posttoday

เร่งเกมรื้อวุฒิสภาล้มกระดาน"สภาปฏิรูป"

19 สิงหาคม 2556

หมากเกมการเมืองของรัฐบาลในเวลานี้กำลังใช้รูปแบบเดินสองขาไปพร้อมกันเพื่อเก็บสะสมคะแนนความนิยมให้เป็นต้นทุนของตัวเอง

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

หมากเกมการเมืองของรัฐบาลในเวลานี้กำลังใช้รูปแบบเดินสองขาไปพร้อมกันเพื่อเก็บสะสมคะแนนความนิยมให้เป็นต้นทุนของตัวเอง

ขาหนึ่งในด้านเศรษฐกิจจะเห็นได้ว่ารัฐบาลเพียรพยายามแสดงให้สังคมรับทราบว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ ดังจะเห็นได้จากการเดินสายนั่งรถไฟของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รมว.คมนาคม

ขณะที่อีกขาหนึ่งในด้านการเมือง รัฐบาลได้ใช้กระแสของการตั้งเวทีสภาปฏิรูปการเมืองเพื่อกลบแรงกดดันของฝ่ายตรงข้ามที่มีต่อรัฐบาล หลังจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยนายกฯ จะมาตัดริบบิ้นในวันที่ 25 ส.ค.นี้

ทว่า เอาเข้าจริงการปฏิรูปที่คิดว่าจะมาเป็นตัวช่วยรัฐบาลให้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นกลับไม่เป็นอย่างนั้น เนื่องจากรัฐบาลยังพยายามเดินหน้าผลักดันวาระที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอยู่ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับใส่ฟืนเข้าไปในกองไฟที่ว่านั้นนอกจากจะเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วยังรวมไปถึง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ตามกำหนดจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 วันที่ 20 ส.ค.นี้ โดยจะเริ่มจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ สว.ก่อน

คาดว่าเบื้องต้นน่าจะใช้เวลานานไปจนถึงวันที่ 23 ส.ค. รวม 4 วัน จากนั้นจะทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ต่อไป และเมื่อเสร็จสิ้นการแก้ไขในเรื่องที่มาของ สว.แล้วจะต่อด้วยร่างแก้ไขมาตรา 68 ว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (แก้ไขไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเกี่ยวกับการล้มล้างปกครองได้โดยตรง) และ 190 เกี่ยวกับการกำหนดลักษณะของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา ตามลำดับ

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดแรงต่อต้านมาตลอดนับตั้งแต่การพิจารณาวาระที่ 1 เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาจนมาถึงการพิจารณาในชั้นคณะ กมธ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการรื้อกระบวนการได้มาซึ่ง สว.ใหม่ทั้งกระดานใน 3 ประเด็นสำคัญ

1.การเปลี่ยนจากระบบสรรหาและการเลือกตั้ง 150 คน มาเป็นการเลือกตั้ง สว.ทั้งหมด 200 คน

2.ยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร สว.

3.การเปิดโอกาสให้ สว.สามารถมีวาระดำรงตำแหน่งได้ติดต่อกันจากเดิมที่ห้ามเป็นสว.ติดต่อกัน 2 สมัย

โดยทั้ง 3 ประเด็นได้กลายเป็นช่องโหว่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นโครงสร้างที่เปิดประตูให้กับฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามามีอิทธิพลกับ สว.อย่างเป็นลูกโซ่ เพราะการกำหนดให้ สว.ต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวนั้นกลายเป็นสภาพบังคับว่าผู้สมัคร สว.จะต้องพึ่งพิงฐานเสียงของพรรคการเมืองเป็นหลัก

ผนวกกับการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีส่วนเชื่อมโยงกับการเมืองสามารถลงสมัคร สว.ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองสามารถแผ่อำนาจเข้ามาในวุฒิสภาได้แม้จะไม่ใช่กับ สว.ทุกคนก็ตาม

ในสภาพที่วุฒิสภาส่วนใหญ่ที่มาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจถูกครอบงำและนำมาสู่การแทรกแซงองค์กรอิสระทางอ้อม ซึ่งเป็นข้อวิตกกังวลที่หลายฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุด รัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้วุฒิสภามีหน้าที่แต่งตั้งบุคคลและถอดถอนบุคคลในหลายองค์กรอิสระด้วยกัน อาทิ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่เพียงเท่านี้ยังรวมทั้งผู้พิพากษา ตุลาการ และอัยการ ด้วย

บุคคลในองค์กรดังกล่าวถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตย แต่วุฒิสภาในฐานะผู้กุมอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลเหล่านี้กลับมาจากการเลือกตั้ง มีผลให้เกิดความไม่มั่นใจว่าการใช้ดุลยพินิจของ สว.จะมีความเป็นกลางโดยไม่ถูกแทรกแซงเหมือนในอดีต

บนความหวาดหวั่นทั้งหมดนี้จึงทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นหนึ่งในฟืนที่ถูกเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้นำออกมาจากกองไฟก่อนการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เพราะเกรงว่าหากพรรคเพื่อไทยใช้เสียงข้างมากทำคลอดโครงสร้างวุฒิสภาชุดใหม่ในลักษณะนี้อาจสร้างปัญหาตามมาได้ในระยะยาว

แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแม้แต่น้อย ฟืนทุกก้อนยังคงถูกโยนเข้าไปในสภาตามปฏิทินของรัฐบาลภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นเรื่องของสภาไม่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง

ดังนั้น ในเมื่อรัฐบาลไม่พยายามใช้เสียงข้างมากตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเพื่อแก้ปัญหา อย่าได้แปลกใจว่าทำไมข้อเสนอเพื่อหาทางออกให้กับประเทศของสภาปฏิรูปการเมืองในอนาคตที่เต็มไปด้วยความสวยหรูถึงไม่ได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายอย่างที่ควรจะเป็น