posttoday

ยกเครื่องแบงก์รัฐใหม่แก้ปมคลังถังแตกไม่มีเงินเพิ่มทุน

29 กรกฎาคม 2556

แผนฟื้นฟูสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เสนอเรื่องใส่พานทองให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

แผนฟื้นฟูสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เสนอเรื่องใส่พานทองให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง พิจารณาเห็นชอบและเตรียมประกาศใช้เร็วๆ นี้ กลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองกันแบบไม่กะพริบ ทั้งในส่วนของผู้บริหารแบงก์รัฐและธุรกิจธนาคารพาณิชย์

เนื่องเพราะสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูฉบับนี้ คือ “การยกเครื่องกระบวนการทำงานของแบงก์รัฐใหม่” ด้วยการผ่อนเกณฑ์การกำกับและเงื่อนไขในการทำงานให้ย่อหย่อนลงจากปัจจุบัน

ประการแรก เป็นการส่งสัญญาณว่า “คลังเริ่มถังแตก” ขนานหนักจนแทบไม่มีเงินจะเพิ่มทุนให้แบงก์รัฐทั้งสองแห่งที่กำลังมีปัญหา ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

แน่นอนว่า ปัญหาหนี้เสียที่สูงลิ่วเฉียด 8 หมื่นล้านบาท ของ 2 แบงก์รัฐคือชนวนสำคัญของการยกร่างแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินของรัฐฉบับนี้ขึ้น จึงมีการเสนอให้นำเกณฑ์การตั้งสำรองของกระทรวงการคลังมาใช้แทนเกณฑ์สำรองตามมาตรฐานบัญชี IAS 39 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะต้องการลดภาระการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังให้กับแบงก์รัฐทั้งสองแห่ง ที่มีหนี้เสียจากการปล่อยกู้ตามนโยบายที่ถูกการเมืองเข้าแทรกแซงจนยับเยิน เงินกองทุนติดลบมหาศาลจนไม่สามารถปล่อยกู้ได้

หากย้อนสถานการณ์ไปเมื่อต้นปีที่มีข่าวหนี้เน่าล้นแบงก์ จนมีข่าวว่ากระทรวงการคลังเตรียมแผนจับคู่ให้เอสเอ็มอีแบงก์ไปควบรวมกับธนาคารออมสินเพื่อกลบหนี้เสีย เพราะธนาคารออมสินมีหนี้เสียเพียงแค่ 1.2% เท่านั้น ในขณะที่เงินกองทุนมีอยู่อย่างล้นหลาม หากรวมกันได้รัฐก็ไม่ต้องควักสตางค์มาโอบอุ้ม

รวมทั้งมีแนวคิดเสนอให้นำไอแบงก์ไปควบรวมกับธนาคารกรุงไทยเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย

ทว่า แผนดังกล่าวก็พับไป เพราะธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ของแบงก์รัฐไม่เล่นด้วย

แถมเกิดผลเสียต่อสถาบันการเงินของรัฐทั้งสองแห่งอย่างหนัก เพราะเมื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เสมือนเป็นพ่อแม่ที่ทำคลอดธนาคารรัฐมีแนวคิดตัดแบงก์รัฐออกจากกองมรดก ความเชื่อมั่นต่อธนาคารทั้งสองแห่งของบรรดาลูกหนี้และผู้ฝากเงินจึงสั่นคลอน

คนที่เป็นลูกหนี้ก็ชักดาบ หลายร้อยรายชิ่งหนีไปใช้บริการธนาคารอื่นๆ

ผู้ฝากเงินจำนวนมากไม่มั่นใจในสถานะของธนาคาร เมื่อเงินฝากครบกำหนดก็ถอนและไม่ยอมฝากต่อไป ทำให้ทั้งสองธนาคารต้องวิ่งล็อบบี้ลูกค้ากันฝุ่นตลบ

เมื่อข้อเสนอแรกมีปัญหา กระทรวงการคลังจึงต้องดิ้นหาทางออกใหม่ โดยการแก้เกณฑ์การกำกับเพื่อช่วยแบงก์รัฐทั้งสองแห่งนี้หายใจได้ รวมถึงช่วยให้ตัวเองไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มทุนมากไปกว่าเดิม

เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังควักจ่ายเงินเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ไปแล้ว 445 ล้านบาท เมื่อรวมกับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จะเป็นเงินเพิ่มทุนราว 920 ล้านบาท

ขณะที่ของใหม่ไอแบงก์เสนอขอเงินเพิ่มทุนอีก 6,000 ล้านบาท ก่อนสิ้นปีนี้ ทำให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นไอแบงก์ 49% ต้องเตรียมควักจ่ายอีกราว 3,000 ล้านบาท ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ส่วนธนาคารออมสิน ในฐานะผู้ถือหุ้น 39% ต้องจ่ายอีก 2,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ถือหุ้น 9% ต้องจ่ายอีก 500 ล้านบาท

ด้านเอสเอ็มอีแบงก์ กระทรวงการคลังจ่ายเงินเพิ่มทุนไปแล้ว 555 ล้านบาท และเตรียมแผนขอเงินเพิ่มทุนอีกไม่น้อยกว่า 3,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังแสดงท่าทีแล้วว่าเอสเอ็มอีแบงก์ต้องแก้หนี้เสียให้ได้ 1 หมื่นล้านบาท ตามสัญญาก่อนถึงจะยอมเพิ่มทุนให้ 1,000-2,000 ล้านบาท ในสิ้นปีนี้

แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทำให้คนยิ่งชะลอการบริโภค ยิ่งทำให้กระทรวงการคลังเสียวสันหลังวาบ เพราะเดิมเคยมีการประเมินว่าจากหนี้เสียราว 8 หมื่นล้านบาท ของ 2 แบงก์รัฐ หาต้องการให้ชุบชีวิตแบงก์ 2 แห่งนี้ กระทรวงการคลังต้องอัดเงินเพิ่มทุนถึง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อพยุงสถานการณ์

เงินก้อนมหึมาขนาดนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงการคลังต้องหาเงินมาถมใส่

นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้ สศค.เสนอแก้เกณฑ์กำกับแบงก์รัฐให้เข้มข้นน้อยลงกว่าธนาคารพาณิชย์ โดยที่กิตติรัตน์ไม่รอช้าที่จะจรดปากกาเซ็นอนุมัติเพื่อเร่งกลบหนี้เสีย และติดปีกเงินกองทุนที่ติดลบอยู่ให้กลับมาเป็นบวกโดยเร็ว

แต่ปรากฏว่าผ่านมาจนมาถึงปัจจุบันสถานการณ์แบงก์รัฐกลับไม่ดีขึ้น

สะท้อนจากผลประกอบการของไอแบงก์ งวดสิ้นเดือน พ.ค. 2556 พบว่ามีหนี้เสียใหม่ไหลมารวมกับของเก่ามากกว่า 3.85 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 34.2% ของยอดสินเชื่อคงค้าง และเงินกองทุนติดลบมากถึง 16.42%

ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งเดิมเคยมีหนี้เสียอยู่ราว 3.9 หมื่นล้านบาท เงินกองทุนติดลบ 0.95%

ข้อเสนอให้ใช้เกณฑ์ตั้งสำรองใหม่ของกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้หนี้ค้างเกิน 3 เดือน ตั้งสำรองเพียง 20% หนี้ค้างเกิน 6 เดือน ตั้งสำรองเพียง 50% และหนี้ค้างเกิน 12 เดือน ถึงจะตั้งสำรอง 100% ย่อมทำให้ธนาคารรัฐมีสถานะดีขึ้นทันที

เนื่องจากหากใช้เกณฑ์ตามมาตรฐานสากลของ ธปท. ถ้าธนาคารปล่อยสินเชื่อ 100 บาทแรก ต้องสำรองทันที 1% และถ้าเป็นหนี้ค้าง 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน จะต้องสำรอง 2% แต่ถ้าเป็นหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป ต้องสำรองเข้ม 100% เต็มเปรี๊ยะ

การเปลี่ยนเกณฑ์ตั้งสำรองที่ว่านี้ เมื่อผนวกกับการแก้หนี้ตามแผนฟื้นฟูทำให้ล่าสุดเอสเอ็มอีแบงก์ แจ้งว่า ยอดหนี้เสียลดลงเหลือ 3 หมื่นล้านบาทแล้ว

ขณะที่ไอแบงก์ก็เริ่มสบายตัว เพราะไม่ต้องตั้งสำรองเข้มตามเกณฑ์ ธปท. จึงเตรียมยื่นเรื่องขอกระทรวงการคลังดึงเงินที่ตั้งสำรอง 1.5 หมื่นล้านบาท กลับมาเป็นทุน ซึ่งจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ติดลบอยู่ 16.42% ตีกลับมาเป็นบวก 16% ทันที โดยที่กระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องใส่เงินเพิ่มทุนอีก 3,000 ล้านบาท ตามแผนเดิมที่เสนออีก!!!!!

การผ่อนเกณฑ์ดังกล่าวจะให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะไอแบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์ โดยจะมีระยะเวลาผ่อน 3 ปี เพื่อรอให้กรรมการผู้จัดการของธนาคารรัฐทั้งสองแห่ง ที่กำลังจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่องธนาคารเสียใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม

ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีลูกหนี้เป็นเกษตรกรไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ทุกเดือน ไม่เหมือนธนาคารรัฐแห่งอื่น จึงได้รับการยกเว้นจากการใช้เกณฑ์อยู่แล้ว

ประการต่อมา การยกเลิกมาตรการการกำกับที่เข้มงวดก็ทำประสิทธิภาพในการจัดการธนาคารรัฐด้อยประสิทธิภาพลง

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ชี้โพรงไปยังแนวทางการแก้เกณฑ์ในการกำกับธนาคารรัฐของ สศค.ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการซ่อนปัญหา และไม่มีเหตุผลรองรับว่า ทำไมแบงก์รัฐจึงต้องใช้เกณฑ์การกำกับที่อ่อนกว่าธนาคารพาณิชย์ ทั้งๆ ที่ทำธุรกิจลักษณะเดียวกัน

ธีระชัย บอกว่า การยอมรับปัญหาจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้ดีกว่าการซ่อนปัญหาไว้ โดยที่ไม่มีการแก้ไข

สำหรับเรื่องการแยกบัญชีพิเศษ หรือพีเอสเอนั้น มองว่า ต้นตอของปัญหา คือ ต้องถามว่าการเมืองมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องออกนโยบายเหล่านี้ออกมา ส่วนเรื่องการแยกบัญชีก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแต่เป็นปลายเหตุ

อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูแบงก์รัฐฉบับนี้ที่มีการแก้เกณฑ์การกำกับไม่เข้มงวดเท่าแบงก์พาณิชย์ ในอีกมุมหนึ่งอาจมีข้อดี คือ การปลดล็อกช่วยเรื่องการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ช่วยให้คนรากหญ้า คนยากจน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น

แต่จุดอ่อนที่เห็นจะจะ คือ การลดมาตรฐานในระบบการเงินการกำกับ อาจทำให้แบงก์รัฐอ่อนแอลงมากกว่า เพราะเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้การเมืองเข้าไปล้วงลูกขอสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น

เหมือนกรณีของ ธ.ก.ส.ที่เปิดโอกาสให้มีการแยกบัญชีพิเศษของสินเชื่อนโยบายรัฐ (พีเอสเอ) โดยให้สามารถนำผลเสียหายจากการปล่อยกู้ไปขอรับเงินงบประมาณชดชยจากคลังได้ภายหลัง

แต่ปัญหาที่ตามมา คือ การซุกซ่อนภาระไว้ เนื่องจากเงินชดเชยส่วนใหญ่ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังขอแปะโป้ง แล้วค่อยตั้งงบประมาณมาจ่ายเป็นรายปี

จนถึงขณะที่มีการประมาณการว่า หนี้พีเอสเอของธนาคารรัฐที่กระทรวงการคลังแปะโป้งไว้รวมกันน่าจะมีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เข้าไปแล้ว

มาตรการผ่อนปรนการกำกับการสำรองของกระทรวงการคลัง แม้อาจดูดีในฐานะผู้ถือหุ้น แต่ระยะยาวจะส่งผลให้ธนาคารรัฐจะหมดความน่าเชื่อถือลงไปทีละน้อย และอาจจะส่งผลถึงธนาคารรัฐที่ยังมีฐานะการเงินที่ดี เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อาจต้องได้รับผลกระทบไปด้วย หากภาพรวมของธนาคารรัฐของไทยอ่อนแอ ในที่สุดออมสินก็อาจถูกการเมืองเข้ามาดึงสภาพคล่องไปทำโครงการตามนโยบายรัฐบาลมากขึ้น จนคนอาจค่อยๆ หนีไปใช้บริการแบงก์พาณิชย์ที่ไม่ถูกการเมืองเข้าแทรกดีกว่า

จะเห็นว่า การแก้ปัญหาด้วยการกลบปัญหาเช่นนี้ของกระทรวงการคลัง เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่โปร่งใส พลิกลิ้นไปมา ขาดหลักการ ใช้วิธีแก้เกม โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากระบบระเบียบที่ผิดเพี้ยนของการทำงานในองค์กรของธนาคารรัฐยังไม่ถูกจัดการให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล

ที่สำคัญกระทรวงการคลังยังแก้เกณฑ์ เพื่อเปิดประตูก้มหัวให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกธนาคารรัฐได้ง่ายมากขึ้น มาตรการผ่อนเกณฑ์กำกับจึงเสมือนพ่อแม่รังแกฉัน

เชื่อแน่ว่าการแก้ปัญหาครั้งนี้ของกระทรวงการคลังไปไม่รอด อีกไม่นานปัญหาหนี้เน่าก็จะวนกลับมาที่เก่า และมีโอกาสที่ธนาคารรัฐจะเสียหายมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ท้ายที่สุดผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้กลับไม่ใช่กระทรวงการคลังฝ่ายเดียว แต่เป็นประชาชนผู้เสียภาษี ทั้งกลุ่มคนที่เคยกู้เงินและไม่เคยกู้เงินจากธนาคารรัฐมาใช้เลย ก็อาจต้องมาช่วยกันรับผิดชอบจากความผิดพลาดของนโยบายครั้งนี้ด้วยเช่นกัน