posttoday

คำพิพากษาศาลโลกคดีการตีความคำพิพากษาเรื่องปราสาทพระวิหารเมื่อปี2505

13 พฤศจิกายน 2556

โดย  ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อุปนายกราชบัณฑิตยสถานคนที่ 1 

โดย  ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อุปนายกราชบัณฑิตยสถานคนที่ 1 

ก่อนหน้านี้ผมได้คาดคะเนแนวทางของศาลโลกว่าอาจตัดสินใจใน 3 แนวทาง คือ

1.ศาลไม่รับตีความคำพิพากษาปี 2505 แปลว่ากัมพูชาแพ้ แต่เป็นไปได้ยาก

2.ศาลรับตีความ แล้วตัดสินให้ตามที่กัมพูชาอ้างว่าเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็น "บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร" ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก

3.ศาลตีความแบบตุลาธิปไตย (Judicial Activism) คือรับคำร้องกัมพูชาและตัดสินตามใจศาลเหมือนกับที่เคยตัดสินในคดีขอมาตรการชั่วคราวขีดเส้นกำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราวตามที่ศาลเห็นสมควร และผมสรุปว่า "ทางที่สามนี้แม้จะดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นหากศาลให้หลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อดูแนวโน้มจากการออกมาตรการชั่วคราวในคดีนี้แล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าศาลจะ "ไปให้สุดซอยก็ได้!"

11 พ.ย. 2556 คำพิพากษาออกมาแล้วปรากฏว่าผมคาดคะเนไม่ไกลจากคำตัดสินนัก!

ผู้พิพากษาทั้ง 17 คน ตัดสินไว้ในบทปฏิบัติการ (Operative Clause) ดังนี้

"ศาล(1) โดยมติเอกฉันท์ พบว่าศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาคำร้องขอตีความคำพิพากษาศาลในปี2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และคำร้องนี้รับไว้พิจารณาได้

(2) โดยมติเอกฉันท์ประกาศโดยการตีความว่าคำพิพากษาศาลในปี 2505 ได้ตัดสินใจว่ากัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร (Cambodia has sovereignty over the whole territory of promontory of Preah Vihear) ตามที่ระบุไว้ในย่อหน้า 98 ของคำพิพากษานี้ และด้วยเหตุนี้ประเทศไทยได้ตกอยู่ภายใต้พันธกรณีที่จะต้องถอนทหารไทย กำลังตำรวจ รปภ.หรือผู้รักษาซึ่งเคยตั้งอยู่บนดินแดนนั้น"

เป็นอันว่า 2 ประเด็นหลักๆ ที่ศาลตัดสิน มีดังนี้ครับ
1.ศาลมีอำนาจตีความคำพิพากษาหรือไม่ตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาล

1.1 ข้อพิพาทดังกล่าวมีอยู่จริงตั้งแต่ปี 2505 เรื่อยมาจนถึงการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก กล่าวคือ ในปี 2505 ไทยกำหนดขอบเขตของ "บริเวณใกล้เคียงปราสาท" ฝ่ายเดียวคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดพื้นที่ที่เป็นขอบเขตบริเวณดังกล่าว โดยล้อมรั้วลวดหนามและติดป้ายว่า "บริเวณใกล้เคียงของปราสาทพระวิหารไม่ไกลเกินกว่านี้" ซึ่งกัมพูชาไม่ยอมรับว่าไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และได้ประท้วง การถกเถียงกันนี้ยังมาปรากฏอีกครั้งหนึ่งเมื่อกัมพูชายื่นคำขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี2550-2551 ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าในขณะยื่นคำร้องขอตีความนี้ มีพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาแล้ว

1.2 เนื้อหาสาระของข้อพิพาทศาลเห็นว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตคำพิพากษามีเนื้อหาสาระ 3 ประการ คือ

ประการแรก คำพิพากษาปี 2505 ได้ตัดสินหรือไม่ว่าเส้นที่ปรากฏบนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเขตแดนระหว่างสองประเทศในบริเวณปราสาท

ประการที่สอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "บริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนกัมพูชา" ซึ่งอยู่ในบทปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาปี 2505

ประการที่สาม ข้อพิพาทเกี่ยวกับลักษณะของพันธกรณีที่ต้องถอนทหารของไทย ว่าเป็นไปครั้งเดียวทันที (Instantaneous) อย่างที่ไทยอ้าง หรือเป็นพันธกรณีถาวรต่อเนื่อง(Continuing Obligation) อย่างที่กัมพูชาอ้าง

ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่ศาลจะต้องตีความบทปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาปี2505 และผลทางกฎหมายของเส้นบนแผนที่ภาค

ผนวก 1 คำร้องของกัมพูชาจึงฟังขึ้น ศาลจึงมีเขตอำนาจเหนือคดีขอตีความนี้ตามธรรมนูญศาลมาตรา 60

คำพิพากษาศาลโลกคดีการตีความคำพิพากษาเรื่องปราสาทพระวิหารเมื่อปี2505

 

2.การตีความคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินเมื่อปี2505

ศาลวางหลักว่า ในคดีขอตีความนั้น ศาลจะต้องอยู่ในขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 อย่างเคร่งครัด และไปตั้งคำถามต่อคำตัดสินในปี 2505 หรือจะไปตอบคำถามที่ศาลไม่ได้ตัดสินในปี 2505 ไม่ได้เป็นอันขาด แต่เพื่อประโยชน์ในการตีความบทปฏิบัติการ โดยทางปฏิบัติที่ผ่านมา ศาลอาจต้องดูการให้เหตุผลในคำพิพากษาปี 2505 ประกอบถ้าเหตุผลนั้นจะทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นกับการตีความบทปฏิบัติการ

2.1 จุดสำคัญของคำพิพากษาปี 2505 ศาลอธิบายว่า จากการพิจารณาคำพิพากษาปี 2505 นั้น

ประการแรก ข้อพิพาทในปี 2505 เป็นเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนที่ปราสาทตั้งอยู่ ไม่ใช่ข้อพิพาทเพื่อกำหนดเขตแดนดังนั้น ศาลจึงไม่ได้พูดถึงแผนที่ภาคผนวก 1 หรือเขตแดนในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ปี 2505 เลยแม้แต่น้อย

ประการที่สอง ศาลยอมรับว่าแผนที่ภาคผนวก 1 มีบทบาทสำคัญในการให้เหตุผลของศาล เพราะเมื่อศาลเห็นว่าคู่กรณียอมรับแผนที่ แผนที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา และเมื่อต้องตีความสนธิสัญญาก็ต้องให้ความสำคัญกับเส้นดังกล่าวในบริเวณพิพาท และ

ประการที่สาม ศาลได้แสดงให้เห็นว่าในคำพิพากษานั้น ศาลให้ความสนใจเฉพาะอธิปไตยในพื้นที่พระวิหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คำพิพากษาในปี2505 พิจารณาว่าบริเวณพิพาทนั้น มีขนาดเล็ก

2.2 การตีความบทปฏิบัติการ 3 ย่อหน้าของคำพิพากษา ปี 2505

ก. บทปฏิบัติการแรก ที่ศาลตัดสินว่า"ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา" นั้น ศาลเห็นว่ามีความหมายชัดเจนและบทปฏิบัติการที่ 2 ที่สั่งให้ไทยถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงก็ดี บทปฏิบัติการที่ 3 ที่สั่งให้ไทยคืนของทั้งหลายที่นำไปจากปราสาทก็ดี เป็นผลมาจากคำพิพากษาบทปฏิบัติการแรก การตีความจึงต้องตีความทั้ง 3 บทปฏิบัติการไปด้วยกันทั้งหมด ไม่สามารถเลือกตีความเฉพาะคำบางคำ หรือประโยคบางประโยค

ข. บทปฏิบัติการที่ 2 ซึ่งศาลพิพากษาว่าไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนทหาร ถอนกำลังตำรวจรปภ.หรือผู้เฝ้ารักษาที่อยู่ ณ ปราสาท และบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชานั้น ศาลในเวลานั้นไม่ได้ระบุบริเวณที่เป็นดินแดนกัมพูชาที่ต้องให้ไทยถอนกำลังออกไป ดังนั้น ศาลนี้จึงต้องมาดูว่าตามพยานหลักฐานในปี 2505 นั้น กองกำลังของไทยตั้งอยู่ ณ ส่วนใด

ศาลโลกในคดีนี้ได้พบพยานหลักฐานชิ้นเดียวที่ศ.อัคเคอร์มานน์ ซึ่งฝ่ายไทยอ้างเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ไปตรวจบริเวณปราสาทเป็นเวลาหลายวันในเดือน ก.ค. 2504 พบตำรวจตระเวนชายแดนหมู่หนึ่ง และผู้รักษาปราสาทไทย 1 คน โดยตำรวจอยู่ในแคมป์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท และผู้รักษาปราสาทอยู่ในบ้านที่อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของแคมป์ตำรวจเล็กน้อย และที่ปรึกษากฎหมายทางฝ่ายไทยก็ยอมรับว่าแคมป์ตำรวจอยู่ทางใต้ของเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 แต่อยู่ทางเหนือของเส้นซึ่งกัมพูชาอ้างว่าเป็นสันปันน้ำ

เมื่อศาลพิพากษาให้ถอนทหารกองกำลังตำรวจ รปภ.หรือผู้รักษาปราสาทไปจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียง จึงต้องเข้าใจว่าคำพิพากษานั้นเจาะจงให้ถอนตำรวจที่ ศ.อัคเคอร์มานน์ พบดังนั้นคำว่า "บริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา"ในบทปฏิบัติการวรรค 2 อย่างน้อยต้องตีความให้คลุมไปถึงบริเวณที่ตำรวจไทยตั้งอยู่ในคดีเดิม เมื่อปี 2505 และเมื่อที่ตั้งตำรวจอยู่ทางทิศเหนือของเส้นที่คณะรัฐมนตรีไทยมีมติให้กำหนด เส้นทางกำหนดขึ้นนั้น จึงไม่ใช่การตีความที่ถูกต้องของ"บริเวณใกล้เคียง" ที่ไทยอ้าง

ศาลตัดสินต่อไปว่า มีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ศาลมั่นใจบริเวณใกล้เคียงปราสาทไม่ใช่ตามที่ไทยอ้าง กล่าวคือ ปราสาทพระวิหารอยู่บนภูมิประเทศที่ชัดเจน คือ อยู่บนยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร (Promontory)ทางทิศตะวันออก ทางทิศใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ ยอดแหลมนั้น ตัดเป็นหน้าผาลงไปยังที่ราบฝั่งกัมพูชา ทางทิศตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือพื้นดินลาดชันอย่างเห็นได้ชัดลงไปสู่สิ่งที่ ศ.อัคเคอร์มานน์ เรียกว่า "หุบเขา (Valley) ระหว่างเขาภูมะเขือ(Pnom Trap Mountain) และเขาพระวิหาร" และหุบเขาที่แยกระหว่างเขาภูมะเขือ และเขาพระวิหารนี้เอง จะเทลาดลงไปทางทิศใต้สู่ที่ราบกัมพูชา และถ้าจะขึ้นไปยังปราสาทพระวิหารจากกัมพูชา ก็ต้องขึ้นทางหุบเขานี้เอง ดังนั้น จึงต้องเข้าใจว่า "บริเวณใกล้เคียงของปราสาท" ต้องขยายไปจนถึงยอดแหลมของเขาพระวิหารนี้ทั้งหมดส่วนทางทิศเหนือนั้น ยอดแหลมของเขาพระวิหารนี้อยู่ ณ เส้นที่อยู่บนแผนที่ภาคผนวก 1 ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่ายอดแหลมที่อยู่ภายในสภาพภูมิศาสตร์นี้ซึ่งมีขนาดเล็กและมีภูมิประเทศที่ชัดเจนเป็นขอบเขตนี้เองที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา

สำหรับข้ออ้างของกัมพูชาที่ตีความว่าบริเวณใกล้เคียงรวมไปถึงเขาภูมะเขือด้วยนั้น ศาลเห็นว่าภูมะเขือจึงไม่อยู่บริเวณที่พิพาทกันในปี 2505 ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่ายอดแหลมของเขาพระวิหารจบลง ณ เชิงภูมะเขือ ซึ่งหมายถึงเมื่อพื้นดินเริ่มชันขึ้นจากหุบเขานั่นเอง!

ในย่อหน้า 98 ของคำพิพากษาที่ศาลอ้างถึงในบทปฏิบัติการว่า "บริเวณใกล้เคียงในดินแดนกัมพูชา" หมายถึงยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารทั้งหมดนั้น มีความซึ่งผมขอแปลมาไว้ดังนี้

"จากเหตุผลในคำพิพากษาปี 2505 ซึ่งขยายให้กระจ่างขึ้นโดยคำให้การทั้งหลายในคดีเดิมนั้นปรากฏว่าขอบเขตของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร (the limits of the promontory of Preah Vihear) ถึงตอนทิศใต้ของเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นลักษณะทางธรรมชาติทางทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ยอดแหลมของเขาพระวิหารตัดเป็นหน้าผาลงไปยังที่ราบฝั่งกัมพูชาแน่ ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นดินลาดชันลงอย่างเห็นได้ชัดแม้ว่าจะไม่ชันอย่างหน้าผา พื้นลาดชันด้านนี้เทลาดไปสู่หุบเขา (Valley) ซึ่งแยกเขาพระวิหารออกจากภูมะเขือ และหุบเขานี้ก็เทลาดทางทิศใต้ไปสู่ที่ ราบกัมพูชา ด้วยเหตุผลดังศาลได้กล่าวแล้ว ศาลเห็นว่าภูมะเขืออยู่นอกบริเวณพิพาท และในคำพิพากษาปี 2505 เอง ศาลก็ไม่ได้ตัดสินว่าภูมะเขือนี้อยู่ในดินแดนไทยหรือกัมพูชา ดังนั้นศาลจึงเห็นว่ายอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของพระวิหารยุติลง ณ เชิงเขาภูมะเขือ ซึ่งหมายความว่า ณ ที่ซึ่งพื้นดินเริ่มชันขึ้นจากหุบเขานั่นเอง

ทางตอนเหนือขอบเขตของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารคือเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 จากจุดหนึ่งไปยังด้านตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท ซึ่งเส้นดังกล่าวไปบรรจบหน้าจบ ณ จุดตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นดินเริ่มชันขึ้นจากหุบเขา ณ เชิงภูมะเขือ

ศาลเห็นว่าบทปฏิบัติการวรรค 2 ของคำพิพากษาปี 2550 ระบุให้ไทยถอนบุคลากรทั้งหมดที่ไปตั้งอยู่ ณ ดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารดังที่ศาลได้ระบุข้างต้น"

อนึ่ง ตามที่ประเทศไทยได้ต่อสู้ว่า เมื่อนำแผนที่ภาคผนวก 1 ลงไปกำหนดบริเวณในพื้นที่จริงทำได้ด้วยความลำบาก ศาลในปี 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่องนี้และในคำพิพากษานี้ก็จะไม่พิจารณาเรื่องนี้แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยสุจริต จะตีความฝ่ายเดียวไม่ได้

ค. ความสัมพันธ์ระหว่างบทปฏิบัติการวรรค 2 กับส่วนที่เหลือ

ศาลเห็นว่าขอบเขตของดินแดนในบทปฏิบัติการทั้ง 3 วรรคต่างก็เป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้น คำพิพากษาในบทปฏิบัติแรกที่ว่า "ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา" จึงต้องเข้าใจว่าหมายถึงดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหาร เหมือนกับที่กล่าวในบทปฏิบัติการที่ 2 ว่าประเทศไทยต้องถอนทหารฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่ "ณ ปราสาท หรือบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา" และในบทปฏิบัติการที่ 3 ที่ให้ไทยคืนวัตถุที่นำไปจาก "ปราสาทหรือพื้นที่ปราสาท"(ศาลขีดเน้นเอง) ซึ่งทั้งสองบทปฏิบัติการนี้อ้างถึงดินแดนเดียวกันที่ขนาดเล็ก ดังนั้น ดินแดนในความหมายของทั้ง 3 วรรค ของบทปฏิบัติการจึงหมายถึงยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไปของเขาพระวิหารภายในขอบเขตที่ระบุในคำพิพากษาย่อหน้าที่ 98 ดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่จำเป็นต้องตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาแต่ประการใด

และศาลก็ไม่ต้องตัดสินว่า พันธกรณีที่ไทยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาในบทปฏิบัติการวรรค 2 เป็นพันธกรณีที่ "ต่อเนื่อง"ตามที่กัมพูชาอ้างเพราะไทยเองก็ยอมรับว่าตนมีพันธะทั่วไปและต่อเนื่องที่จะต้องเคารพบูรณภาพของดินแดนกัมพูชาดังนั้น เมื่อข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือดินแดนรับการแก้ไขแล้ว และความไม่แน่นอนหมดไปคู่กรณีแต่ละฝ่ายต้องปฏิบัติพันธกรณีที่แต่ละประเทศมีอยู่โดยสุจริตด้วยความเคารพบูรณภาพของดินแดนของรัฐอื่นและต้องระงับข้อพิพาทโดยวิธีสันติ

ศาลยืนยันต่อไปว่าปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกทั้งเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมของคนในแถบนั้น ศาลจึงขอเตือนว่าตามมาตรา 6 ของอนุสัญญามรดกโลก ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายเป็นภาคีนั้น โดยแต่ละรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องไม่ "กำหนดมาตรการใดๆ โดยจงใจที่อาจทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงหรือโดยอ้อม" ต่อมรดกโลกนั้น โดยเฉพาะศาลต้องการเน้นย้ำว่าจะต้องเปิดให้เข้าปราสาทจากที่ราบฝั่งกัมพูชาได้

จากคำพิพากษาที่ท่าน ทูตวีรชัย พลาศรัยหัวหน้าคณะต่อสู้คดีของไทย แถลงข่าวเมื่อออกจากการฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนตามที่กัมพูชาขอไม่ได้ระบุว่าแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 ที่ฝรั่งเศสทำในปี 1907 และศาลใช้เป็นการตัดสินคดีมีผลบังคับและคำพิพากษาไม่ได้ตัดสินเรื่อง4.6 ตารางกิโลเมตร และภูมะเขือที่ต่างอ้างว่าเป็นของตนแต่อย่างใด คำแถลงนี้ถูกต้อง แต่ที่ควรกล่าวก็คือ คดีนี้ศาลตัดสินโดยเรื่องเอกฉันท์17 เสียง ซึ่งจะมีน้อยคดีที่เป็นเช่นนี้ คดีอื่นอาจมีผู้พิพากษาที่เห็นแย้งบ้างแต่คดีนี้แม้ผู้พิพากษาเฉพาะคดีที่ไทยตั้ง (ผู้พิพากษาCot) ก็ยังเห็นด้วยกับคำพิพากษา

ข้อสังเกตต่อไปก็คือ คดีนี้ศาลตัดสินแบบตุลาธิปไตยพอควรโดยเฉพาะการกำหนดให้ "ดินแดนทั้งหมดของยอดแหลมที่พุ่งขึ้นไป" โดยระบุอ้างสภาพภูมิประเทศ ซึ่งเป็นที่เห็นได้ง่าย และคำให้การของ ศ.อัคเคอร์มานน์ ที่ยืนยันว่าแคมป์ตำรวจไทยในปี 2505 อยู่เลยจากเส้นที่ ครม.ไทยยึดมาเป็นเหตุผลประกอบกันใช้เส้นที่ขีดในแผนที่ภาคผนวก 1 ทางทิศเหนือมาตัดยอดเขา ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายหัวลูกศร ทั้งๆ ที่ในคำพิพากษาปี2505 ไม่เคยพิพากษาเช่นนี้ นี่ก็แปลว่าศาลขีดเอาคล้ายกับที่เคยขีดเขตปลอดทหารชั่วคราว เพียงแต่คราวนี้พื้นที่ที่ขีดเล็กกว่าเดิมมาก! ผมและคุณเวนเดล เพื่อนชาวแคนาดาลองอ่านย่อหน้า98 ของคำพิพากษาแล้วขีดเส้นตามความเข้าใจของผมสองคนให้ท่านผู้อ่านดูตามรูปที่ปรากฏนี้ ซึ่งก็ยังมีปัญหาอยู่ว่าเป็นจุดใดแน่ ดังที่ผมได้ทำเครื่องหมายคำถามเอาไว้ นี่ก็แปลว่า คำพิพากษานี้เองก็อาจจะต้องตีความกันอีกรอบ เว้นแต่ไทยและกัมพูชาจะเจรจาตกลงกันได้โดยไม่ทะเลาะกันอีก

ก็ต้องดูกันต่อไปว่าทั้งสองประเทศจะทำอย่างไรต่อไป?