posttoday

รัฐบาลบริหารความมั่นคงด้วยความกลัว

01 พฤศจิกายน 2556

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ผมเคยทำงานร่วมกับพี่ๆ น้องๆ ในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มานานหลายสิบปี เพราะ สมช.กับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เปรียบเสมือนองค์กรพี่น้อง ที่ต้องทำงานควบคู่กัน สขช.ส่งรายงานข่าวกรองให้กับ สมช. เพื่อนำไปกำหนดนโยบายความมั่นคงของชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่หัวหน้าหน่วยทั้งสองเติบโตมาจากมืออาชีพ การทำงานก็จะใกล้ชิดกันมาก แต่เมื่อใดที่มีการแปลกปลอมเข้ามา ความร่วมมือก็ห่างไป

แต่ละปี สมช.ร่วมกับ สขช.จะประเมินภัย|คุกคามต่อความมั่นคงของชาติที่จะเผชิญ โดยแยกระดับความรุนแรงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นให้เห็นชัดเจน ระบุชัดว่า อะไรรุนแรงระดับ “ภัยคุกคาม” อะไรเป็นเพียง “สิ่งท้าทาย” หรือแค่ “ปัญหา” เท่านั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใด หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างไรบ้าง จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของชาติ เป้าประสงค์ และนโยบายอย่างไร สมช.ต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบ เพื่อให้รู้ว่ารัฐบาลจะบริหารจัดการด้านความมั่นคงของชาติอย่างไร จะจัด “ลำดับความสำคัญเร่งด่วน” ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงได้อย่างไร เพราะเราไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะจัดการปัญหาทั้งหมดไปพร้อมๆ กันทีเดียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า อดีตเลขาธิการ สมช. อาทิ พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ สุวิทย์ สุทธานุกูล ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ ประกิจ ประจนปัจจนึก แม้แต่ถวิล เปลี่ยนศรี หรือท่านรองเลขาธิการ สมช. เช่น พิชัย รัตนพล สงคราม ชื่นภิบาล เป็นต้น แม้แต่นายทหารหลายคนที่มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แต่ละท่านในขณะดำรงตำแหน่ง ไม่ค่อยพูดหรือให้สัมภาษณ์เป็นรายวัน เมื่อท่านพูด ท่านจะพูดเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคงโดยตรง และเป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบายเป็นสำคัญ ไม่เคยเห็นท่านใดที่ให้สัมภาษณ์แทบจะเป็นรายวัน รู้ทุกเรื่อง พูดได้ทุกเรื่อง ที่มีคนกระเซ้าว่าเป็น“Mr.Know All” (ยกเว้นงานในหน้าที่) หรือเป็นแบบอับดุล รู้หมด ตอบได้หมด

ถามว่า อดีตเลขาธิการ สมช.เหล่านั้นพูดไม่เก่งหรืออย่างไร เท่าที่รู้จัก ท่านพูดเก่ง หลายคนเป็นผู้บรรยายตามสถาบันต่างๆ แต่ท่านรู้ว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด พูดเมื่อไร ที่ไหน จังหวะเวลาที่ควรพูด ฯลฯ เลขาธิการ สมช.ในอดีตพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง เพราะถือว่าเป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะแก้ปัญหาเอง ท่านเหล่านี้แยกแยะออกระหว่างเสถียรภาพทางการเมืองกับเสถียรภาพของรัฐบาล แม้จะมีเส้นแบ่งบางๆ ก็ตาม แต่ก็แบ่งได้

ผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ เท่าที่สังเกตดู ก็ไม่เห็นมีใครที่พูดหรือให้สัมภาษณ์เรื่องปัญหาความมั่นคงบ่อยครั้ง แต่สังคมประเทศนั้นรู้ว่า คนเหล่านี้รับผิดชอบความมั่นคงของประเทศที่แท้จริงและทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล

พอเขียนถึงเรื่องนี้ ทำให้นึกไปถึงผู้หลัก|ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เช่น พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) เป็นต้น ท่านเป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องความมั่นคงของประเทศ และรู้บทบาทของท่านดี แม้อีกสถานะหนึ่งท่านดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ท่านแยกเรื่องการเมืองออกจากความมั่นคงของชาติ ข้าราชการที่ทำงานด้วยมีความสบายใจเป็นอย่างยิ่งและให้ความเชื่อมั่น ศรัทธาต่อท่านทั้งสอง งานด้านความมั่นคงนั้นไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ นักการเมืองคนไหนก็ทำได้ อาจทำได้แต่จะดีหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง

การข่าวกรองเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการบริหารจัดการความมั่นคงของชาติ การข่าวกรองที่ถูกต้อง ทันเวลา และถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ชาติมั่นคง หากนำไปใช้กับรัฐบาลก็จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพด้วย เราเคยเห็นรัฐบาลหลายชุดพังมาแล้ว เพราะการข่าวกรองที่ไม่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่มืออาชีพ รายงานข่าวเพื่อเอาใจรัฐบาล ไม่บอกรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา พวกนี้รู้ว่ารัฐบาลชอบข่าวประเภทไหน จึงรายงานข่าวที่จะทำให้รัฐบาลสบายใจ รัฐบาลบางยุคปรารถนาให้หน่วยข่าวรายงานข่าวที่ตัวเองพอใจเท่านั้น เวลานี้ในวงการพูดกันถึง “ข่าวกรองตำรวจ” และ “ข่าวกรองรุ่น 14” กันมาก

รัฐบาลที่ไม่ยอมรับความจริง ทำให้ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไปบ้าง สูงเกินไปบ้าง ไม่ตรงต่อสถานการณ์ที่เป็นจริง การกำหนดมาตรการบริหารจัดการปัญหาก็ผิดจังหวะ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การใช้ทรัพยากรเพื่อบริหารจัดการปัญหาบางทีก็มากไป บางทีก็น้อยไป บางทีเร็วไป บางทีช้าไป บางทีรัฐบาลมี “ธง” ว่าจะต้องใช้กฎหมายความมั่นคงให้ได้ ก็ไปบังคับให้ทีมข่าวรายงานเพื่อให้ตรงกับธงของตน สร้างข่าวว่าผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก มีแผนก่อความรุนแรง ฝ่ายตรงข้ามปลุกระดมนำคนเข้ามาเพื่อ “ล้มรัฐบาล” เพื่อเอารายงานข่าวนั้นมาสนับสนุนหรือมาสร้างความชอบธรรมที่รัฐบาลจะออกกฎหมายความมั่นคงสลายการชุมนุมเสียก่อน

บางทีรัฐบาลประเมินสถานการณ์ต่ำไป โดยใช้วิธี “นับหัว” ของผู้ชุมนุมว่ามีจำนวนไม่เท่าไร เพราะฉะนั้นจะเดินสุดซอย ทะลุซอยอย่างไรก็ได้ คนจำนวนเท่านี้ใช้ตำรวจปราบจลาจลจัดการเดี๋ยวเดียวก็เรียบร้อย ใช้หลักคณิตศาสตร์เป็นตัวตัดสิน ไม่ใช้ “ประเด็นปัญหา” มาพิจารณา ลืมประเมินไปว่า ประชาชนที่เดือดร้อนจากการบริหารงานของรัฐบาลมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง รัฐบาลมองคนที่เห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม เท่ากับผลักประชาชนไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม และวันหนึ่งคนเหล่านี้จะหันมาต่อสู้กับรัฐบาลเอง

การประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด การกำหนดมาตรการที่ “ผิดกาลเทศะ” เร็วไป ช้าไป มากไป น้อยไป บางทีก็มีผลย้อนกลับมาที่รัฐบาลเหมือนกัน

การมองความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วยความกลัว และตั้งสมมติฐานว่าคนพวกนั้นจะมาล้มรัฐบาล การประเมินสถานการณ์สูงไป ต่ำไป ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้การหาวิธีบริหารจัดการปัญหาเป็นไปอย่างผิดพลาด ส่วนใหญ่รัฐบาลประเมินพลังฝ่ายประชาชนอย่างเดียว ลืมประเมินตัวเองว่าได้ทำอะไรผิดพลาดจนประชาชนไม่พอใจบ้าง “ความไม่พอใจของประชาชน” นั่นแหละเป็นต้นตอที่จะทำให้รัฐบาลพัง ประชาชนเดือดร้อนทั่วประเทศ เศรษฐกิจชาติเสียหายยับเยิน

หน่วยข่าวมืออาชีพควรวิเคราะห์ให้รัฐบาลฟังว่า เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลอยู่ที่ความสามารถในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่เป็น “เกราะกำบัง” สำคัญให้รัฐบาลจะอยู่ได้อย่างยาวนาน ไม่มีใครมาล้มรัฐบาลได้ แต่หากรัฐบาลทำให้ประชาชนเดือดร้อนทั่วทั้งแผ่นดิน ทำสิ่งที่สวนทางกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ ทำให้ชาติบ้านเมืองฉิบหายอย่างเป็นที่ประจักษ์ มุ่งแต่แก้ปัญหาตัวเองและพี่ชายมากกว่าแก้ปัญหาของประเทศชาติและประชาชน ต่อให้รัฐบาลเกณฑ์ตำรวจทั้งกรมมาปราบประชาชน รัฐบาลก็สู้พลังมหาประชาชนไม่ได้