ็บตัวน้อยที่สุดเพราะถือว่าได้ตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด

แนวทางที่ 2 เปิดรับสมัครเพิ่มเติม โดยตีความว่ามาตรา 7 ของ พ.ร.บ. เลือกตั้ง สส. เปิดช่องไว้ว่าการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน ดังนั้น กกต. สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ประกอบมาตรา 5 ของระเบียบการเลือกตั้ง สส. ที่ให้ กกต. ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็น เปิดรับสมัครเพิ่มเติมได้จาก 5 วันดังกล่าว โดยอาจจะเปิดเพิ่ม 23 วัน จากนั้นให้ ผอ.กกต. เขต ประกาศกำหนดสถานที่รับสมัครใหม่ แต่ก็จะทำให้ กกต. เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนให้ทำได้

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. จะไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกได้ ทำให้เลือกประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีไม่ได้ด้วย เนื่องจากปัญหาสองประเด็น คือ มี สส.ระบบเขต ขาดไป 28 คน ซึ่งตามเกณฑ์รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ต้องมี สส.จำนวนเกินกว่า 95% หรือ 475 คน ขึ้นไป ถึงจะเรียกประชุมได้ นอกจากนี้ จะเกิดปัญหาการลงคะแนนเลือก สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในเขตที่ไม่มีผู้สมัคร สส.เขต ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถนับคะแนน สส. บัญชีรายชื่อ 125 คน ได้อีกเช่นกัน

“เท่ากับว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ จะเป็นการเดินหน้าไปสู่ความว่างเปล่า ซึ่งผู้ปลดชนวนปัญหาได้คือ กกต.และรัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่การที่รัฐบาลไม่สนองตอบการเลื่อนการเลือกตั้งอาจเป็นเพราะมีผลประโยชน์เฉพาะ เพราะรัฐบาลนี้ก็รักษาการต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร” จุรินทร์ กล่าว

สำหรับความเห็นของพรรคการเมืองบางส่วนที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 มองว่า อาจไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า แม้ว่าพรรคจะส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อครบทั้ง 125 คน ส่วนระบบแบ่งเขตเลือกตั้งส่ง 248 คน แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้สมัครไม่ครบทุกเขต ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันที่กำหนดได้ และไม่สามารถประกาศผลได้เกิน 95% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด พรรคจึงเรียกร้อง กกต.ให้ปรึกษาผู้เกี่ยวข้อง พรรคการเมือง เพื่อพิจารณาหาทางออกแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ประแสง มงคลศิริ ประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชาธิปไตย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะถูกเลื่อนออกไป เพราะ กกต.กำลังทำซูเปอร์ดีล คุยเฉพาะสองพรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ให้เลื่อนการเลื่อนตั้งออกไป โดยไม่สนใจพรรคเล็กพรรคน้อยอีกกว่า 50 พรรค ซึ่งการที่รับสมัครไม่ได้อีก 28 เขต เป็นหน้าที่ที่ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ มากกว่าที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

พ.ต.อ.กานต์ เทียนแก้ว หัวหน้าพรรคเงินเดือนประชาชน เชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.แน่ เพราะรัฐบาลต้องทำตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมาแล้ว ส่วนตัวอยากขอโอกาสจากผู้ชุมนุมเพื่อให้การเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี และเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมปฏิรูปประเทศไทยโดยมีบทบาทเทียบเท่าพรรคการเมือง

ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคยังรอคำตอบจาก กกต.ว่ายังยืนยันจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. อยู่หรือไม่ ซึ่งไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร พรรคพร้อมที่จะปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไป กกต.ต้องมีคำตอบให้กับพรรคการเมืองที่ต้องการลงเลือกตั้งให้ชัดเช่นกัน