posttoday

ศึก สธ.ไม่จบประดิษฐรุกคืบเบ็ดเสร็จ

16 สิงหาคม 2556

จบลงแล้วสำหรับการโยกย้ายฟ้าผ่าครั้งใหญ่ภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ครั้งแรกของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ซึ่งสั่นสะเทือนกระทรวงหมอพอสมควร

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

จบลงแล้วสำหรับการโยกย้ายฟ้าผ่าครั้งใหญ่ภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ครั้งแรกของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ซึ่งสั่นสะเทือนกระทรวงหมอพอสมควร

ที่ว่าสั่นก็ตรงที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. คู่ใจ นพ.ประดิษฐ และรับหน้าเสื่อชี้แจงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) มาตลอด ได้ขึ้นแท่นนั่งกรมใหญ่อย่าง “กรมการแพทย์” และก็สั่นเช่นกัน ที่รองปลัดฯ อีกคนอย่าง นพ.โสภณ เมฆธน ซึ่งยกร่างโครงสร้างปฏิรูปกระทรวงและจัดทำนโยบายเขตบริการสุขภาพช่วยหมอประดิษฐมาคลอด ได้ขึ้นเก้าอี้ใหญ่ที่ “กรมควบคุมโรค” ทั้งที่เพิ่งเป็นรองปลัดฯ มาได้ 2 ปีเท่านั้น

ส่วนผู้ตรวจราชการ สธ. ที่ได้ขึ้นชั้นรองปลัดฯ อย่าง นพ.ทรงยศ ชัยชนะ และ นพ.อำนวย กาจีนะ ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเก็บตัวเงียบและขึ้นในตำแหน่งอย่างเหนือความคาดหมาย เพราะทั้งคู่เพิ่งเข้ามาเป็นผู้ตรวจราชการ เมื่อเดือน ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา ไม่ถึงปีก็ได้ขึ้นชั้นรองปลัด สธ. แซงหน้าผู้ตรวจราชการรุ่นพี่หลายๆ คน ที่อยู่ในกรุต่อไป

กระนั้นก็ตาม มีเสียงครหาอยู่บ้างว่า ทั้ง นพ.ทรงยศ และ นพ.อำนวย นั้น จบการศึกษาจากที่เดียวกัน คือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่เดียวกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. รุ่นพี่ ทำให้ในสำนักงานปลัด สธ. มีศิษย์เก่าแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึง 4 คน หากนับรวม นพ.ณรงค์ และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ. ที่ยังเหนียวหนึบ แม้จะโดนครหาเรื่องอาวุโสมาโดยตลอด เพราะกว่า นพ.ชาญวิทย์ จะเกษียณก็ปาเข้าไปปี 2564

ธรรมชาติของกระทรวงหมอการไต่ชั้นจะเริ่มต้นจากการเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ขยับเป็นรองอธิบดี สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้ตรวจราชการ และรองปลัด หรืออธิบดี ตามลำดับ ก่อนหน้านี้ก็ดูเหมือนจะดี แต่ยุคหลังหมอก็วิ่งกันไม่แพ้กระทรวงอื่น มีแต่สายแพทย์ชนบทเท่านั้นที่ไม่ต้องวิ่งก็รู้แล้วว่าแพ้สายที่ใกล้ชิดการเมือง

ส่วนคนอื่นที่ถูกลดขั้น ได้แก่ นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ. ซึ่งติดภาพของชมรมแพทย์ชนบท ถูกย้ายกลับไปนั่งผู้ตรวจราชการ สธ. และ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สายวิทยา บุรณศิริ อดีต รมว.สธ. ถูกย้ายไปนั่งกรมอนามัยที่เล็กกว่า สร้างผลงานยากกว่า แม้หมอประดิษฐจะปลอบใจว่า ทั้งสองกรมโครงสร้างงานคล้ายกันก็ตาม

เจ้ากระทรวง สธ. ระบุว่า โยกย้ายก็เพื่อเป้าหมายใหญ่ นั่นคือ การปฏิรูป สธ. ที่จะคิกออฟในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขตบริการสุขภาพ หรือการจัดกลุ่มงานในกระทรวงใหม่ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าจะทำให้คล่องตัว ลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ รวมถึงให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น

หากจำกันได้ โครงการหนึ่งที่ถูกนำร่องในการปฏิรูป สธ. ก็คือ การเปลี่ยนระบบจากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแพทย์โรงพยาบาลชุมชน มาเป็น P4P จนเรียกหมอทั่วประเทศมาตะโกน “ประดิษฐ Get Out” กันจำนวนมาก เดือดร้อนถึงตึกไทยคู่ฟ้าต้องส่ง สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องลงมาห้ามทัพ และกำลังกลับไปสู่การใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิม

อีกหนึ่งเป้าหมายที่จะปฏิรูป สธ. ก็คือ การจัดโครงสร้างองค์กรอิสระ สังกัด สธ. หรือองค์กรตระกูล ส. ใหม่ ซึ่งหลายหน่วยงาน สธ.ทำสำเร็จแล้ว อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ตั้งคนใกล้ตัวเข้าไปเป็นรองเลขาธิการ 2 ตำแหน่ง และใช้หน่วยงานที่ควรจะอิสระผลักดันนโยบายสำคัญหลายเรื่อง อาทิ ประกันสุขภาพชาวต่างชาติ หรือปรับลดบทบาทของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กลายเป็นหน่วยงานที่ดูแล “มาตรฐาน” การแพทย์ฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว ส่วนการจัดระบบฉุกเฉิน สธ.จะดูแลเอง

แต่ในอีกหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังไม่สามารถรวบเข้ามาเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันได้ แม้จะเคยมีแนวคิดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองนโยบายสุขภาพเพื่อครอบองค์กรอิสระเหล่านี้ทั้งหมด แต่ที่สุดก็ถูกนายกรัฐมนตรีเบรก เพราะเกรงว่าภารกิจจะทับซ้อนกันมากเกินไป สุดท้ายศึกกับตระกูล ส. และศึกกับแพทย์ชนบทจึงสงบลงชั่วคราว

เป้าหมายหลังจากนี้ชัดเจนว่า หมอประดิษฐเตรียมผลักดันการ “ลดงบประมาณด้านสุขภาพ” ลง และเพิ่มรายได้ด้านสุขภาพเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ผ่านนโยบายเมดิคัลฮับ ซึ่งวันนี้มีมือขวาฝีมือดีของเจ้ากระทรวง อย่าง นพ.สุพรรณ เข้าไปดูแลเต็มตัวในฐานะอธิบดีกรมการแพทย์

ก่อนหน้านี้ หมอประดิษฐระบุมาตั้งแต่รับตำแหน่งครั้งแรกว่า จะประเมินตัวชี้วัดผู้บริหารกระทรวงทุก 3 เดือน และ 6 เดือน ว่าดำเนินการตามมาตรฐานที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาตรฐานที่กำหนดไว้ ก็ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายนำไปสู่การ “ปฏิรูป” ทั้งสิ้น และหมอประดิษฐก็จะบอกเสมอว่าการทำงานของอธิบดียังไม่เข้าสู่มาตรฐานชี้วัดคุณภาพ (เคพีไอ)

มาวันนี้เทอมรัฐมนตรีของ นพ.ประดิษฐ เข้าสู่ปีที่ 2 แต่งานที่ทำยังคงมะงุมมะงาหรากับเป้าหมายที่วาดฝันสูงไว้เกินไปอย่าง “การปฏิรูป” ในวันที่เตียงโรงพยาบาลใหญ่ยังคงแน่นเอี้ยดและประชาชนส่วนใหญ่ยังคงรับการรักษาไม่เท่าเทียม ใช่หรือไม่ว่าวันนี้ภารกิจบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพยังคงเก็บอยู่ในลิ้นชักที่เดิมและโรคระบาดก็ยังลุกลามมากขึ้น

ขณะเดียวกันหมอชนบทก็อาจเตรียมแสดงพลังต่อ เพราะแผนแบ่งเขตสุขภาพของหมอประดิษฐ จะรวบอำนาจเข้าสู่ผู้ตรวจราชการมากขึ้นจนกลายเป็น “อธิบดีเขต”

หมอชนบทตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นจะทำให้ต่อจากนี้อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างจะเข้าสู่ผู้ตรวจราชการเต็มตัว โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์ก้อนใหญ่ของกระทรวง

มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า หากผู้ตรวจราชการทำงานเข้าตาฝ่ายการเมือง แทนที่จะค่อยๆ ปีนบันไดขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง ก็สามารถกดลิฟต์เพื่อขึ้นแทนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นตำแหน่งผู้ตรวจราชการก็จะถูกการเมืองเข้าไปชักใยมากขึ้น ลามไปถึงหมอในเขตสุขภาพที่ต้องถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็น “หมอการเมือง” เพื่อรับใช้ผู้ตรวจราชการ หากเป็นเช่นนั้นจริง กระทรวงหมอก็รอเวลาที่จะแตกเป็นเสี่ยงๆ

ขณะเดียวกันเงื่อนปม P4P ก็ยังไม่ได้ถูกตอบรับเต็มปากเต็มคำจากหมอณรงค์และหมอประดิษฐ

เงื่อนไขในการชุมนุมจึงยังคงอยู่ต่อไป...

น่าสนใจว่า ในขณะที่ประเมินคนอื่นละเอียดยิบ เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา หมอประดิษฐเคยประเมินตัวเองด้วยหรือไม่

คำถามสำคัญสุดท้ายก็คือ ตัวชี้วัดมาตรฐานของ นพ.ประดิษฐ ได้รวมถึงการบริการประชาชนด้วยหรือไม่ หรือมุ่งแต่หารายได้เข้ารัฐบาลเพียงอย่างเดียวและปฏิรูปสนองความต้องการของตัวเองและคนรอบข้างเท่านั้น