posttoday

แนะตั้งเขตสันติภาพรอบปราสาทพระวิหาร

01 ตุลาคม 2556

นักวิชาการดังแนะตั้ง "เขตสันติภาพ" รอบปราสาทพระวิหาร คาด 4 แนวทางศาลโลกพิพากษา

โดย...วิศวัส ปัญญาวงศ์สถาพร

มองในมุมหนึ่ง ความขัดแย้ง “เขาพระวิหาร” ถือเป็นกรณีมหัศจรรย์ที่ถูกปลุกขึ้นมาท้าทายรัฐบาลไทยและกัมพูชามาได้ทุกยุคทุกสมัย โดยไม่ว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่ต้องยอมรับจริงๆ ว่ากระแส “ชาตินิยม” ช่างไฟแรง จุดติดขึ้นมาคราใดก็โหมกระพือเผาผลาญฝ่ายตรงข้ามจนไม่เหลือซากไปทุกคราว

แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองข้าม อาจเป็นความจริงที่ว่าการแย่งชิงอธิปไตยเหนือดินแดนของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเก่าและจุดยืนเก่าๆ ซึ่งไม่เคยเปลี่ยน (หรือแม้แต่คิดจะเปลี่ยน) แล้วในบรรทัดสุดท้าย เราจะคาดหวังอะไรนอกจากทางออกที่เป็นทางตันและการใช้กำลังทหารเพื่อสรุปปัญหา

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการจัดสัมมนา “Preah Vihear: A guide to the Thai-Cambodian conflict and its solutions” หรือ “พระวิหาร: ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาและทางแก้ไข” เพื่อรับกับสถานการณ์คำตัดสินของศาลโลก (ไอซีเจ) ที่ใกล้จะมีขึ้นช่วงเดือนต.ค. โดยมีวิทยากรชื่อดังและนักข่าวต่างประเทศหลายสิบชีวิตร่วมงานกันคับคั่ง

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มสัมมนาด้วยการพยากรณ์แนวทางการตัดสินต่อการยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกทบทวนคำตัดสินในปี 1962 เกี่ยวกับกรณีเขตพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหารว่า ความเป็นไปได้ของแนวทางการตัดสินมีด้วยกัน 4 แนวทางคือ

หนึ่ง ศาลโลกไม่รับเรื่องทบทวนคำตัดสินอีกครั้งโดยยกให้เป็นการเจรจาระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศ

สอง เปลี่ยนการตีความตัดสินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายไทย

สาม ยืนตามคำตัดสินเดิมซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายกัมพูชา

สี่ ศาลตัดสินเป็นกลางโดยอาจยกให้ทั้งสองประเทศนำเรื่องมาไกล่เกลี่ยในเวทีกลางอื่นๆ เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

“อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เราต้องยอมรับว่าเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยมากที่สุดคือ ‘เจ๊งกับเจ๊า’ พ่ายแพ้หรือเสมอตัว ซึ่งคำตัดสินที่จะออกมาในช่วงเดือนต.ค. หรืออาจลากยาวกลายเป็นเดือนพ.ย. นี้ เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ท้ายทายรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกคำรบ” นักวิชาการดังกล่าวและว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย ประเด็นเขาพระวิหารอาจสุ่มเสี่ยงถูกปลุกขึ้นมาใช้ในการหาประโยชน์ทางการเมืองอีกครั้ง

อาจารย์ชาญวิทย์ปิดท้ายด้วยการเสนอทางออกที่จะเอื้อประโยชน์ให้เกิดสันติภาพและผลประโยชน์สูงสุดโดยเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาพิจารณาจัดเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นโซนสันติภาพ (Peach Zone)

“เรามาเปลี่ยนพนมดงรักสองฝั่งโขงเป็น อาเซียน อีโค-คัลเจอรัล  เวิร์ล เฮอริเทจ (ASEAN Eco-Cultural World Heritage) โดยความร่วมมือจากทั้ง 3 ชาติ กัมพูชา, ลาว และไทย เสนอยูเนสโก จากเขาใหญ่ พนมรุ้ง พระวิหาร วัดภู สามเหลี่ยมมรกต ไปจนถึงคอนพะเพ็ง ประกาศให้เป็นดินแดนแห่งสันติภาพ ถ้าร่วมมือกันทำอย่างนี้ผมคิดว่าจะมีทางออก”นักวิชาการธรรมศาสตร์กล่าว

แนะตั้งเขตสันติภาพรอบปราสาทพระวิหาร ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ด้าน ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำศูนย์เอเชียตะวันออกศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกียวโตประเทศญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-พม่าซึ่งมีลักษณะ ‘ขึ้นๆ ลงๆ’ ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549  โดยระบุว่า จุดที่น่าสนใจของการทูตระหว่างไทย-กัมพูชานั้นคือการผูกพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับการเมืองภายในของทั้งสองประเทศ
โดยตัวอย่างที่น่าสนใจคือในสมัยรัฐบาลอภิสิทธ์ซึ่งมี กษิต ภิรมย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาตกต่ำถึงขั้นเปิดฉากสู้รบบริเวณชายแดน แต่ภายหลังที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นครองอำนาจ ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาก็พลิก “หน้ามือเป็นหลังมือ” สังเกตจากการเดินทางเยือนกัมพูชาของนายกฯหญิงไทยซึ่งได้รับการต้อนรับชื่นมื่นจากนายกฯฮุนเซน ถึงขั้นมีการจัดฟุตบอลกระชับมิตรกัน

แนะตั้งเขตสันติภาพรอบปราสาทพระวิหาร ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

นักวิชาการดัง กล่าวต่อไปว่า หากคำตัดสินทบทวนคำพิพากษาของศาลโลกที่จะมีขึ้นในเวลาอันใกล้จุดชนวนความขัดแย้งทั้งไทยและกัมพูชา รัฐบาลทั้งสองประเทศจะต้องเผชิญกับโจทย์หนักหลายประการ เช่น การเมืองภายในที่ระส่ำระสายอยู่แล้วอาจยิ่งทวีความบอบช้ำถึงขั้นสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล ส่วนการเจรจาผ่านแผนการเปิดประตูการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี) ราวปี 2015 อาจเกิดบรรยากาศอึมครึมเพราะไทยซึ่งเป็นหัวหอกการประชุมอาจไม่ได้รับความร่วมมือจากกัมพูชา

“รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีข้อได้เปรียบหลายประการในการแก้ปัญหากับกัมพูชาอย่างสันติวิธี เนื่องจากที่ผ่านมานายกฯหญิงของไทยทำผลงานดำเนินความสัมพันธ์กับกัมพูชาได้อย่างชื่นมื่น แต่โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องผ่านคือการเจรจากับกองทัพไทย กลุ่มคนเสื้อเหลือง (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) เพื่อให้เห็นด้วยกับนโยบายสมานฉันท์นี้ เพราะเราอาจพูดได้ว่าการเมืองภายในของทั้งสองประเทศก็คือการเมืองเรื่องเขาพระวิหารเช่นกัน” นักวิชาการไทยประจำมหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวและว่า ความสามารถในการดู “ทางลม” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเป็นการตัดสินชะตามหากาฬของ "เขาพระวิหาร” ที่ยืดเยื้อมาหลายชั่วอายุคนนี้ อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างเรื่อง “ความรักชาติ” เริ่มกลายเป็น “ไม้ชื้น” ที่จุดไฟไม่ติดยิ่งขึ้นทุกทีเพราะวันเวลาที่ผ่านไปทำให้ประชาชนรับรู้ข้อเท็จจริงกันมากขึ้น

ด้านภู โสธิรักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศญี่ปุ่น เรียกร้องให้ทางการไทยยอมรับการตัดสินของศาลโลกที่จะมีขึ้นเพื่อปลดล็อกให้การบริหารทั้งตัวเขาพระวิหารและดินแดนรอบๆ เป็นไปอย่างสันติวิธี ขณะที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชานำความขัดแย้งนี้เข้าสู่เวทีกลางอย่าง อาเซียน เพื่อให้ชาติพันธมิตรร่วมกันตัดสินและหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย

“การแก้ปัญหาเขาพระวิหารต้องเป็นไปอย่างจริงใจ และปราศจากซึ่งการใช้กำลังทหารเข้าห้ำหั่น เพราะจุดมุ่งหมายของทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชาคือการสร้างสันติสุขและหาผลประโยชน์ร่วมกันจากพื้นที่ตรงนั้น” อดีตนักการทูตกัมพูชากล่าวสรุป

แนะตั้งเขตสันติภาพรอบปราสาทพระวิหาร ภู โสธิรักษ์ อดีตทูตกัมพูชา(ขวา)

ต่อคำถามของสื่อมวลชนต่างชาติในงานสัมมนาในประเด็นเรื่องการทำงานของสื่อไทยและกัมพูชาต่อกรณีความขัดแย้งเขาพระวิหาร อดีตทูตกัมพูชาชี้แจงว่า การทำงานของรัฐบาลฮุนเซนคือการชี้แจงกับสื่อมวลชนทุกสำนักในประเทศเพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยพยายามหยิบยกมุมมองของทั้งฝั่งไทยและกัมพูชาเพื่อให้เกิดความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ต่อการเปิดฉากยิงบริเวณชายแดนในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ สื่อของกัมพูชาก็เขียนข่าวระบุว่าฝ่ายไทย “ยั่วยุ” ฝ่ายกัมพูชาก่อน

ด้านชาญวิทย์ แสดงความเห็นว่าสื่อของไทยยังตกอยู่ในวังวนของความขลาดกลัวและอวิชชา หน่ำซ้ำส่วนใหญ่ยังผลิตซ้ำวาทะกรรมว่าด้วยความรักชาติและการเสียดินแดนให้แก่คนทรยศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไล่เรียงในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าสื่อไทยถูกครอบงำทางความคิดมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องมาอย่างไม่เคยขาดตอนจนนำไปสู่การเซนเซอร์ตัวเอง ที่ไม่กล้ารายงานข่าวอันขัดกับการข่าวหลักของรัฐบาล

“ซ้ำร้ายกว่านั้น ปรากฏการณ์การผลิตซ้ำนี้ยังแพร่กระจายสู่สื่อต่างชาติ เนื่องจากไม่ว่าชาวต่างชาติจะขอข้อมูลจากสำนักไหน ก็จะได้รับข่าวด้านเดียวซึ่งตรงกับที่รัฐบาลต้องการสื่อสาร ไม่มีการเสนอความจริงในมุมมองอื่น” นักวิชาการดังตอบคำถาม

มองในเชิงเศรษฐศาสตร์ ความเป็นเจ้าของคงไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการสร้างมูลค่าจากสิ่งของนั้นๆ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่ “เขาพระวิหาร” ในวันนี้ ช่างไม่ต่างอะไรไปจากเศษซากปรักหักพังซึ่งทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่กล้าแม้แต่จะเอื้อมมือไปแตะต้อง