posttoday

ปชป.ตัวแปรจุดกระแสม็อบ

06 สิงหาคม 2556

การเปิดตัวของ “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ณ เวทีปราศรัย ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

การเปิดตัวของ “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ณ เวทีปราศรัย ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี เป็นไปอย่างราบเรียบจนยากจะตั้งความหวังกับการปลุกกระแสมวลชนให้ออกมาร่วมภารกิจล้มระบอบทักษิณ หรือคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) สรุปยอดผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ต่ำกว่าเป้าที่เคยคาดไว้เกือบเท่าตัว ทั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จำนวนมวลชนเพียงเท่านี้ย่อมส่งผลต่อขวัญกำลังใจ ไปจนถึงทิศทางการเคลื่อนไหวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สาเหตุส่วนหนึ่งถูกอธิบายว่าเป็นเพราะถูกสกัดปิดกั้นตั้งแต่จะออกเดินทางมาจากต่างจังหวัด สาเหตุอีกส่วนมองว่าเป็นเพราะรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่ 3 เขต ตั้งแต่วันที่ 1-10 ส.ค. ทำให้การเคลื่อนไหวขาดความคล่องตัว

ส่วนหนึ่งยังมองว่าเป็นเพราะสถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพียงพอจะออกมาเคลื่อนไหว แต่จะรอดีเดย์ 7 ส.ค. ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรมกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยสำคัญที่มองว่าทำให้กองทัพประชาชนฯ ยังจุดกระแสไม่ติดในเวลานี้อยู่ที่ประสบการณ์ และการบริหารจัดการมวลชน รวมทั้งการขับเคลื่อนมวลชน

ไล่มาตั้งแต่แกนนำของกลุ่มกองทัพประชาชนฯ ที่เปลี่ยนมือจาก “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ มายัง พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เข้ามารับไม้ต่อนั่งประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเพียงพอ รวมทั้งยังขาดแกนนำแม่เหล็กที่จะมาช่วยดึงมวลชนหรือหล่อเลี้ยงเวที

ทำให้บรรยากาศการขึ้นเวทีที่สวนลุมพินีวานนี้จึงเป็นไปอย่างจืดชืด โดยเฉพาะหลังเสร็จสิ้นช่วงพิธีการ ตั้งแต่แกนนำลั่นระฆังต้านระบอบทักษิณยกที่ 1 ไปจนถึงการอ่านแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล้างผิด พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมยืนยันชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

เวทีปราศรัยช่วงค่ำจึงเริ่มกร่อยๆ ถึงขนาดที่สถานีดาวเทียมบางสำนักยังต้องตัดสลับภาพไปยังเวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ที่จัด ณ โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ ในช่วงเวลาเดียวกันที่เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน

นั่นยังไม่รวมกับสภาพการบริหารจัดการที่ยังขาดระบบ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้เกิดเหตุการณ์การ์ดกองทัพประชาชนฯ ทะเลาะวิวาทปะทะกันเอง หรือมีคนกลั่นแกล้งนำหมามุ่ยไปใส่รถสุขาที่จัดไว้ให้บริการมวลชน หรือปล่อยให้ชายลึกลับขึ้นไปป่วนบนเวทีระหว่างการปราศรัย

นั่นยิ่งทำให้การจุดกระแสปลุกมวลชนให้ออกมาร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับกองทัพประชาชนฯ เป็นไปได้ยากยิ่งในภาวการณ์เช่นนี้

ขณะที่แนวร่วมสำคัญอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยังไม่ร่วมเคลื่อนไหวรอบนี้ เนื่องจากแกนนำหลายคนยังติดคดีหวั่นจะผิดเงื่อนไขประกันตัว ทำให้แนวร่วมมวลชนดูจะยังกระจัดกระจาย

แม้กลุ่มหน้ากากขาว กลุ่มหน้ากากหนุมาน กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ กลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มกรีน กลุ่มไทยสปริง ฯลฯ จะส่งสัญญาณพร้อมมารวมตัวกันโอกาสนี้ แต่ก็ยากจะประสานกันได้พร้อมเพรียง เหนียวแน่นในช่วงเวลาจำกัด

สุดท้าย “ตัวแปร” สำคัญที่จะปลุกกระแสมวลชนให้ออกมาเคลื่อนไหวเวลานี้จึงอยู่ที่บทบาทของ “ประชาธิปัตย์” ว่าจะเอาจริงเอาจังมากน้อยแค่ไหน เมื่อที่ผ่านมาประกาศจุดยืนชัดว่าจะเดินหน้าคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเต็มที่ทั้งในและนอกสภา

ด้วยเหตุผลสำคัญเรื่องการ “หมกเม็ด” ล้างผิดที่อาจเปิดช่องให้ตีความไปถึงแกนนำ หรือคนแดนไกล หรือการเหมาเข่งนิรโทษกรรมในคดีที่ไม่ควรนิรโทษกรรม ทั้งเผาศาลากลาง ฆ่าคนตาย ไปจนถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ต้องยอมรับว่าฐานเสียงที่เหนียวแน่นของ “ประชาธิปัตย์” พร้อมจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวเคียงบ่าเคียงไหล่คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม รอแค่เวลา “เป่านกหวีด” อย่างเป็นทางการ

สัญญาณล่าสุด “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” สส.พัทลุง แกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ กระโดดลงจากเวทีผ่าความจริง เพื่อไปร่วมแจมกับเวทีของกองทัพประชาชนฯ ที่สวนลุมพินี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปลุกมวลชนให้ออกมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 7 ส.ค. เพื่อขัดขวางการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภา

พร้อมเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมนำดอกกุหลาบไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมไม่ต้องไปกังวลกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพราะสิทธิในการชุมนุมเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ แถมตั้งเป้ากะเกณฑ์ว่าจะมีคนมาร่วมถึง 3 หมื่นคน

สอดรับกับท่าทีของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ประกาศกลางเวทีผ่าความจริง จะออกมาล้มรัฐบาลร่วมกับประชาชนทุกสีทุกกลุ่ม ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมบาดเจ็บจากฝีมือของรัฐบาล หรือใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม

เวลานี้จึงต้องรอดูว่า “ประชาธิปัตย์” จะให้น้ำหนักกับการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมระหว่างในสภาและนอกสภาอย่างไร

เมื่อด้านหนึ่งต้องให้น้ำหนักกับการชำแหละร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในวาระ 1-3 จะคัดค้านแก้ไขในทุกมาตราจนถึงที่สุด หากแพ้เสียงในสภา ก็จะตามไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และยื่นทุกองค์กรที่มีอยู่ เรียกว่าหากเป็นมวยที่มี 12 ยก ก็เรียกได้ว่าสู้จนยกที่ 13

แต่หากให้ทิ้งน้ำหนักในสภาอย่างเดียว ย่อมอาจกระทบต่อภาพรวมการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภา ซึ่งไม่รู้ว่าจะจุดกระแสติดได้มากน้อย หรือมีพลังเพียงพอจะคัดค้านแค่ไหน

ประชาธิปัตย์ต้องเปิดเกมคัดค้านนอกสภาคู่ขนาน ดังจะเห็นจากสัญญาณบนเวทีผ่าความจริงช่วงหลังที่ปลุกมวลชนออกมาร่วมคัดค้านต่อเนื่อง และจัดเวที 4 วันติดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนกฎหมายร้อนเข้าสภา ส่วนจะปลุกกระแสได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันในศึกยกแรก 7 ส.ค.นี้