posttoday

ธุรกิจไซส์เล็กระทมเงินเริ่มตึงตัวหนัก

28 สิงหาคม 2556

แม้กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย..บากบั่น บุญเลิศ

แม้กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะนั่งยันนอนยันว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสนั้น ไม่ใช่การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอตัว

แต่ในภาวะความเป็นจริงนั้น บรรดาผู้ประกอบการที่ทำมาค้าขายต่างรับรู้กันอยู่ในอกว่าสถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง

ยอดขายลดฮวบลงอย่างเห็นได้ชัด สต๊อกเริ่มบวม เงินเริ่มขาดมือ คู่ค้าเริ่มขอยืดเวลาในการชำระหนี้

ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมีการ “ดึงดิว” และต่อรองการจ่ายเงินออกไป

นี่คือสัญญาณที่ส่งผ่านออกมาให้เห็นว่าคนที่ค้าขายอยู่ในสภาวะเงินสดเริ่มตึงมือ

ถ้าสภาวะแบบนี้ยังยืดยาวออกไป สิ่งที่จะตามมาให้เห็นคือปริมาณเช็คเด้งจำนวนมากจะทยอยเกิดขึ้น และการยืดเวลาการจ่ายหนี้ออกไปจะมากขึ้น

นี่คือสัญญาณอันตรายที่คนค้าขายพูดคุยกัน

ปรากฏการณ์นี้กลายเป็นช่องทางในธุรกิจล่าสุดธนาคารเอสเอ็มอีแบงก์เตรียมวงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้สินเชื่อ “Smile Factoring” เป็นสินเชื่อประเภทหลังส่งมอบงาน หรือส่งมอบสินค้า (Factoring Post Shipment) สำหรับลูกหนี้การค้า ราชการ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยของรัฐ หน่วยงานเอกชนที่แปรรูปจากระบบราชการ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง แก้ปัญหาหมุนเงินไม่ทัน

รูปแบบคือ ธนาคารจะรับซื้อเอกสารการส่งมอบงานหรือสินค้า โดยจะจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการก่อน ทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างคล่องตัว และขยายกิจการได้โดยไม่สะดุด

ว่ากันว่า สินเชื่อในรูปแบบนี้ฮอตฮิตเหลือหลาย

เพราะนี่คือลมหายใจที่ผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อยสายป่านสั้น กำลังต้องการมากในภาวะการค้าขายฝืดเคือง

สินเชื่อในรูปแบบนี้ดีกว่าการเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตมาหมุนใช้ในธุรกิจที่มีการคิดดอกเบี้ยมหาโหด

สินเชื่อในรูปแบบนี้ดีกว่าการกู้เงินสินเชื่ออเนกประสงค์ที่ให้ 510 เท่าของรายได้ ซึ่งปัจจุบันบรรดาผู้ประกอบการรายเล็ก เถ้าแก่น้อย เถ้าแก่รายกลาง ต่างพากันใช้บริการจนแทบจะเต็มเพดาน จนสินเชื่อบุคคลทะยานขึ้นมาเฉียด 3 แสนล้านบาทมะรอมมะร่อ

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงชะลอตัวจากปัญหากำลังซื้อและการบริโภคในประเทศที่ซึมตัวลงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลควรใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพราะการจะคาดหวังจากการส่งออกเพียงถ่ายเดียวตอนนี้ถือว่าจบ

อย่างดีการส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ 34% ก็บุญโขแล้ว

การกระตุ้นกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในยามนี้ไม่มีอะไรดีกว่าการอัดเงินลงไปในระบบเพื่อให้เกิดการหมุนของระบบเงิน

เพราะในความเป็นจริงนั้น ขณะนี้ประชาชนเริ่มประสบกับภาวะที่เงินตึงตัว และเริ่มมีการก่อหนี้นอกระบบ

สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าสัญญาณเศรษฐกิจโลกแย่ลง จนทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทย และมีเงินไหลออกมากๆ ก็จะทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง การจับจ่ายใช้สอยและเม็ดเงินจะฝืดเคืองลง โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนและกลุ่มที่ทำงานรับจ้างที่ตอนนี้อัตคัดเหลือหลาย จนหลายคนต้องหันไปพึ่งโรงรับจำนำ

เมื่อเม็ดเงินในมือประชาชนและภาคธุรกิจอาจหดหายไปตามสัญญาณเศรษฐกิจที่ตึงตัว และคนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ไม่ได้ง่ายนัก เพราะธนาคารพาณิชย์เองก็เริ่มเป็นห่วงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปัญหาเงินตึงตัวจึงระบาดไปทั่ว

หากปัญหาเงินตึงตัวจะเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น ก็อาจทำให้มีการเพิ่มปริมาณการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น

ปรากฏการณ์เช่นนี้เริ่มมีสัญญาณออกมาชัดเจนจากการสำรวจข้อมูลของ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในเรื่อง “เอสเอ็มอีหนีตายเศรษฐกิจถดถอย (ทางเทคนิค)” ว่า เอสเอ็มอีไทยอยู่ในภาวะน่าห่วงและค่อนข้างแย่ เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอยและต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาเพิ่มสภาพคล่องทั้งกู้เงินจากญาติพี่น้อง กู้นอกระบบ กู้บัตรเครดิต และกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์

เอสเอ็มอีที่ต้องกู้เงินมาเพิ่มสภาพคล่อง จึงมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาหนี้เสียตามมา เพราะไม่สามารถลดต้นทุนได้อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาลดต้นทุนในบริษัทจำนวนมาก ประกอบกับไม่สามารถขอปรับขึ้นราคาได้ ทำให้มีเอสเอ็มอีไทยประมาณ 2 แสนราย หรือประมาณ 6.9% จากเอสเอ็มอีทั่วประเทศ 2.7 ล้านราย อยู่ในภาวะเสี่ยงสูงมากที่อาจจะต้องปิดกิจการ หรืออาจมีการปิดกิจการเกิดขึ้นจริงอย่างน้อย 5 หมื่นรายขึ้นไป

กลุ่มเอสเอ็มอีที่น่าห่วงมากที่สุดคือ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำ รองลงมาเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และสิ่งทอ เพราะเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว คนจะชะลอใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นก่อน

ดังนั้น ภาครัฐควรมีเงินทุนมาสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอี และหาแหล่งวัตถุดิบมาผลิตสินค้าที่มีต้นทุนถูกที่สุดถ้าปล่อยสถานการณ์ให้ลากยาวต่อไป ฟันธงลงไปได้เลยว่า หนี้เสียจะทะยานขึ้นมาจากระดับ 34% เป็นระดับเลขสองหลักในเร็ววันแน่ แม้ธนาคารจะสกัด แต่คงเอาไม่อยู่...