posttoday

รัฐบาลฝ่าด่านอรหันต์เงินกู้ 2 ล้านล้าน-ลงทุนน้ำ

25 กรกฎาคม 2556

จะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลก็ว่าได้ กับภารกิจท้าทายของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง

โดย...บากบั่น บุญเลิศ / จตุพล สันตะกิจ

จะเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลก็ว่าได้ กับภารกิจท้าทายของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่จะผลักดัน พ.ร.ก.การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ให้ลุล่วง

ทว่าภารกิจนี้เห็นทีจะต้องเหนื่อยหนักสาหัสไม่น้อย

“ในมุมหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ผมอยากวิงวอนท่านทั้งหลายที่เป็นผู้นำทางความคิดว่า ท่านจะมีความคิดเห็นการเมืองประการใดก็แล้วแต่ ก็ต่อสู้กันไปเถิด แต่ขอให้นึกถึงแง่มุมเศรษฐกิจด้วย เพราะจะส่งผลต่อการอยู่ดีกินดี การมีงานทำ และการเพิ่มรายได้ของประชาชน” กิตติรัตน์ ระบุ

นัยถ้อยคำพุ่งเป้าโจมตีฝ่ายคัดค้านการลงทุนโครงการน้ำและด้านขนส่งของรัฐบาลว่า เป็นพวกไม่คำนึงถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชน

“อย่าเป็นโรคลืมง่าย” กิตติรัตน์ สื่อถึงฝ่ายที่คัดค้าน และย้ำว่า หากการลงทุนระบบน้ำเนิ่นนานไป นักลงทุนจะไม่สบายใจ แต่การขยายกำลังการผลิตและการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ก็มีความเสี่ยง และอาจทำให้นักลงทุนเลือกไปตั้งฐานการผลิตที่อื่นๆ

วาดภาพให้กันเป็นฉากๆ อย่างนี้ ใครฟังก็มีอันต้องคล้อยตามกับหลักการและเหตุผล

ขณะเดียวกันก็ตีกันไปก่อนว่า หากรัฐบาลไม่สามารถเข็นเงินกู้ทั้ง 2 ชุด วงเงินร่วม 2.35 ล้านล้านบาทออกไปได้ จนทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาก็เพราะผู้คัดค้านนั่นแหละที่เป็นจระเข้ขวางคลอง

สอดคล้องกับผู้ควบคุมนโยบายและปฏิบัติการลงทุนเมกะโปรเจกต์น้ำ อย่าง ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งวันเร่งคืนเซ็นสัญญาการลงทุนระบบน้ำ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 เดือน จะทยอยเซ็นสัญญาจ้างเอกชนลงทุนโครงการน้ำได้

ปลอดประสพ ระบุว่า การลงทุนระบบน้ำทั้ง 9 แผนงาน (โมดูล) 2.84 แสนล้านบาท โครงการที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและชุมชน (เอชไอเอ) ก็ทำไป ซึ่งมีงาน 2 ส่วนเท่านั้น ที่ต้องทำอีไอเอและเอชไอเอ คือ การสร้างเขื่อน 20 แห่ง และการก่อสร้างฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตก ส่วนโครงการอื่นๆ ไม่ต้องทำ

เพื่อให้การทำอีไอเอและเอชไอเอเสร็จเร็วทันใจ ปลอดประสพ ใส่เกียร์ “ถ้าอีไอเอ เอชไอเอที่ทำมาแล้ว ไม่แตกต่างจากโครงการที่จะจ้างเอกชนก่อสร้าง ก็นำมาใช้เลย ไม่ต้องทำใหม่ แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญก็ต้องไปแก้ จากนั้นก็เซ็นสัญญากับเอกชนได้เลย ส่วนระบบคลังข้อมูลที่ไม่ต้องทำอีไอเอ จะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ แต่ตอนนี้มีคนไม่อยากให้ผมเซ็น”

ทว่าการลงทุนระบบน้ำที่กำหนดเป้าหมายก่อสร้างเสร็จภายใน 5 ปี กลับเต็มไปด้วยขวากหนาม ถูกตรวจสอบและสังคมจับตามองมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะการทุจริตและจะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร

สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ตั้งปมว่า การลงทุนโครงการน้ำ เช่น การสร้างเขื่อน จะต้องมีการอพยพย้ายคนออกจากพื้นที่หน้าเขื่อน แต่วันนี้ในหลายพื้นที่พบว่าประชาชนเขาต่อต้าน เขาไม่ยอมย้าย เพราะเมื่อย้ายเขาไปอยู่ที่อื่นแล้ว เขาไม่ได้รับการเยียวยาหรือชดเชยตามที่ส่วนราชการรับปากไว้ ตัวอย่างก็มีมาแล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำแม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่มีปัญหาจนถึงทุกวันนี้

สรุปได้ว่า รูปแบบการดำเนินโครงการที่ดูไม่ชอบมาพาพิกล ทั้งมีการตั้งคำถามว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาบางกลุ่มหรือไม่

ประกอบกับความไม่เชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างว่าจะได้รับการเยียวยาตามที่ภาครัฐรับปากไว้หรือไม่ เพียงแค่ 3 เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นด่านที่หนักหนาพอสมควรแล้วสำหรับรัฐบาล

ที่สำคัญรัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นว่า เมื่อมีการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่เหล่านี้ ซึ่งต้องใช้เงินภาษี 3.5 แสนล้านบาท และต้องมีภาระหนี้สินอีก 8 ปี จะป้องกันน้ำท่วมได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือไม่ นี่เป็นโจทย์ที่ยากยิ่ง

ไม่นับการปัดฝุ่นอีไอเอและอีเอชไอเอที่อยู่บนหิ้งมาใช้ สังคมจะเกิดข้อกังขาเพียงไหน

เช่นเดียวกัน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าหลักการโครงการที่คิดเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ซึ่งนั่นส่งผลให้ระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งของประเทศล้าหลัง ไม่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้

แต่เมื่อเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ในสายตารัฐบาล เหตุใดจึงต้องมีเสียงคัดค้านหนัก ตรงนี้ทำให้ต้องฉุกคิด

เหตุผลหลักๆ น่าจะเป็นเรื่องความคุ้มค่าการลงทุน เพราะการกู้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท แต่เป็นภาระให้คนไทยทั้งประเทศต้องใช้หนี้เป็นเวลา 50 ปี เบียดบังงบประมาณลงทุนด้านอื่นๆ จนหมดสิ้น โดยเฉพาะการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่มีคำถามตัวโตจากนักวิชาการหลายกลุ่มว่า “ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน”

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องวิธีการใช้เงินกู้ที่แฝงเร้นนอกเหนืองบประมาณปกติที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองถลุงเงิน

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า โครงการลงทุนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีเม็ดเงินกว่า 9 แสนล้านบาท ที่ยังไม่ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ที่เมื่อพิจารณาแล้วโครงการนี้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

หากต้องการให้โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง คุ้มค่าในปีแรกจะต้องมีผู้โดยสาร 9 ล้านคนต่อเที่ยวต่อปี แต่ต้องไม่ลืมว่าคนที่จะโดยสารรถไฟความเร็วสูงได้ต้องเป็นคนที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงขึ้นไป

“การลงทุน 2 ล้านล้านบาท ใน 7 ปี จะทำให้รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นปีละ 6.59% หากลงทุนคุ้มค่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 8.25% หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 54.7% ในปี 2563 แต่หากลงทุนไม่คุ้มค่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 7.5% หนี้สาธารณะจะสูงถึง 75% ต่อจีดีพี” สมชัย ระบุ

แม้ฝ่ายรัฐบาลจะแก้ว่า ความคุ้มค่าจากค่าโดยสารเป็นเรื่องรอง แต่สิ่งที่สร้างรายได้ให้โครงการคุ้มค่า คือ การพัฒนาเมืองรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงในหัวเมืองใหญ่ ทั้งเป็นการสร้างความเจริญเติบโตให้ภูมิภาค แต่ก็มีคำถามเช่นกันว่า คนที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไม่ใช่คนทั่วไป แต่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างหาก

นอกจากนี้ การลงทุนที่ผูกพันระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปี และเกินระยะเวลาในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ที่เหลือเวลาบริหารประเทศอีก 2 ปี จะขัดต่อหลักการบริหารประเทศตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่ และการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ นอกงบประมาณก้อนมหึมา จะต้องเข้าสู่ด่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

กว่าเงินลงทุนบาทแรกจะสะเด็ดน้ำ มีด่านอรหันต์ให้รัฐบาลต้องฝ่าฟันอีกเพียบ แถมแต่ละประเด็นก็ไม่ใช่เรื่องหมูๆ