posttoday

หนึ่งประเทศ สองนายกฯ

13 ตุลาคม 2556

การที่มีคนเรียกเขาว่าเป็นซูเปอร์นายกนั้นเหมาะสมแล้ว เพราะคอยควบคุมดูแลนายกตัวจริงและคณะรัฐมนตรีทั้งชุดอีกทีหนึ่ง

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

มี 3 เหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองที่เวียนมาครบรอบอีกครั้งหนึ่งในต้นเดือนตุลาคม คือ (1) วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 (2) วันล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (3) วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ตำรวจสลายม็อบด้วยความรุนแรงที่หน้าสภา ทั้งสามเหตุการณ์นี้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ไว้เพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีก

วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 เป็นการต่อสู้ของผู้รักประชาธิปไตยนำโดยขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนที่มีจิตใจบริสุทธิ์กับเผด็จการทหารที่ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ทหารสูญเสียอำนาจเป็นครั้งแรก เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการต่อสู้ระหว่างกระแสซ้ายกับกระแสขวาจัด ประชาชนถูกปลุกปั่นจากฝ่ายการเมืองให้เกลียดชังกันและเข่นฆ่ากันด้วยความรุนแรง

ส่วนหนึ่งเป็นความอ่อนหัดของขบวนการนักศึกษา อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายซ้ายจัดดึงดันเดินหน้าต่อแม้รู้ว่าจะเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่มองว่าการปราบปรามของฝ่ายขวาจัดจะเป็นผลดีในการต่อสู้ของฝ่ายซ้าย โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มาร่วมชุมนุมแต่อย่างใด ทำให้ทหารกลับมายึดคืนอำนาจได้อีก

ส่วนเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ที่ตำรวจสลายฝูงชนที่ชุมนุมอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธอย่างรุนแรงที่หน้าสภา โดยตำรวจขว้างและยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนอย่างเมามัน เหมือนกับผู้ชุมนุมไม่ใช่คนไทย ทำให้มีคนตายและบาดเจ็บมากมาย ซึ่งผิดกับการสลายม็อบของเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ปี 2552 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นการฟื้นคืนความสงบจากกลุ่มก่อการจลาจล ในที่สุด ตำรวจ 7 ตุลาก็กลายมาเป็นเครื่องมือของกลุ่มเผด็จการซ่อนรูปในปัจจุบัน

บันทึกประวัติศาสตร์ทั้ง 3 เหตุการณ์เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ มีลักษณะคล้ายกัน แต่ปี 2556 เป็นการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรักประชาธิปไตยแท้จริง” ต่อสู้กับ “เผด็จการประชาธิปไตยซ่อนรูป” หรือกำลังต่อสู้กับ “เผด็จการทุนสามานย์” ที่ร่วมมือกับกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์นำโดยอเมริกา มุ่งยึดอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้เป็นของคนกลุ่มทุนชาติ โดยมีขบวนการยุติธรรมขั้นต้นและขั้นกลางเป็นเครื่องมือ ในด้านต่างประเทศ เป็นการเปลี่ยนการต่อสู้กับ “ลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน” เป็นการต่อสู้กับ “ลัทธิทุนนิยมสามานย์อเมริกัน” ที่กำลังเก็บกินทรัพยากรทั่วโลก

กำลังหลักของฝ่ายประชาธิปไตยที่แท้จริงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางกระจัดกระจาย ไม่เป็นกลุ่มก้อน จิตสำนึกในการถูกกดขี่ คุกคามยังไม่สูงพอเหมือนกับสมัยก่อน แต่กลุ่มนำทางความคิดยังเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาปัญญาชนกลุ่มหนึ่งอันเป็น “ผลผลิต” ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งอยู่ในวัยชราและคนรุ่นกลางคนขึ้นไปแต่ไฟยังแรงไม่แพ้คนหนุ่มสาว ในขณะที่กลุ่มซ้ายจัดในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไปเข้ากับฝ่ายเผด็จการทุนสามานย์โดยเห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มทุนและส่วนตนเป็นที่ตั้ง และยังนำแนวคิดซ้ายจัดที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมาแล้วเมื่อปี 2519 มาใช้ในการช่วงชิงอำนาจโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียชีวิตของมวลชนที่มาร่วมแต่อย่างใด โดยคิดว่าในที่สุดก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าส่วนตน

ประเทศไทยเวลานี้มีลักษณะพิเศษ ที่เพื่อนฝรั่งเคยพูดล้อเล่นว่าเป็น “หนึ่งประเทศ สองนายกรัฐมนตรี” เราเคยได้ยินแต่ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ผู้นำจีนนำมาใช้กับกรณีของฮ่องกง เพื่อเป็นต้นแบบที่จะใช้ต่อไปกับมาเก๊าและไต้หวันในที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องหักด้ามพร้าด้วยเข่าบังคับให้เป็นคอมมิวนิสต์โดยทันที เพราะอย่างไรเสีย จีนก็คุมฮ่องกงได้เต็มที่อยู่แล้ว เมื่อมาเก๊ากลับคืนมาเป็นของจีนก็ใช้ระบบเดียวกัน และจะใช้กับไต้หวันต่อไป คนไต้หวันส่วนหนึ่งก็เริ่มจะเห็นดีเห็นงามและพอรับได้ เพื่อรักษาสถานะเดิมที่เป็นอยู่ปัจจุบันไว้ต่อไป

ถ้าถามว่าในโลกนี้เคยมี “หนึ่งประเทศ สองนายกรัฐมนตรี” หรือไม่ แถวๆ บ้านเราก็มีเขมรในช่วงหนึ่ง หลังจากที่มีการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลเฮงสัมริน-ฮุนเซน กับรัฐบาลผสม 3 ฝ่ายนำโดยเจ้ารณฤทธิ์ นายซานซาน และเขมรแดง คนเขมรบาดเจ็บล้มตายเกือบหมดประเทศ สหประชาชาติต้องเข้ามาช่วยจัดการให้มีการหยุดยิง จัดการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลผสม มีนายกรัฐมนตรีสองคน คนหนึ่งคือเจ้ารณฤทธิ์ เป็นตัวแทนของรัฐบาลเขมร 3 ฝ่าย และฮุนเซน ตัวแทนของรัฐบาลเฮงสัมริน รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงก็ต้องมีสองคน ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย แต่นั่นถือว่าเป็นกรณีพิเศษ และอาจมีเพียงประเทศเดียวในโลกนี้ หลังจากฮุนเซนปฏิวัติยึดอำนาจและเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวครองอำนาจมาเกือบ 30 ปีแล้ว

ที่สิงคโปร์ หลังลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ครองต่อเนื่องมาหลายสิบปี โดยมอบให้โก๊ะจ๊กตง เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพเพื่อรอนายลีเซียนลูง บุตรชายที่กำลังพักรักษาตัว นายลีกวนยูตั้งตัวเองเป็น “ซีเนียร์ มินิสเตอร์” ซึ่งมีอิทธิพลมากกว่านายกรัฐมนตรี แต่เขาก็ไม่ทำอะไรประเจิดประเจ้อ

สำหรับประเทศไทยนั้น เรามีนายกรัฐมนตรีที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เป็นที่รู้กันดีทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า นายกรัฐมนตรีตัวจริง หรือ “ซูเปอร์นายก” คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อย่างน้อยรายชื่อสุดท้ายก็ต้องผ่านการเห็นชอบของบุคคลผู้นี้ เราจึงเห็นหรือได้ยินข่าวบ่อยๆ ที่คนอยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บัญชาการตำรวจ เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ในต่างประเทศเสมอ แม้เป็นนักโทษหนีคุก และหนีคดีที่มีรออยู่อีกหลายคดี แต่ผู้บัญชาการตำรวจและนายตำรวจใหญ่น้อยนอกจากไม่กล้าจับกุมแล้ว ยังไปซูฮกนักโทษอีก

การกำหนดนโยบายสำคัญก็มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งตัวเองไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นแต่อย่างใด ซ้ำยังประกาศชัดเจนต่อสาธารณะว่า “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ” และว่านายกรัฐมนตรีปัจจุบันเป็นโคลนนิ่งของเขา เขาบริหารประเทศโดยวิธีสไกป์เข้ามาสั่งการ แต่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา หรือต่อองค์การตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด การที่มีคนเรียกเขาว่าเป็นซูเปอร์นายกนั้นเหมาะสมแล้ว เพราะคอยควบคุมดูแลนายกตัวจริงและคณะรัฐมนตรีทั้งชุดอีกทีหนึ่ง

คนที่ร่อนเร่อยู่นอกประเทศที่สื่อมวลชนฝรั่งจะใช้คำว่า “อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีโทษ” (fugitive PM) ทุกครั้ง เขาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง (de facto) เป็นผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ส่วนคนในประเทศซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย (de jure) วันๆ ก็คิดแต่จะไปต่างประเทศ โชคไม่ดีที่ไปอินโดนีเซียครั้งนี้ไม่มีโอกาสได้พบประธานาธิบดีบารัก โอบามา เลยไม่รู้ว่าครั้งนี้เธอจะใช้ woman’s touch กับใคร นี่แหละ “อันซีน ไทยแลนด์”