posttoday

อินเทอร์เน็ตเครื่องมือใหม่ยกเครื่องกม.เก่าพม่า

11 กันยายน 2556

อยากจะให้ประชาชนเป็นผู้กำกับดูแล เรากำกับดูแลกันเอง เราจะตรวจสอบและถ่วงดุลสังคมของพวกเรากันเอง

โดย...AYEE MACARAIG ,2013 SEAPA FELLOW

ร่างกุ้ง พม่า – เมื่อห้าปีก่อน เนย์ พง ลัต พยายามฆ่าเวลาด้วยการอ่านหนังสือ ฝึกโยคะ เขียนเรื่องสั้นหรือบทกวีบ้าง แต่เมื่อเช้าวันจันทร์เมื่อไม่นานมานี้เอง บล๊อกเกอร์รายนี้แทบไม่มีเวลารับโทรศัพท์เพราะต้องรีบออกเดินทางไปยังเมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่าเพื่อไปทำหน้าที่แก้ไขกฎหมายฉบับที่ส่งให้เขาต้องเคยไปติดคุก

“ผมมีเวลาแค่ 20 นาทีนะ” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้มเชิงขอโทษขอโพยผู้มาเยือน ก่อนที่ต้องฝ่าฝนไปจับรถเดินทางอีกสี่ชั่วโมงไปเมืองหลวงเนย์ปิดอว์ พอรับโทรศัพท์จัดการธุระของเขาเสร็จแล้ว เขาก็เดินไปมาในห้องที่ฝากำแพงประดับไปด้วยรูปของสตีฟ จอบส์ บิล เกตส์ กับไอดอลด้านเทคโนโลยีคนอื่นๆที่เขาชื่นชม

เนย์ พง ลัตในวันนี้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถ้าเปรียบเทียบภาพถ่ายเมื่อเดือนมกราคมปี 2012 ที่เขาเพิ่งถูกปล่อยตัวจากคุก เขานั่งลงเพื่ออธิบายให้เราฟังว่าทำไมเขาจึงหันมาร่วมงานกับอดีตรัฐบาลทหารที่ตัดสินจำคุกเขาถึง 20 ปีกับหกเดือน

“ทุกวันนี้เรามีเสรีภาพในระดับหนึ่ง แต่กฎหมายธุรกรรมอิเล็คทรอนิกฉบับรัฐบาลทหารยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ และทุกวันนี้ประชาชนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี แต่เรายังไม่เสรีเพราะว่ากฎหมายฉบับนั้นยังอยู่ รัฐสามารถใช้กฎหมายตัวนี้เป็นเครื่องมือฟ้องร้องทุกคน อาจพูดได้ว่าเรามีอิสระ แต่ว่าเราก็ไม่ปลอดภัย”

เนย์ พง ลัตอายุ 28 ปีตอนที่เขาต้องไปติดคุกด้วยข้อหาเข้าร่วมกับฝ่ายค้านและขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2008 ในช่วงปี 2007 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าปฏิวัติผ้าเหลือง (Saffron Revolution) ซึ่งมีพระสงฆ์เป็นผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ช่วงนั้นบล๊อกเกอร์อย่างเขาทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารหลักในห้วงที่รัฐบาลปราบปรามฝ่ายค้านจนในที่สุดแล้วก็ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตโดยสิ้นเชิง

แม้ว่าเนย์ พง ลัตต้องโทษจำคุกทั้งในเรือนจำอินเส่นกับเรือนจำปะอันก็ตาม ทุกวันนี้เขามีความหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในประเทศของเขา เขามองว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายนับตั้งแต่เขาเห็นการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 1988 ที่เขาเป็นเด็กชายวัยแปดขวบ เป็นช่วงที่รัฐบาลไล่ล่าเข่นฆ่านักศึกษาและนักเคลื่อนไหว ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปสามพันราย

การต่อสู้ในโลกออนไลน์

ในปี 2011 หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การกดขี่ด้วยระบอบการปกครองแบบทหารมา 50 ปี พม่าก็เริ่มเปิดประเทศ การปฏิรูปทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้รับเสียงชื่นชมจากประชาคมโลก ความเปลี่ยนแปลงด้านหนึ่งก็คือการที่ผู้นำฝ่ายค้านอองซานซูจีและนักโทษการเมืองรายอื่นๆอย่างเช่นเนย์ โพน ลัตได้รับการปล่อยตัว

กระนั้นเนย์ พง ลัต กับนักเคลื่อนไหว บล๊อกเกอร์และผู้สื่อข่าวอีกมากมายในพม่าหรือเมียนมาร์ยังคงกังวลกับช่วงเปลี่ยนผ่านขณะนี้ ด้วยกฎหมายล้าสมัยที่มีบทลงโทษแรงกับร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันที่กำลังอยู่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ ทำให้พวกเขาไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะแน่วแน่กับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ชาวพม่ากลุ่มใหญ่ที่เคยลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ หรือเคยต้องโทษจำคุกหรือต้องตกอยู่ภายใต้กฎเซนเซอร์ ปัจจุบันพลเมืองเหล่านี้เกาะกระแสความนิยมของอินเทอร์เน็ตเป็นหลักประกันว่าบรรดานักการเมืองที่เป็นอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายนี้จะไม่หันมายึดคืนเสรีภาพโฉมใหม่ทางอินเทอร์เน็ตไป นอกจากจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสะพานเข้าถึงกลุ่มชนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนอย่างคล่องแคล่วแล้ว พวกเขายังอาศัยมันเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากกรอบกฏหมายตกยุคสมัยที่เป็นภัยคุกคามในหลายด้านรวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

จากการที่พลเมืองเน็ทในพม่าจำนวนมากยังคงไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทั้งปวงที่เกี่ยวพันกันมา เนย์ พง ลัตกับองค์กรที่ชื่อเมียนมาร์ไอซีทีเพื่อการพัฒนาหรือ MIDO ของเขาใช้เฟซบุ๊คเป็นหนึ่งในช่องทางหลักที่จะระดมเสียงสนับสนุน

อินเทอร์เน็ตกับสมาร์ทโฟนกำลังมุ่งเข้าสู่ยุคเติบใหญ่ในพม่า ยักษ์ใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมเช่นเทเลนอร์จากประเทศนอร์เวย์และอูเรดูจากกาตาร์เพิ่งได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการสื่อสารไร้สายได้ 15 ปีในดินแดนที่ถือเป็นตลาดใหม่แห่งสุดท้ายในเอเชีย รัฐบาลพม่าตั้งเป้าให้การสื่อสารเคลื่อนที่เข้าถึงร้อยละ 80 ของประชากรในประเทศให้ได้ภายในปี 2016 เมื่อเทียบกับอัตราที่ไม่ถึงร้อยละ 10 ในปัจจุบัน

ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตยังเข้าไปไม่ถึงประชาชนส่วนใหญ่ในพม่า แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ประเมินกันว่าอินเทอร์เน็ตน่าจะเข้าถึงประชากรประมาณร้อยละ 1 ถึง 3 ในพม่าในปัจจุบัน กระนั้น MIDO สังเกตว่ารัฐบาลมักเผยแพร่ประกาศหรือข่าวสารความเคลื่อนไหวของรัฐสภาทางหน้าเฟซบุ๊คของทางการ สำหรับประชาชนพม่าทั่วไปแล้ว นอกจากจะใช้งานในด้านแชร์ริ่ง พวกเขาพึ่งโซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นช่องทางในการรับรู้ข่าวสารและเนื้อหาสาระอื่นๆ

ในประเทศที่มีประชากร 55 ล้านคน ที่ซึ่งอินเทอร์เน็ตช้ามากและไฟฟ้าก็ดับเป็นกิจวัตรประจำวัน เฟซบุ๊คได้แซงหน้าบล๊อกไปแล้วในด้านช่องทางสื่อสารยอดนิยม ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีประเมินว่าน่าจะมีผู้ใช้เฟซบุ๊คในพม่าราว 600,000 ถึง 800,000 ราย เฟซบุ๊คคืออินเทอร์เน็ตในพม่านั่นเอง

การที่รัฐมนตรีข่าวสารและโฆษกประธานาธิบดีเย ทุต ประกาศผลผู้ชนะเลิศการประมูลทางหน้าเฟซบุ๊คไปเมื่อเดือนมิถุนายนเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายมองโซเชียลเน็ทเวิร์คว่าเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการสื่อสาร

อินเทอร์เน็ตเครื่องมือใหม่ยกเครื่องกม.เก่าพม่า

มุมมองของนักข่าว

ที่สำนักงานเล็กๆแห่งหนึ่งในร่างกุ้ง นักข่าวอิสระมิน จอว์ใช้เฟซบุ๊คป็นประจำเหมือนกัน ขณะที่คุยกับผู้มาเยือน มินจอว์ก็พิมพ์ข้อความบนแม็คบุ๊คของเขา (มีสติ๊กเกอร์ Give Freedom to Media Law, for the People to get truth ติดอยู่) เขาเล่าให้ฟังเรื่องการประชุมหลายครั้งของสภาการหนังสือพิมพ์เฉพาะกาลแห่งเมียนมาร์ ซึ่งประกอบไปด้วยนักข่าวและเจ้าของสื่อต่างๆที่รัฐบาลมอบหมายให้ร่างกฎหมายสื่อเมื่อปีที่แล้ว

มิน จอว์ กับเครือข่ายนักข่าวเมียนมาร์ (Myanmar Journalist Network – MJN) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักข่าวรุ่นใหม่วัย 20-30 ปีเพิ่งรณรงค์ล่าลายเซ็นเพื่อผลักดันให้รัฐสภาทบทวนร่างกฎหมายธุรกิจสิ่งตีพิมพ์ที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

กลุ่มสื่อและสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศประนามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่กระทรวงข่าวสารเป็นผู้ยกร่างว่าเป็นการเซ็นเซอร์ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง MJN พยายามรวบรวมลายเซ็นให้ได้มากกว่า 10,000 ชื่อในร่างกุ้ง มัณฑะเลย์และเมืองใหญ่อื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาทบทวนร่างกฎหมายฉบับของกระทรวงข่าวสารและให้พิจารณาร่างที่ทางสภาการหนังสือพิมพ์เป็นผู้นำเสนอต่อวุฒิสภาไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ร่างกฎหมายฉบับของกระทรวงข่าวสารนั้นอ้างว่าเป็นแนวปฏิบัติทางจริยธรรมครอบคลุมสื่อทุกรูปแบบ

MJN รณรงค์ประเด็นนี้ในโลกไซเบอร์ โดยตั้งวงสนทนาเนื้อหาของกฎหมายเป็นกลุ่มปิดทางเฟซบุ๊คคู่ขนานไปกับเวทีเปิดในหน้าแฟนเพจต่างหาก นอกจากนี้ยังได้อัพโหลดบันทึกการประชุมทุกครั้งและแชร์โลโก้ของแคมเปญด้วย

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง วุฒิสภาได้เห็นชอบให้ผ่านร่างสิ่งตีพิมพ์ที่รวมเอาข้อเสนอแนะของ MJN ส่วนใหญ่เข้าไปด้วย จอว์ มิน ส่วย เลขาธิการและโฆษกของสภาการหนังสือพิมพ์บอกว่าทางรัฐสภาได้ตัดข้อความในร่างของกระทรวงข่าวสารในเรื่องเจ้าหน้าที่ทะเบียน ผู้ที่มีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตการพิมพ์ในกรณีละเมิดในข้อหาที่คลุมเครือภายใต้คำนิยามเช่น “สร้างความตึงเครียดทางด้านเผ่าพันธุ์และศาสนา ลามกอนาจาร และยุยง ช่วยเหลือการก่ออาชญากรรม” สภาผู้แทนราษฎรจะอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง ก่อนที่รัฐสภาจะตัดสินใจเป็นครั้งสุดท้าย

เพราะเน็ต?

ยังคงฟันธงไม่ได้ว่าความสำเร็จขั้นแรกของนักข่าวนี้เป็นผลแห่งการต่อสู้ทางออนไลน์หรือไม่ พวกเขารณรงค์ทางอินเทอร์เน็ตคู่กันไปกับการวิ่งเต้นในโลกความเป็นจริงด้วยการจัดแถลงข่าวของสภาการหนังสือพิมพ์ การพบปะหลายครั้งกับกระทรวงข่าวสารและส.ส. พร้อมทั้งการรายงานข่าวเรื่องนี้ในพื้นที่สื่อ

อย่างไรก็ดีไม่กี่วันก่อนที่สภาจะผ่านร่างกฎหมายตัวนี้ มิน จอว์เล่าถึงสาเหตุว่าทำไม MJN จึงกระหน่ำอภิปรายร่างกฎหมายนี้กันทางเฟซบุ๊ค “เป็นเพราะว่าที่นั่นเป็นศูนย์รวมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลาย ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐกับเอ็นจีโอ เครือข่ายออนไลน์มีประสิทธิภาพในแง่ที่จะตอบสนองและสะท้อนจุดยืนของเรา” มิน จอว์เคยเป็นบรรณาธิการของยังกอนเพรสอินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งเป็นองค์กรสื่อแห่งแรกในพม่าที่เผยแพร่ข่าวสารทางออนไลน์เท่านั้น ปัจจุบันได้ปิดตัวไปแล้ว

มิน จอว์กล่าวว่า “ในขณะที่พวกเขาใช้งานออนไลน์ไปในเรื่องอื่นๆ พวกเขาก็ได้รับรู้ด้วยว่าในแวดวงสื่อมีความเคลื่อนไหวอะไร ในประเด็นใด เฟซบุ๊คกับโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในช่องทางที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับภาคส่วนอื่นๆ”

แต่ในเรื่องของร่างกฎหมายสิ่งตีพิมพ์ มินจอว์ยอมรับว่าการอภิปรายเรื่องนี้บนหน้าแฟนเพจของ MJN ไม่ค่อยคึกคัก มีแค่ถ้อยคำสนับสนุนกลางๆอยู่หยิบมือหนึ่งเท่านั้น ขณะที่นักข่าวและผู้เชี่ยวชาญไอทีพูดว่าบรรดาพลเมืองเน็ททั้งหลายของพม่านิยมสนทนาเรื่องบันเทิง ไลฟสไตล์และความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนามากกว่า

“พวกเขามองว่ากฎหมายเป็นเรื่องน่าเบื่อ” มิน จอว์กล่าว “นักข่าวบางคนไม่อ่านเรื่องกฎหมายซะด้วยซ้ำ กระทั่งนักข่าวกันเองยังไม่อ่านเรื่องนี้เลย”

“ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเรากับคนที่เป็นพลเมืองเน็ทส่วนใหญ่มักไม่รู้เรื่องกฎหมาย และพวกเขามองว่ากระบวนการนิติบัญญัติไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขา”เนย์ โพน ลัตกล่าว“ที่จริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวกส.ส.ไม่ค่อยชำนาญเรื่องกระบวนการร่างกฎหมาย พวกเขาไม่ได้มีความรู้ในทุกๆเรื่อง ฉะนั้นเวลาพวกเขาทำอะไร เราจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วม และถ้าพวกเขาร่างกฎหมายเกี่ยวกับไอซีที ผู้คนในแวดวงไอซีทีก็ควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วม”

ขณะที่เขาเข้าไปมีส่วนในการร่างกฎหมาย บล๊อกเกอร์ผู้มีดีกรีปริญญาตรีด้านวิศวกรโยธาวัย 33 ปีรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่าส.ส.ทั้งหลายยังคงติดหล่มอยู่กับวิธีคิดแบบเก่า “คนที่ทำงานในรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากกองทัพ และวิธีคิดของพวกเขาก็มักจะยึดเอาความมั่นคงเป็นหลัก ทั้งที่จริงแล้วในเรื่องนี้ต้องดูด้านอื่นด้วย เช่นเราควรคำนึงถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของประชาชน”

ข้อห่วงใยที่ยังคงมีอยู่

แต่เป็นเรื่องยากที่จะสลัดความเคยชินเดิมๆออกไป ในยุคทหารปกครองนั้นอินเทอร์เน็ตในพม่าถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด รัฐบาลปิดกั้นเว็บไซต์ของกลุ่มที่ลี้ภัยการเมืองอยู่นอกประเทศ สื่อต่างชาติ ฝ่ายค้านและกลุ่มสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังแบนสไก๊ปและเว็บไซต์โซเชียลเนทเวิร์ค เจ้าของอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ถูกบังคับให้ต้องส่งสกรีนช้อตและให้ข้อมูลส่วนตัวของคนที่มาใช้บริการให้กับทางการ

ในช่วงอ่อนไหวเช่นวันครบรอบการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 1988 หรือว่าตอนปฏิวัตผ้าเหลือง รัฐบาลทหารดึงให้อินเทอร์เน็ตช้าเป็นเต่า รายงานประจำปี 2010 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกับสมาคมสื่อพม่ากล่าวว่า ทางการพม่าติดตั้งระบบผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP ให้มีเซิร์ฟเวอร์ระบบหนึ่งสำหรับหน่วยงานรัฐ กับอีกระบบสำหรับประชาชนทั่วไป รายงานนี้กล่าวว่าวิธีการเช่นนี้ทำให้ทหารสามารถ”ผูกขาดควบคุมระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศ”

พม่าได้รับการขนานนามว่าเป็น “ศัตรูของอินเทอร์เน็ต”ในการจัดอันดับโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเมื่อปี 2012 ขณะที่ฟรีดอมเฮาส์ องค์กรเอกชนอีกรายที่ทำงานด้านเสรีภาพสื่อก็จัดให้พม่าอยู่ในประเทศที่ “ไม่เสรี”ในปีเดียวกันและมาปีนี้ก็ประกาศว่าพม่านั้นไม่เสรียิ่งกว่าประเทศจีน

แม้พม่าจะพยายามปฏิรูป แต่กฎหมายเก่าๆยังคงมีผลอยู่ ทำให้เนย์ โพน ลัตในปัจจุบันมีงานเต็มมือในการวิ่งเต้นผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว อย่างเช่นกฎหมายธรุกรรมอิเล็คทรอนิค เขาถามว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องกำหนดให้ผู้ใช้งานต้องมาจดทะเบียนอุปกรณ์ทุกตัวไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรศัพท์ “บริษัทโทรคมนาคม เขาก็ต้องจดทะเบียนอยู่แล้ว ผู้ใช้ปลายทางจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำกระบวนการนี้อีก”

บล๊อกเกอร์รายนี้ซึ่งเคยเป็นเจ้าของไซเบอร์คาเฟ่ด้วยก็กำลังรณรงค์ให้มีการลดบทลงโทษและให้มีกำหนดคำนิยามที่ชัดเจน กฎหมายมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดตั้งแต่ 7-15 ปี สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลในการรับหรือส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความลับทางราชการหรือความมั่นคง

.”การรับหมายถึงอะไร” เขาถาม “เช่นการที่มีข้อความอยู่ในเมล์บ๊อกซ์ของคุณไม่ใช่”การรับ” เพราะใครๆก็สามารถที่จะส่งข้อความเข้าไปในกล่องของคุณได้ถ้าหากว่าเขารู้อีเมล์แอดเดรสของคุณ แต่อันนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ ดังนั้นเราต้องนิยามว่าอะไรหมายถึงการรับ การส่ง หรือว่าการเผยแพร่"

กฎเหล็กโบราณตัวนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ส่งให้คนอย่างเนย์ โพน ลัตต้องติดคุกมาแล้ว เช่นเดียวกับเพื่อนนักแสดงตลกของเขาชื่อซาร์กาน่า หรือนักกิจกรรมจากยุค 88 เช่นมิน โก เน็ง โก โก จี

เนย์ โพน ลัตถูกตัดสินจำคุกในข้อหาจัดเก็บการ์ตูนล้อเลียนพลเอกตาน ฉ่วยไว้ในอีเมล์ของเขา และมีวิดีโอที่ทางการแบนไว้ในครอบครอง

ในช่วงที่เขาต้องโทษจำคุกอยู่ เขาได้รับรางวัลจากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในประเภท Cyber Dissidents ได้รับรางวัล PEN/Barbara Goldsmith Freedom to Write กับเป็นหนึ่งใน 100 รายชื่อผู้กล้าจากทั่วโลกของนิตยสารไทม์ในปี 2010

อินเทอร์เน็ตเครื่องมือใหม่ยกเครื่องกม.เก่าพม่า

สารพันกฎหมาย

ตอง ซู เญ กรรมการผู้จัดการของเมทริกซ์ ซึ่งประกอบธุรกิจไอทีและมีเดีย แสดงความกังวลทำนองเดียวกับเนย์ โพน ลัตและผู้สื่อข่าวทั้งหลาย โดยที่ตัวเขาเองก็เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ กับเป็นสมาชิกของสมาคมนักวิชาชีพคอมพิวเตอร์แห่งเมียนมาร์ และสหพันธ์คอมพิวเตอร์แห่งเมียนมาร์ ซึ่งทำการรณรงค์ร่วมกับ MIDO ด้วยในเรื่องร่างกฎหมายไอซีที

ลูกชายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศวิน ออง คนนี้เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ 7Day News นิตยสารดิอินเทอร์เน็ตเจอร์นัล กับอีกหลายฉบับ ทั้งหมดนี้อยู่ในตึกสำนักงานในเมืองที่พื้นที่อสังหาริมทรัพย์ราคาเริ่มถีบตัวสูงขึ้นเพราะนักลงทุนต่างชาติแห่กันเข้าไปหาพม่า

ด้วยหน้าที่การงานในหลายฐานะทำให้ตอง ซู เญเข้าใจถึงความเชื่อมโยงต่างๆและผลกระทบของกฎหมายเหล่านี้

“เมื่อคุณให้อำนาจทางการออกใบอนุญาต ย่อมหมายความว่าทางการก็มีอำนาจที่จะเพิกถอนใบอนุญาตนั้นเช่นกัน”เขากล่าว “แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีความตั้งใจที่ดีที่สุดกตาม ใครจะไปรู้ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างความตั้งใจเหล่านั้นจะไม่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้นพวกเราต้องการที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

ในการสร้างหลักประกันเรื่องเสรีภาพ นักข่าวมักจะหันไปหาพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ของนางออง ซาน ซูจีเพื่อให้ร่วมกันสนับสนุน แต่อันที่จริงแล้วกฎหมายสิ่งตีพิมพ์อันเข้มงวดผ่านสภาล่างไปโดยปราศจากเสียงค้านใดจากทั้งตัวเธอหรือสมาชิกพรรคของเธอเลย

จอ มิน ส่วย แห่งสภาการหนังสือพิมพ์เล่าให้ฟังว่าการประชุมระหว่างกลุ่มของเขากับนางซูจีและตัวแทนพรรค NLD ที่กรุงเนย์ปิดอว์เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสร้างความประหลาดใจให้กับพวกเขา

“เธอมีท่าทีเป็นนักการเมืองเต็มตัว” เขาเล่า “เธอไม่ได้ให้คำมั่นว่าเธอจะสนับสนุนพวกเรา เธอบอกว่าในทุกๆเรื่องจะต้องมีการแพ้หรือชนะ แต่เธอบอกว่า “ฉันต้องการให้ประชาชนชนะ” และถ้าประชาชนชนะ เธอก็จะสนับสนุน นั่นเป็นคำพูดที่กว้างมากๆ และเป็นความคิดเห็นที่มุ่งเอาใจมวลชนเป็นหลัก ฟังแล้วดูดีมาก”

เมื่อถามถึงเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฟากนักข่าว วิน ติน ซึ่งเป็นนักข่าวอาวุโสวัย 84 ปีและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD ได้แต่แค่นหัวเราะ ห้าปีภายหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากคุก วิน ตินยังคงใส่เสื้อสีน้ำเงินอันเป็นสีเสื้อเครื่องแบบนักโทษ เขาปฏิญาณว่าจะไม่ใส่เสื้อสีอื่นจนกว่าทางการจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน

วิน ตินเป็นเพียงเสียงเดียวในพรรค NLD ที่คัดค้านร่างกฎหมายสิ่งตีพิมพ์ นางซูจีกับพรรคไม่ได้เห็นเช่นเดียวกันเขา วิน ตินนั่งคุยกับเราบนเก้าอี้ข้างกำแพงที่มีโปสเตอร์อวยพรวันเกิด 75 ปี ของเขาตอนที่เขาติดคุกไปได้ 16 ปี เขากล่าวปกป้องนางซูจีกับพรรคว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพียงแต่ว่าส.ส.ทุกคนงานล้นมือ ไม่สามารถพิเคราะห์ร่างกฎหมายได้ถี่ถ้วนทุกฉบับ

วิน ตินยอมรับว่าพรรคฝ่ายค้านเองกำลังพยายามแก้ไขปัญหาด้านศักยภาพของบุคลากรในพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกให้ผู้นำรุ่นใหม่ในพรรคให้รู้จักใช้เทคโนโลยี

“เรามีสุภาษิตที่ว่าสายรกนั้นตัดไม่ขาด” วิน ตินเล่า “เรามีผู้นำกลุ่มเยาวชน ซึ่งบางคนก็อายุ 50 กว่า เป็นปู่เป็นตากันแล้ว ดังนั้นเรากำลังพยายามที่จะจัดการประชุมเยาวชนให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าพวกเขาจะมีข้อจำกัด แต่ในเร็ววันนี้พวกเขาจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการให้ความรู้แก่สมาชิกพรรคของเรา เรากำลังเปิดชั้นเรียนและฝึกอบรมสมาชิกเกี่ยวกับเรื่องสื่อ และความสำคัญของการเผยแพร่ข่าวสาร”

อดีตนายทหารในรัฐสภา

ไม่เพียงแต่ NLD เท่านั้นที่ต้องฝึกคนรุ่นใหม่ ในห้องข่าวที่คึกคักของดีวีบีมีเดียกรุ๊ปในร่างกุ้ง โธ ซอว์ ลัต กำลังคิดหนักว่าองค์กรข่าวของเขาจะมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะดำเนินงานในพม่าอย่างเต็มที่หรือไม่

“เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งว่ากฎหมายการกระจายเสียงฉบับใหม่จะมีรายละเอียดอย่างไร”หัวหน้าสำนักงานร่างกุ้งของดีวีบีกล่าว “เพราะว่าดูไปแล้วผมไม่แน่ใจว่ามีสมาชิกรัฐสภาสักกี่คนกันที่รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายสื่อ ว่ากันตรงๆนะ คือพวกเขาเป็นนายทหารเก่ากันแทบทั้งนั้น”

รัฐธรรมนูญพม่ากำหนดให้ที่นั่งหนึ่งในสี่ในรัฐสภาต้องเป็นของกองทัพ นอกจากนี้พรรค USDP ของทหารก็เป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบัน

ในยุคที่เป็นสื่อของฝ่ายค้านพลัดถิ่น ดีวีบีมีชื่อเต็มว่า Democratic Voice of Burma แต่เมื่อปีที่แล้วได้เปลี่ยนชื่อเต็มเป็น DVB Media Group เพื่อจะได้กลับมาตั้งสำนักงานในประเทศพม่าได้ โธ ซอ ลัตซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานร่างกุ้งของดีวีบีบอกว่าเนื่องจากความไม่แน่นอนเรื่องกฎหมายในพม่า จะยังคงเปิดสำนักงานที่เชียงใหม่ไว้ด้วย

เขากล่าวว่าเรื่องเทคโนโลยีกับความรู้ของผู้ร่างกฎหมายเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง “เราคงต้องคิดหนักถ้ามีถ้อยความในกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการควบคุมเนื้อหาของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดสัดส่วนว่าต้องรายงานเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ อันนี้มีความเป็นไปได้สูงมาก นอกจากนี้คุณยังต้องอั๊พลิงค์ภาพจากแหล่งต่างๆ ถ้าหากเกิดปัญหาขัดข้อง แล้วเกิดทีวีจอดำขึ้นมาหละ?ผู้ชมก็จะไม่รู้ที่มาที่ไป”

ด้วยสาเหตุนี้เอง นอกจากเรื่องการวิ่งเต้นผลักดันร่างกฎหมายแล้ว ทั้งเนย์ โพน ลัตกับ MIDO ยังดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องไอซีทีให้กับบรรดาส.ส.ผู้นำรัฐบาลและข้าราชการ

แล้วเขายังได้ผลักดันกิจกรรมนี้ไปสู่อีกระดับหนึ่งด้วย “เราพยายามที่จะเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับเอ็นจีโอต่างๆที่ทำงานด้านไอซีที ในปี 2015 นี้ เราพยายามที่จะผลักดันให้ผู้แทนจากฟากไอทีไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. นั่นเป็นสิ่งที่น่าจะทำ เพราะถ้าหากว่าต้องการออกกฏหมายเกี่ยวกับไอที โดยที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลยนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้”

ยังจำเป็นต้องมีกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

แม้เนย์ พง ลัตจะทำงานรณรงค์ให้มีเสรีภาพและสิทธิของผู้ใข้อินเทอร์เน็ต เขาเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเว็บ เขากำลังผลักดันให้มีการผ่านกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์เพื่อจัดการกับปัญหาการแฮ็ค ฟิชชิ่งหรือลักขโมยทางออนไลน์

“อาชญากรรมไซเบอร์จะมีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และถ้ามีคนทำ ก็จะมีผู้ตกเป็นเหยื่อ”เขาว่า”ถ้ามีผู้ถูกกระทำไปขอให้ตำรวจช่วย แล้วตำรวจบอกว่าไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับไอซีที ดังนั้นไม่รับผิดชอบ เราต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอซีที”

ซอ เย นอง บรรณาธิการข่าวออนไลน์จาก Eleven Media Group สนับสนุนเรื่องนี้ เขาเล่าว่าเว็บไซต์ของ Eleven Media ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ข่าวสารยอดฮิตที่สุดในพม่าโดนแฮ็คมาแล้วอย่างน้อยสี่ครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา

การโจมตีไซเบอร์ในอดีตมักถูกมองว่าเป็นฝีมือของรัฐ แต่ซอ เย นองไม่รู้เลยว่าใครกำลังพุ่งเป้าโจมตีไซท์กับเฟซบุ๊คแฟนเพจของ Eleven Media เพราะว่าเวลาสืบสาวไปแล้ว ISPs ของผู้ไม่หวังดีไปลงเอยที่ฮ่องกงบ้าง สหรัฐอเมริกา จีน กับรัสเซีย

เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่ามีแฮ็คเกอร์ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม Blink โจมตีเว็บไซต์ซีเกมส์ทางการของพม่า พร้อมกันนั้นก็โจมตีเว็บไซต์ยอดนิยมอื่นๆด้วยตั้งแต่ของ Eleven Media ของวงดนตรีชื่อ Iron Cross เมียนมาร์เกมเมอร์ส Yatanarpon Teleport เร็ดลิงค์ กับร้านค้าออนไลน์ของสำนักข่าวอิระวดีเอง

“จะเกิดอะไรขึ้นถ้าระบบจ่ายเงินสักรายโดนแฮ็ค” ซอ เย นองว่า “ นี่ของเราเป็นเว็บข่าวนะ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าเราเป็นเพย์เมนท์เว็บไซต์ เราจะให้ความมั่นใจอย่างไรกับลูกค้า? เราจะไปฟ้องคนแฮ็คได้ยังไง? ตัวตนของผู้กระทำคือใคร?”

ว่าด้วยการกำกับดูแลกันเอง

แต่ตัวเขาและนักข่าวคนอื่นๆไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะกำกับดูแลเฟซบุ๊คเพื่อป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมในพม่า และการปะทะกันระหว่างกองทัพกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่า

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข่าวสารเย ธุตกล่าวว่า “หน่วยงานเรายินดีช่วยร่างกรอบการกำกับดูแลพร้อมทั้งจัดการอบรมสื่อสาธารณะ รัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะปิดกั้นประชาชน แต่เราก็พร้อมที่จะยับยั้งคนที่ตั้งใจละเมิดกฎหมาย”

เนย์ พง ลัตบอกว่าเขาไม่ชอบการกำกับดูแลโดยรัฐ “ผมอยากจะให้ประชาชนเป็นผู้กำกับดูแล เรากำกับดูแลกันเอง เราจะตรวจสอบและถ่วงดุลสังคมของพวกเรากันเอง เราจะร่างกฎกติกากันเอง ในลักษณะระบบกำกับดูแลกันเอง นั่นคือทางออก ถ้าหากว่าเราทำได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องเข้ามากำกับดูแลเราเลย”

เขาเสริมว่า “อันที่จริงการแก้ไขปัญหาระยะยาวอยู่ที่ระบบการศึกษา ถ้าเราใส่เนื้อหาเกี่ยวกับไอซีทีลงไปในหลักสูตรการศึกษา นักเรียนทุกคนก็จะรู้จักหัวใจของไอซีที และพวกเขาก็จะรู้วิธีที่จะใช้ไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองและสังคม”

เนย์ พง ลัตรู้ว่านี่แหละคือภารกิจหลักของเขา ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ง่อนแง่นในปัจจุบัน กับการขาดความรู้ในเรื่องนี้ในหลายภาคส่วนเองก็เป็นข้อจำกัดในการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการรณรงค์เรื่องนี้โดยตรง

ตัวเขากับนักรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคนอื่นต่างก็ตระหนักด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่ายังอยู่ในช่วงตั้งต้น เช่นเดียวกับระบบไซเบอร์ของพม่า และแม้ว่าเราจะคุยกันจนเลยเวลามาแล้ว เขาก็ยังจะไปจับรถประจำทางเพื่อเดินทางไปเนย์ปิดอว์อยู่ดี

“ผมเป็นห่วงอนาคต” เนย์ พง ลัตกล่าว “เราก็กำลังพยายามร่วมมือกับรัฐบาลและทหาร ชะตากรรมของประเทศนี้ในอนาคตอยู่ตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะโน้มน้าวให้พวกเขาเดินหน้าในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยต่อไป”

***บทความนี้เป็นผลผลิตจากโครงการ Southeast Asia Press Alliance (SEAPA) Fellowship 2013 ซึ่งปีนี้เป็นเรื่องความท้าทายด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในภูมิภาค อายี แมคอาเรกเป็นผู้สื่อข่าวของ Rappler.com จากมนิลาและเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนในปีนี้ บทความนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนทาง www.rappler.com