posttoday

หนี้ครัวเรือนสูหนามยอกอกรัฐบาล

19 สิงหาคม 2556

การเห็นต่างทางเศรษฐกิจระหว่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดย...จตุพล สันตะกิจ / ชลลดา อิงศรีสว่าง

การเห็นต่างทางเศรษฐกิจระหว่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นวิวาทะว่าด้วย “นิยามหนี้ครัวเรือน” ที่ทางฝ่ายการเมืองกับนักวิชาการมองไม่เหมือนกัน

หนี้ครัวเรือนนี่เองที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงเมื่อไปผสมกับตัวเลขส่งออกที่ถดถอย เศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้จึงหดตัวลงอย่างหนักและจะชะลอตัวต่อเนื่องยาวนาน หากไม่มีกำลังซื้อมากระตุ้นเศรษฐกิจ

ธปท. ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนในขณะนี้สูงถึงระดับ 77.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นเม็ดเงินจำนวน 8.81 ล้านล้านบาท เป็นสินเชื่อที่ปล่อยกู้โดยสถาบันการเงินต่างๆ มีสัดส่วน 43% หรือ 3.8 ล้านล้านบาท การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) 30.9% หรือ 2 ล้านล้านบาท

ส่วนที่เหลือ 26.1% เป็นการปล่อยกู้โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทเงินทุน บริษัทประกัน บริษัทบัตรเครดิต โรงรับจำนำ เป็นต้น โดยเฉพาะหนี้สินที่อยู่ในระบบ Non-Bank 1 ล้านล้านบาท และหนี้ในระบบสหกรณ์ 1 ล้านล้านบาท

“แนวโน้มการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 77.5% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรถคันแรกที่คนแห่ไปจองซื้อ เพราะได้รับส่วนลดจากราคาปกติไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความจำเป็นก็ได้” อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายวางแผนและงบประมาณ ธปท. กล่าว

แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับจากฝ่ายการเมือง สะท้อนออกมาจากคำกล่าวของรองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่ว่า นิยามหนี้ครัวเรือนของ ธปท.ไม่เป็นสากล

“คำว่า หนี้ครัวเรือน ที่สากลใช้กันนั้น ส่วนใหญ่หมายถึงหนี้ที่เกิดจากบุคคลธรรมดาที่มีความสามารถในการก่อหนี้เพื่อลงทุนในทรัพย์สินที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น การซื้อบ้าน รถยนต์ ดูแลคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่กู้เงินเพื่อประกอบกิจการต้องนิยามหนี้ในกลุ่มนี้ใหม่ว่าเป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ” กิตติรัตน์ กล่าว

นั่นอาจหมายถึง การให้แยกหนี้ส่วนบุคคลที่กู้เงินเพื่อมาทำธุรกิจออกมาจากหนี้บริโภค บ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต

นอกจากนี้ รมว.คลังยังได้แนะนำให้ ธปท. เปรียบเทียบการเก็บข้อมูลของตัวเองกับหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าคนอื่นเก็บข้อมูลอย่างไร

แต่ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนที่ สศช. เป็นห่วงและหยิบยกมารายงานภาวะสังคมไตรมาสแรกของปี 2556 เมื่อเดือน พ.ค.นั้น สศช.ระบุว่า “สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่มียอดหนี้ 2.96 ล้านล้านบาท”

“จากข้อมูลยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ธปท.ชี้ว่าหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือน มี.ค. ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเท่ากับ 2.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 1.6% จากไตรมาสสุดท้าย ปี 2555” รายงานภาวะสังคมไตรมาสแรกของ สศช.ระบุ

แถม สศค. และ สศช. เห็นพ้องไปใช้ทิศทางเดียวกันว่าหนี้สินครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลจากนโยบายรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้

จึงเห็นได้ว่าทั้ง สศค. และ สศช. ใช้ตัวเลขชุดเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อมูลของ ธปท. ดังนั้น หากการเก็บข้อมูลของ ธปท.ไม่ถูกต้อง การนำข้อมูลไปใช้กำหนดนโยบายต่างๆ อาจจะผิดเพี้ยนไปได้

แต่ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า นิยามหนี้ครัวเรือนของ ธปท. เป็นไปตามหลักสากลเหมือนกับในต่างประเทศ

“หนี้ครัวเรือนคือสินเชื่อที่ปล่อยให้บุคคลธรรมดาและกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทจำกัดบางครั้งก็ใช้เงินปนกันอยู่บ้าง อย่างผู้ประกอบการที่ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เงินส่วนตัวกับเงินค้าขายก็จะปนกัน แต่ว่าตัวเลขที่เราใช้เป็นหลักนิยามหนี้ครัวเรือนจะมาทางด้านผู้ให้กู้ในระบบ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ นันแบงก์ เช่น อิออน ก็ปล่อยกู้ให้ไปซื้อของต่างๆ สินเชื่อที่ปล่อยให้บุคคลธรรมดาและกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งเป็นนิยามเดิมที่ ธปท.ใช้ และเป็นไปตามหลักสากลเหมือนกับในต่างประเทศ” ผู้ว่าการ ธปท. อธิบาย

ทั้งนี้ จีดีพีไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านล้านบาท นั่นก็หมายความว่าหนี้ครัวเรือนก็ประมาณ 8 ล้านล้านบาท ตัวเลขดังกล่าว ธปท.เก็บจากสถาบันการเงินในกำกับดูแล ไม่รวมหนี้นอกระบบ หากรวมหนี้นอกระบบแล้วตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะสูงกว่านี้อีก

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ประเด็นความเป็นห่วงหนี้ครัวเรือนไม่ได้อยู่ที่ความแม่นยำของนิยาม ประเด็นอยู่ที่ว่าความสอดคล้องคำนิยามที่ ธปท.ใช้ในช่วง 5 ปี มันสอดคล้องกัน หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเติบโตสูงขึ้นและรวดเร็ว ถ้าเป็นอย่างนี้โจทย์ก็ต้องมาเปรียบเทียบกับรายได้ ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นมากก็ทำให้มีความสามารถชำระหนี้ได้ แต่ถ้ารายได้เพิ่มขึ้นช้ากว่าหนี้ความสามารถการชำระหนี้ก็จะลดลงและกระทบกับสภาพคล่อง ซึ่งคำว่ารายได้ก็สะท้อนอยู่กับจีดีพี เพราะจีดีพีก็คือมูลค่าการผลิตมวลรวมประชาชาติจะเป็นตัวสะท้อนรายได้ของคนทั้งประเทศ สมมติจีดีพีโต 4% บวกเงินเฟ้ออีก23% เป็น 67% ก็สามารถจะสะท้อนว่าเป็นอัตราการเพิ่มของรายได้ด้วย

อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายการเมือง มองว่า การก่อหนี้ซื้อบ้านอยู่อาศัยและรถยนต์นั้น เป็นการก่อหนี้เพื่อสร้างทรัพย์สินในอนาคตเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ถือเป็นโอกาสที่คนชั้นกลางจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง จึงไม่ควรจะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนเหล่านี้เป็นอันตราย

แต่ ธปท.เห็นว่าหนี้อย่างไรก็คือหนี้ เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องจ่าย และหากเกิดสิ่งไม่คาดฝันขึ้นการจะขายทรัพย์สินอย่างบ้านหรือรถยนต์มาใช้หนี้ไม่ง่าย เพราะไม่ใช่ว่าบ้านจะขายได้ง่ายๆ ส่วนรถยนต์นั้นราคามีแต่ลดลง ขายไปก็ไม่ได้ตามมูลค่าที่ซื้อมาเพราะมีค่าเสื่อมราคา

นอกจากนี้ จะมีภาระที่ตามมาจากการซื้อรถยนต์ คือ ค่างวดรถยนต์ ค่าน้ำมัน และค่าบำรุงรักษา ไม่นับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ประกันและภาษี เป็นต้น

ดังนั้น หนี้สินจากรถยนต์คันแรกบั่นทอนกำลังซื้อครัวเรือนได้ชะงัดนัก เช่น ผู้ซื้อมีรายได้เดือนละ 2-2.5 หมื่นบาท จ่ายค่างวดรถยนต์ 8,000-1 หมื่นบาทต่อเดือน บวกค่าน้ำมัน 4,000-5,000 บาทต่อเดือน ก็มีภาระประมาณ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน เหลือใช้สอยเพื่อยังชีพ 1 หมื่นบาทเท่านั้น

ผู้ว่าการ ธปท. มองว่า หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูงมาที่ 80% ของจีดีพี จะเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ขณะที่หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงกว่ารายได้มาก ก็เกรงว่าจะกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ให้ลดลง จึงอยากเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายหลังจากที่มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

“ไทยอาจประสบปัญหาเหมือนสหรัฐที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อนเกิดวิกฤตและไม่สามารถขายสินทรัพย์ เช่น บ้านและรถยนต์เพื่อเสริมสภาพคล่องได้” ประสาร กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ ธปท.จะพูดตลอดเวลาว่าหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ก็ย้ำตลอดเวลาเช่นกันว่ายังไม่น่าเป็นห่วง และจะยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาควบคุม สิ่งที่ ธปท.ทำก็คือการขึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน กันเงินออมไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น และเตือนให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มเงินสำรองเพื่อรองรับหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้มงวดกับการปล่อยกู้มากขึ้น

หากจับประเด็นจากการถกเถียงนิยามหนี้ครัวเรือน จะเห็นว่ามูลเหตุน่าจะมาจากการที่รัฐไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในได้ เพราะหนี้ครัวเรือนทำให้คนที่มีรายได้จะต้องนำเงินไปใช้หนี้ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ก่อน ที่เหลือจึงจะนำมาจับจ่ายใช้สอยด้านอื่น สะท้อนภาพความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลที่ทำแล้วสร้างปัญหาต่อเนื่องต้องมาตามแก้ไขอีก

นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะออกมาตรการอะไรมาก็แป้ก ไม่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากความพยายามออกมาตรการหลายด้านที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติออกมาเป็นระยะ ทั้งมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ มาตรการส่งเสริมอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ผลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการด้านราคา แม้ราคาสินค้าจะลดลงเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคมากนัก

ฉะนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะได้ผลมากที่สุดก็คือ การปล่อยให้สภาวะหนี้ครัวเรือนคลายตัวไปเอง ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลา 1-2 ปี หรือต้องใช้มาตรการเพิ่มรายได้ เพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชนไปจับจ่ายใช้สอย และไม่ควรเป็นมาตรการที่ให้เอาเงินในอนาคตมาใช้อีก เพราะสุดท้ายจะทำให้คนไทยไม่พ้นบ่วงหนี้