posttoday

กางตำราชุมนุมอันตรายจากการรวมตัว

14 พฤศจิกายน 2556

แม้ว่าท่าทีการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขณะนี้ยังไม่ปรากฏสัญญาณความรุนแรง แต่เพื่อความรอบคอบ เครือข่ายสันติวิธี

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

แม้ว่าท่าทีการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขณะนี้ยังไม่ปรากฏสัญญาณความรุนแรง แต่เพื่อความรอบคอบ เครือข่ายสันติวิธี จึงออกข้อแนะนำและการเตรียมพร้อมสำหรับการชุมนุม

1.การเตรียมตัวก่อนไปชุมนุม ให้ผู้ชุมนุมศึกษาพื้นที่และเส้นทางสัญจรอย่างละเอียด เพื่อเตรียมทางหนีทีไล่หากเกิดเหตุชุลมุน และให้เตรียมอุปกรณ์สื่อสารรวมถึงข้อมูลญาติหรือผู้ติดต่อได้ในยามฉุกเฉินติดตัวไว้ นอกจากนี้ ควรแจ้งครอบครัวให้ทราบว่าไปพื้นที่ใด และควรเตรียมใส่เครื่องแต่งกายที่จำเป็น อาทิ หมวกกันแดด แว่นตาว่ายน้ำกันแก๊สน้ำตา

2.การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในพื้นที่ชุมนุม เริ่มจากการสังเกตทางหนีทีไล่เป็นลำดับแรก จากนั้นให้เดินสำรวจตำแหน่งของเต็นท์พยาบาล ห้องน้ำ แหล่งน้ำสะอาด และจุดตั้งของหน่วยรักษาความปลอดภัย ขณะเดียวกัน ควรใช้อุปกรณ์สื่อสารติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสามารถประเมินสถานการณ์ หากมีข่าวลืออย่าเพิ่งเชื่อโดยทันที และไม่ควรตอบโต้เมื่อถูกผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามยั่วยุ แต่ให้เลือกแจ้งหน่วยรักษาความปลอดภัยแทน

3.หากเกิดเหตุปะทะ ถ้าตัดสินใจว่าพร้อมจะอยู่ในพื้นที่ปะทะ ให้จัดกระเป๋าพร้อมเผชิญหน้ากับการเข้าควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยแบ่งออกเป็น การใช้โล่และกระบองผลักดัน ควรหาหมวกกันน็อกเพื่อป้องกันศีรษะ และใช้ท่อนแขนป้องกันส่วนที่บอบบางของร่างกาย เช่น ชายโครง หน้าอก การใช้น้ำฉีดไล่ฝูงชน ซึ่งน้ำดังกล่าวจะมีแรงดันสูงมาก หากถูกฉีดตรงๆ จะได้รับบาดเจ็บสาหัส ขอให้หลบและป้องกันส่วนของดวงตาและอวัยวะบอบบางเป็นหลัก

การใช้แก๊สน้ำตา ให้ตั้งสติและดูทิศทางลมโดยหยิบทรายหรือฝุ่นขึ้นมาแล้วโปรยทิ้งดูว่าพัดไปทางไหน ต้องอยู่เหนือลม ใช้แว่นว่ายน้ำป้องกันการแสบตา ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำปิดปากและจมูก กลั้นหายใจและวิ่งหนี ข้อห้ามคือ ห้ามขยี้ตา หากแก๊สถูกผิวหนังห้ามเกา ห้ามใช้ครีมทา ถ้าเสื้อผ้าโดนแก๊สให้ถอดออกแล้วสะบัด

นอกจากการเตรียมพร้อมข้างต้นแล้ว ยังมีคำเตือนถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกันบริเวณ “สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส” และ “สะพานลอย”

ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า โครงสร้างของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสมีความแข็งแกร่งพอที่จะรองรับคนจำนวนมาก แต่ที่กังวลมีด้วยกัน 3 จุด ประกอบด้วย 1.ทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า (Sky Walk) เพราะทางเดินดังกล่าวรับแรงได้น้อยกว่าโครงสร้างสถานี ที่สำคัญทางเดินเหล่านั้นถูกออกแบบให้รองรับการเคลื่อนไหวของคนตลอดเวลา กล่าวคือคำนวณแรงจากการเดินไปมา ไม่ใช่การยืนเบียดเสียดอย่างนิ่งๆ บนพื้นที่เป็นเวลานาน

2.พนังหรือราวกั้นกันตก ซึ่งไม่สามารถรับแรงดันหรือแรงผลักได้ หากคนยืนอัดกันแน่นก็จะเกิดแรงดัน แน่นอนว่าสามารถพังครืนลงมาได้ง่ายๆ

3.บันไดเลื่อน ซึ่งจะดันคนเข้าไปเติมเพิ่มเรื่อยๆ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงดันให้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช่เฉพาะสะพานลอย สถานีรถไฟฟ้า แต่เป็นทุกพื้นที่ที่มีการเบียดเสียดของมวลชนเกินความพอดี