posttoday

ญี่ปุ่นอัดฉีด อาเซียนเฮทัพซามูไรลงทุนมากขึ้น

24 กรกฎาคม 2556

เป็นไปตามคาดการณ์เมื่อพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น สามารถคว้าชัยในศึกเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้เกินครึ่งหนึ่ง หรือ 76 ที่นั่ง

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

เป็นไปตามคาดการณ์เมื่อพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น สามารถคว้าชัยในศึกเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้เกินครึ่งหนึ่ง หรือ 76 ที่นั่ง จากเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่เปิดให้มีการแข่งขัน 121 ที่นั่งโดยการคว้าชัยชนะเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้พรรครัฐบาลสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ไว้ได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าจะทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือ “อาเบะโนมิกส์” เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

ชัยชนะข้างต้นไม่เพียงจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่อเฉพาะประเทศญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ

เนื่องจากความเชื่อมั่นจากชัยชนะการเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นตัวผลักดันสำคัญที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นกล้าเดินหน้าใช้นโยบายกระตุ้น ทั้งทางนโยบายการเงิน และการคลัง มากยิ่งขึ้นไปอีกโดยเฉพาะการใช้นโยบายการเข้าซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่คาดว่าจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ลบ 0.3%เท่านั้น

ดังนั้น สภาพคล่องทางการเงินจากการอัดเม็ดเงินของนโยบายคิวอีเดือนละ 7 ล้านล้านเยน (ราว 2.1 ล้านล้านบาท) ของบีโอเจ ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องไหลทะลักเข้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างแน่นอน

เพราะนอกจากอาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจแล้ว ก็ยังเป็นฐานการลงทุนและการผลิต และการลงทุนที่นักธุรกิจจากญี่ปุ่นต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดีอีกด้วย ยืนยันได้จากคำกล่าวของ ทาโรอาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นที่กล่าวเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ภูมิภาคดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่ญี่ปุ่นจะต้องให้ความสำคัญต่อเพื่อช่วยผลักดันและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ปริมาณการลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ) ของญี่ปุ่น มายังอาเซียนในปี 2554 ก็เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่า 2 เท่าตัว ไปอยู่ที่ 1.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.88 แสนล้านบาท)

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เหล่าธนาคารจากแดนปลาดิบจะหันมาขยายการลงทุนด้านการเงินการธนาคารมาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งเมื่อช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาธนาคารยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น เช่น ธนาคารมิตซูบิชิยูเอฟเจ กับ ธนาคารซูมิโตโม มิตซุยได้เข้ามาซื้อหุ้นและกิจการธนาคารทั้งใน ไทย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม มากขึ้น โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกันไปแล้วทั้งสิ้น 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.4 แสนล้านบาท)

“ธนาคารญี่ปุ่นสามารถกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำจากในประเทศ แล้วมาปล่อยกู้ในภูมิภาคอาเซียนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าได้” อารอน แบล็ค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกของหนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอร์นัล กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มบริษัทประกันชีวิตในแดนปลาดิบก็เริ่มหันมามองโอกาสทางธุรกิจ จากช่วงจังหวะที่ญี่ปุ่นกำลังโหมกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก ด้วยการเพิ่มการลงทุน การเข้าซื้อธุรกิจประกันภัยในอาเซียนมากขึ้น โดยเห็นได้จากการที่ บริษัทประกัน ไดอิชิ ไลฟ์ อินชัวรันซ์ เข้าซื้อหุ้น 40% ใน บริษัทประกัน ปานิน ไลฟ์ ธุรกิจประกันภัยยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียเมื่อเดือนที่แล้ว ด้วยเงินทุนมูลค่ารวมกว่า 336.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 หมื่นล้านบาท)

ขณะที่บริษัทประกันภัยคู่แข่งอย่าง บริษัท เมจิ ยาซึดะ ไลฟ์ อินชัวรันซ์ ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะว่ากำลังเข้าใกล้เป้าหมายการเข้าซื้อหุ้น บริษัท ไทยประกันชีวิต จำนวน 15% ทุกขณะแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ(ราว 2.1 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ สภาพคล่องจากการอัดฉีดของแบงก์ชาติญี่ปุ่นก็ยังส่งผลดีต่ออาเซียนในแง่ของการเป็นแหล่งเงินทุนสำรองที่จะเข้ามาช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะเงินทุนไหลออกจากอาเซียนอีกด้วย หากว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกิดตัดสินใจชะลอหรือยุติการใช้นโยบายคิวอีเดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.55 ล้านล้านบาท) ขึ้นมาในอนาคตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาแสดงความกังวลต่อการดำเนินนโยบายอัดฉีด และลุยกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นว่าจะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างหนัก จนส่งผลเสียต่อการส่งออกสินค้าของประเทศอื่นๆ ทว่าผลกระทบเหล่านั้นกลับไม่ส่งผลเสียต่อประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มากเท่าไรนัก

เพราะสินค้าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นคู่แข่งกับสินค้าจากอาเซียนโดยตรง ขณะที่คู่แข่งโดยตรงที่จะได้รับผลกระทบจากเงินเยนอ่อนค่าจะไปอยู่ที่ เกาหลีใต้ มากกว่า เพราะสินค้าที่ส่งออกของแดนกิมจิล้วนเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และเครื่องจักรหนักที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นคู่แข่งของบริษัทในญี่ปุ่นโดยตรง

มิหนำซ้ำ สินค้าหลายประเภทในอาเซียนก็ยังเป็นส่วนประกอบและวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศสูงขึ้น รายได้ก็เพิ่มมากขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนั้นนักลงทุนญี่ปุ่นก็จะมีความมั่นใจมากขึ้นในการตัดสินใจขยายแผนการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ยิ่งเมื่ออาเซียนกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลาย 2558 นี้ ก็ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้มีความน่าสนใจในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น

เพราะภูมิภาคแห่งที่มีจีดีพีรวมกันกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนี้จะกลายเป็นฐานการผลิต และตลาดการค้าร่วมกัน รวมไปถึงการโยกย้ายแรงงานมีฝีมือใน 8 สาขาวิชาชีพในภูมิภาคให้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนของผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน การที่ พม่า หันมาดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองให้เป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ผลักดันให้นักลงทุนแดนปลาดิบหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรการผลิต และแรงงานที่มากล้น และการสร้างเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เห็นได้จากการที่กลุ่มนักธุรกิจขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับ 9 บริษัทของพม่าในการเข้าไปช่วยลงทุนและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมติละวา ทางตอนใต้ของนครย่างกุ้ง เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็เข้าไปให้เงินช่วยเหลือในโครงการดังกล่าวแล้วมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.5 หมื่นล้านบาท)

ดังนั้น ในอนาคตหลายฝ่ายคงจะได้มีโอกาสเห็นการลงทุนของทัพซามูไรเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน