posttoday

เตือนรัฐคุม"ไลน์"สะท้อนยุคเผด็จการ

14 สิงหาคม 2556

ความคิดแบบนี้ถือเป็นพฤติกรรมที่บ้าอำนาจ คงกลัวกันว่าจะเป็นการปลุกระดมคน

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

พลันที่พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือผบก.ปอท. ประกาศจะควบคุมตรวจสอบการสนทนาผ่านระบบสุดฮิตอย่าง “ไลน์” แอพพลิเคชั่นยอดนิยมบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ก็สร้างแรงกระเพี่อมในสังคมไปมากโข

ด้วยเหตุผลที่ระบุถึงความมั่นคง อาชญากรรม รวมถึงอาจจะควบคุมในเรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ต้องรู้ทุกอย่าง เห็นทุกสิ่ง เพื่อที่ตำรวจจะได้ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น

เพราะระบบ “ไลน์” ที่ฮิตกัน ใช้กันทุกเพศวัยอาชีพฐานะ สามารถส่งข้อความเชื่อมโยงคำพูดสนทนาผ่านตัวอักษรข้อความ ซึ่งถือเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะใช้ได้ทันที แต่ต่อไปหากตำรวจเทคโนโลยีเกิดเอาจริง มีการควบคุมขึ้นมา อะไรที่เคยเป็นเรื่องส่วนตัว ก็อาจจะไม่ส่วนตัวอีกต่อไป

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การ ปอท. เตรียมตรวจสอบข้อความที่ส่งผ่านแอพพลิเคชัน Line ของบริษัท Naver Japan นั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากแอพพลิเคชัน Line เป็นการสื่อสารและส่งข้อความระหว่างบุคคล ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ใช่เป็นการโพสต์ให้สาธารณะได้เห็น หากปอท.จะเข้าไปตรวจสอบ ก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิส่วนบุคคลชัดเจน

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้พรบ.คอมพิวเตอร์ หรือใช้ กฎหมายอาญา ก็จำเป็นจะต้องขออำนาจทางกฎหมาย โดยการขอหมายศาลเพื่อตรวจสอบ เนื่องจากกฎหมายระบุว่าการกระทำต้องเกิดขึ้นก่อน จึงจะสามารถตรวจสอบได้

หากปอท.จะเข้าไปตรวจสอบโดยตรงจากเจ้าของแอพพลิเคชัน เชื่อว่าเจ้าของแอพพลิเคชันจะไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากเมื่อผู้ใช้แอพพลิเคชัน ในลักษณะ Instant Messaging (IM) เช่น แอพพลิเคชัน Line จะต้องมีการยอมรับในข้อตกลงการใช้งานซึ่งส่วนใหญ่จะมีเฉพาะการยอมรับในการให้นำฐานข้อมูลลูกค้า ไปใช้ในการปรับปรุงแอพพลิเคชัน หรือขายให้กับบริษัทโฆษณา เพื่อทำการวิจัยเท่านั้น ไม่ได้มีเงื่อนไขในการละเมิดความเป็นส่วนตัวไม่ว่ากรณีใด โดยบริษัทผู้ผลิตแอพพลิเคชันเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เช่นกันว่าผู้ใช้แอพพลิเคชันสนทนาอะไรกันบ้าง เพราะไม่ได้มีการตกลงกับกลุ่มผู้ใช้งานไว้ ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการเดียวกันทั่วโลก ว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวจะต้องได้รับความคุ้มครอง

ทศพล กล่าวอีกว่า การใช้อำนาจของปอท. อาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะเป็นการสุ่มตรวจล่วงหน้า ซึ่งด้วยเหตุผลทั้งการกระทำความผิดทั้งหลักกฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ก็เป็นไปได้ที่บริษัท Naver จะไม่อนุญาตให้ปอท.เข้าไปตรวจสอบ

“เชื่อว่าผู้ผลิตแอพพลิเคชันจะคำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกค้า มากกว่าจะให้ปอท.เข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากที่ผ่านมามีบทเรียนหลายครั้ง ว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้งานรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือรู้สึกว่าถูกจับตามองอยู่ ก็จะเลิกใช้งานไปเอง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นชัดว่ากลยุทธหลายอย่างของ Line คำนึงถึงตัวผู้ใช้ เนื่องจากมีกิจกรรมส่งเสริมการขายจำนวนมาก เช่น แจก Sticker ฟรี เป็นต้น” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. กล่าว

ส่วนที่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ แถลงภายหลังว่าจะมีการแบ่งกลุ่มผู้กระทำความผิดเฉพาะการขายอาวุธปืน ค้ายาเสพติด บริการทางเพศ จำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ นั้น น่าจะเป็นเพราะได้มีการปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายแล้วว่า ประเด็นเหล่านี้ มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นก็สามารถใช้สนธิสัญญาเหล่านี้นำไปขอข้อมูลต่อผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นได้ หากได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตาม ปอท.ควรทำตามขั้นตอนทางกฎหมายด้วยการขอหมายศาล ก่อนที่จะไปขอข้อมูลจากผู้ผลิต มิเช่นนั้น จะเป็นการทำผิดตามขั้นตอนทางรัฐธรรมนูญ

ปาริชาต  สถาปิตานนท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด กับโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ชนิดก้าวกระโดด  โดยผู้ใช้สื่อต่างยังไม่แน่ใจในขอบเขตเรื่อง สิทธิและหน้าของตัวเอง

"สื่อสมัยใหม่เป็นเรื่องมือที่มาจากความเชื่อที่ว่า คนในสังคมนั้นๆ มีวิจารณญาณเพียงพอในการเผยแพ่ร แสดงความคิดเห็น แยกแยะข้อมูลในการเผลแพร่ส่งต่อ เรื่องนี้ต้องถามกันดังๆ ว่าสังคมไทยไปถึงตรงนั้นหรือยัง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพูดถึงเรื่องนี้  ขณะที่ถ้าเราใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง มาตัดสินเรื่องนี้ ก็จะเห็น คำตอบชัดเจน เช่นใช้เกณฑ์ว่านี่เป็นสิทธิของเราเป็นความเห็นของเรา ก็จะรู้สึกได้ถึงการละเมิดถึงสิทธิ แต่ถ้าใช้เกณฑ์เรื่องความมั่นคง สิทธิก็จะต้องถูกทวงถามเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบผลของการใช้สื่อนั้นๆ ตามมาด้วย ก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องนี้จึงต้องมีวงเล็บ การแก้ปัญหาว่าจะเอาอย่างไร ไม่ใช้ปล่อยให้มีการทะเลาะกันเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า"อาจารย์คณะนิเทศจุฬาฯกล่าว

ไม่ต่างจากสุริยะใส กตะศิลา แกนนำกลุ่มกรีน ที่ยกมือคัดค้านพร้อมระบุว่าการเข้ามาควบคุมของตำรวจถือเป็นการได้คืบจะเอาศอก

“หากเข้ามาควบคุมจริง ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน เพราะไลน์ไม่เหมือนกับเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ที่เป็นการส่งข้อความสู่สาธารณะ แต่ไลน์เป็นพื้นที่ส่วนตัว ที่แต่ละคนจะใช้งานได้ และเชื่อได้ว่าเหตุผลที่มาควบคุมเพราะเริ่มจากการจับกุม 4 คนก่อนหน้านี้ที่โพสต์ข้อความเรื่องปฏิวัติ กลายเป็นว่าถัดมาตำรวจจะคุมทั้งหมดเลย”

สุริยะใส บอกว่า ความคิดแบบนี้ถือเป็นพฤติกรรมที่บ้าอำนาจ คงกลัวกันว่าจะเป็นการปลุกระดมคน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ แน่นอนว่าส่วนตัวผมคุยเรื่องการเมืองในไลน์เช่นกัน แต่ก็พูดคุยตามสิทธิของตัวเอง อย่างนี้ผมจะต้องตกเป็นเป้าที่ต้องมาควบคุมด้วยหรือไม่

สุริยะใส  ระบุว่า ได้ข้อสรุปหารือภายในกลุ่มกรีน พร้อมใจกันยกพลไปพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือกสม. ในวันที่ 14 ส.ค.2556 เพื่อคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ พร้อมขอให้ดูกฎหมายของตำรวจบก.ปอท.ว่ามีข้อไหนเข้าข่ายละเมิดสิทธิของประชาชนบ้าง จะได้ฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ขณะที่กสม. ก็รับลูกเช่นกัน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การดำเนินการของ ปอท. เป็นไปในลักษณะเดียวกับการดักฟังโทรศัพท์ ซึ่งเข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามบทบัญัติรัฐธรรมนูญมาตรา35 และ 36 ดังนั้นหาก ปอท. มองว่าการใช้ไลน์เป็นภัยต่อความมั่นคง ก็ต้องหาเหตุผลมาชี้แจงว่าไลน์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และต้องยุบไลน์ทิ้งไปจากประเทศไทย ไม่ใช่เลือกที่จะใช้อำนาจเข้าแทรกแซงเช่นนี้

นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิอ้างเหตุผลว่าแทรกแซงการใช้ไลน์เพื่อหาข่าว นั่นเพราะรัฐบาลมีกลไกของตัวเองอยู่แล้ว ทั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ หรือแม้แต่ตำรวจสันติบาล การตัดสินใจใช้ตำรวจเข้าแทรกแซงนอกกลไกเช่นนี้ จะทำให้รัฐไทยเป็นรัฐตำรวจ กลายเป็นเผด็จการ

สำหรับการดำเนินการของกสม. แม้จะยังไม่มีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนแต่กสม.มีอำนาจที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน ซึ่งจากนี้จะมีการจัดทำหนังสือไปยัง ปอท. เพื่อให้ระมัดระวังการใช้กฎหมาย

ด้าน นายเมธา สกาวรัตน์ ประธานชมรมนักข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) มองว่า การตรวจสอบข้อมูลการแชทส่วนบุคคลถือเป็นการละเมิดสิทธิอยู่แล้ว แต่หากยกเหตุผลเรื่องความมั่นคง ก็ต้องตรวจสอบเป็นรายบุคคล ที่สำคัญยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการกำหนดว่าใครจะต้องถูกตรวจสอบบ้าง ซึ่งในกฎหมายการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ด้วย

“กฎหมายกำหนดให้ต้องไปขอหมายศาลก่อนถึงจะเข้าไปดูข้อมูลได้ หรือหากเป็นไปได้ก็น่าจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณากลั่นกรองเสียก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นดุลพินิจเจ้าหน้าที่อย่างเดียว”นายเมธา กล่าว

นอกจากนี้ ในขั้นตอนการปฏิบัติก็ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการด้วย ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินการในลักษณะนี้มักไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเท่าใดนัก