posttoday

นิรโทษกรรม:สินค้าย้อมแมวที่สังคมไม่ต้องการ

19 พฤศจิกายน 2556

โดย...ดร.ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

โดย...ดร.ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ในปี ค.ศ. 1970 จอร์จ อาเคอลอฟ (George Akerlof) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 2001 ได้เขียนบทความเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายรถยนต์มือสอง* สาระสำคัญของผลงานชิ้นนี้อยู่ที่การวิเคราะห์พฤติกรรมของเซลส์ขายรถยนต์มือสอง โดยเซลส์ขายรถยนต์มือสองย่อมทราบดีว่ารถยนต์มือสองของเขามีคุณภาพอย่างไร ในขณะที่ลูกค้าของเขาไม่ทราบคุณภาพของรถยนต์จนกว่าจะได้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวไปใช้ ในสถานการณ์เช่นนี้ เซลส์มีทางเลือกที่จะให้ข้อมูลคุณภาพที่แท้จริงของรถยนต์ หรือให้ข้อมูลคุณภาพที่เกินจริงของรถยนต์กับลูกค้า ถ้าเซลส์บอกข้อมูลคุณภาพรถยนต์ที่แท้จริงกับลูกค้า เขาก็รู้ดีว่าจะขายรถยนต์ได้ในราคาที่ต่ำกว่ากรณีที่เขาให้ข้อมูลคุณภาพรถยนต์ที่เกินจริง เซลส์ที่มองแต่ประโยชน์ของตัวเองจะเลือกการให้ข้อมูลคุณภาพรถยนต์ที่เกินจริง ซึ่งก็คือการหลอกลูกค้าโดยนำเอารถยนต์ย้อมแมวมาขายนั่นเอง

การบิดเบือนข้อเท็จจริงของคุณภาพรถยนต์ทำให้ราคารถยนต์คุณภาพต่ำ มีราคาสูงเท่ากับรถยนต์คุณภาพดี ลูกค้าจะทราบว่าถูกเซลส์หลอกขายรถยนต์ย้อมแมวก็ต่อเมื่อเขาได้นำรถยนต์ย้อมแมวไปใช้ เมื่อพฤติกรรมหลอกลวงของเซลส์เป็นที่ประจักษ์ในสังคม ลูกค้าก็เริ่มมีความระแวงว่า รถยนต์ที่ซื้ออาจจะเป็นรถยนต์ย้อมแมวก็ได้ ผลกระทบก็คือราคารถยนต์ในตลาดจะลดลง ซึ่งจะทำให้|ราคารถยนต์ที่มีคุณภาพดีลดลงไปด้วย จนเซลส์ที่ขายรถยนต์คุณภาพดีไม่มีแรงจูงใจที่จะขายรถยนต์คุณภาพดีอีกต่อไป เพราะไม่ได้ราคาตามสภาพรถยนต์ ในที่สุดเซลส์ขายรถยนต์ที่มีคุณภาพดีก็จะลดคุณภาพของรถยนต์ จนตลาดรถยนต์มือสองมีแต่รถยนต์คุณภาพต่ำ

พฤติกรรมการหลอกลวงของเซลส์ขายรถยนต์ทำให้สังคมเสียประโยชน์ในระยะยาว เพราะทำให้สังคมไม่มีรถยนต์มือสองที่มีคุณภาพดีอีกต่อไป สังคมจึงมีความจำเป็นที่จะพิจารณามาตรการแก้ไขพฤติกรรมการขายสินค้าย้อมแมวที่ไม่พึงประสงค์ มาตรการที่เลือกใช้จะต้องเอื้ออำนวยให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพรถยนต์ได้ และมีบทลงโทษเซลส์ที่มีพฤติกรรมขายสินค้าย้อมแมวให้กับผู้บริโภคอย่างเข้มงวด

ผู้เขียนมีความเห็นว่า พฤติกรรมการขายสินค้าย้อมแมวในบทความของอาเคอลอฟมีลักษณะคล้ายคลึงกับการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในรัฐสภา โดย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สังคมยอมรับได้ก็คือการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มาร่วมการชุมนุมอย่างสงบ และไม่ได้มีส่วนในการทำผิดกฎหมายอาญา เช่น การทำลายทรัพย์สิน การทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวเป็น พ.ร.บ.ที่สังคมอยากได้ เปรียบเทียบได้กับคุณภาพของรถยนต์ที่ลูกค้าคาดหวัง ตามข้อมูลที่ได้รับจากเซลส์ขายรถยนต์

เมื่อรัฐสภามีหน้าที่พิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามระบอบประชาธิปไตย สังคมก็คาดหวังว่าจะได้เห็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่สังคมยอมรับได้ รัฐสภาจึงเปรียบได้กับเซลส์ขายรถยนต์ที่ลูกค้าคาดหวังว่าจะได้รถยนต์ตามข้อมูลที่ได้รับ แต่ในข้อเท็จจริง กลับมี สส.ในรัฐสภาบางกลุ่มได้ใช้ระบบเสียงข้างมาก ย้อมแมว พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่สังคมยอมรับได้ เป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบยกเข่ง ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมความผิดในทุกรูปแบบ พฤติกรรมของ สส.กลุ่มนี้เปรียบได้กับเซลส์ขายรถยนต์ที่นำรถยนต์คุณภาพไม่ดีมาหลอกขายเป็นรถยนต์คุณภาพดีเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

เมื่อกระบวนการรัฐสภาใช้ระบบเสียงข้างมากออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมวมาหลอกสังคม “ผู้นำสังคม” ที่ทราบผลเสียของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมว ก็ได้หามาตรการที่จะทำแท้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมว เพื่อปิดโอกาสไม่ให้ พ.ร.บ.นี้ออกมาสู่สังคมได้อีก ในทำนองเดียวกันกับการหามาตรการแก้ไขพฤติกรรมของเซลส์ที่ขายรถยนต์ย้อมแมวที่เอื้ออำนวยให้ผู้บริโภคได้รับทราบคุณภาพที่แท้จริงของรถยนต์ “ผู้นำสังคม” ก็ได้หามาตรการที่จะทำให้สังคมได้รับทราบสาระที่แท้จริงของ พ.ร.บ.ย้อมแมวว่าแตกต่างไปจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สังคมยอมรับได้ และมีผลเสียต่อสังคมส่วนรวมในอนาคตอย่างไร

มาตรการที่ “ผู้นำสังคม” ใช้ในการให้ข้อมูลที่แท้จริงต่อประชาชนก็คือ การจัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมวอย่างสงบ โดยมี “ผู้รู้” จากทุกภาคส่วน เป็นผู้วิเคราะห์และให้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมวต่อผู้มาชุมนุม ผู้เขียนมีความเห็นว่า การให้ข้อมูลที่แท้จริงในการชุมนุมอย่างสงบเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำแท้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมว และมีความเหมาะสมกว่าการทำแท้ง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยมาตรการอื่น เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่สังคมปัจจุบันไม่ยอมรับ

จำนวนประชาชนที่เพิ่มขึ้นในกระบวนการร่วมประท้วงอย่างสงบจะทำให้สังคมได้รับข้อมูลที่แท้จริงของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมวมากขึ้น และในขณะเดียวกันจำนวนประชาชนที่เพิ่มขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของสังคมในระบอบประชาธิปไตยว่า ไม่ต้องการเห็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมย้อมแมวอีก เช่นเดียวกับการที่ลูกค้ารถยนต์ไม่ต้องการเห็นรถยนต์ย้อมแมวในตลาดรถยนต์อีก ขั้นตอนต่อไปที่สังคมต้องช่วยกันพิจารณาก็คือ เราจะมีมาตรการไม่ให้เกิดสินค้าย้อมแมวอีก และจะให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการย้อมแมวต้องรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร