posttoday

มังกร...ปรับกระบวนท่ายอมโตช้า-เลิกพึ่งพาภายนอก

16 กรกฎาคม 2556

นับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังเผชิญภาวะการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังเผชิญภาวะการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) แดนมังกรในไตรมาส 2 ที่เพิ่งผ่านมานั้นขยายตัวได้เพียงแค่ 7.5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปีก่อน (ขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1991) ขณะที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมาขยายตัวที่ 7.7% ส่วนดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยโตแค่ 8.7%

ไม่เพียงเท่านั้น ดัชนีชี้วัดอื่นๆ ของเศรษฐกิจแดนมังกรที่ออกมาก่อนหน้านี้ต่างก็ยืนยันไปในทิศทางดังกล่าวเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออกในเดือน มิ.ย. ที่ลดลงถึง 3.1% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ว่าจะเพิ่มขึ้น 4% ดัชนีภาคการผลิต (พีเอ็มไอ) ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องมาหลายเดือนติดต่อกัน โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัวได้เพียงแค่ที่ 50.1 จุด ขณะที่เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 50.8 จุด (ต่ำกว่า 50 จุด หมายความว่าหดตัว)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการชะลอตัวของจีน นอกจากจะเป็นผลพวงมาจากการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว อีกเหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือว่า จีนกำลังหันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด พร้อมกับมุ่งดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อหันมาสร้างฐานการบริโภคจากตลาดภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งพึ่งพาการส่งออก และการลงทุนขนาดใหญ่เป็นหลักมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของแดนมังกร ยืนยันได้จากถ้อยแถลงของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน ที่กล่าวกับเหล่ารัฐบาลท้องถิ่นไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า การบรรลุผลการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไม่จำเป็นต้องชี้วัดออกมาในรูปตัวเลขจีดีพีเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องหมายถึงการพัฒนาความกินดีอยู่ดีของประชาชน การพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ส่วนก่อนหน้านั้นไม่นาน นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ก็เคยพูดเช่นกันว่าจะยอมให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนโตในอัตราที่ช้าลง เพื่อแลกกับการปฏิรูป และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

การปรับเปลี่ยนและแปลงโฉมหน้าเศรษฐกิจของจีนนั้นไม่ใช่ออกมาเพียงเฉพาะแค่คำพูดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจังอีกด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดจากกรณีที่ทางการจีนปฏิเสธที่จะอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบการเงิน หลังจากที่ดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารจีนพุ่งสูงขึ้นเป็นสถิติเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

สิ่งที่ทางการจีนทำไปทั้งหมดนั้นก็เพื่อสร้างบทเรียนให้เหล่าธนาคารและเหล่าสถาบันการเงินให้รู้จักกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่เคยชินกับการเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่เกิดจากการกระตุ้นและอัดฉีดจากรัฐมาโดยตลอด จนก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียพุ่งสูงขึ้นอย่างหนัก

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น คณะรัฐมนตรีของจีนก็เพิ่งจะตัดสินใจออกมาตรการในการลดการอัดฉีดและสนับสนุนทางการเงินให้กับภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เนื่องจากจีนต้องการจะลดปริมาณการลงทุนและการผลิตที่มากล้นเกินกว่าความต้องการของตลาดในปัจจุบันลงมา และหันไปให้ความสำคัญกับการลงทุนและช่วยเหลือในภาคอุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และสามารถผลักดันการพัฒนาและเสริมการบริโภคภายในประเทศมากกว่าแทน

ส่วนก่อนหน้านี้ ทางการจีนก็ได้หันมาเพิ่มรายได้ และค่าแรงของชาวจีน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับชาวมังกรมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังยอมปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นมา ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมกับการลดกฎระเบียบข้อจำกัดในการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ให้เกิดความสะดวกในการตัดสินใจลงทุนในประเทศมากขึ้น เพื่อรองรับกับการกระตุ้นการบริโภคจากตลาดภายในประเทศ

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าการปฏิรูปและพลิกโฉมโมเดลเศรษฐกิจจีนจะเพิ่งเริ่มต้นมาได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น แต่อย่างน้อยดอกผลของความตั้งใจของผู้นำรุ่นที่ 5 ที่เพิ่งจะขึ้นมาบริหารประเทศในเดือน มี.ค. ก็เริ่มจะผลิดอกออกผลมาให้เห็นกันบ้างแล้ว เช่น การใช้จ่ายและการบริโภคภายในที่เริ่มสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนออกมาในตัวเลขยอดการค้าปลีกภายในของเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โตได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 13.3% ส่วนเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 12.9%

สอดรับกับยอดขายรถยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 12% ไปอยู่ที่ 10.7 ล้านคัน ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปียอดขายจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว

ดังนั้น จึงทำให้หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์กันว่าอนาคตต่อจากนี้ไป โอกาสที่จะได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างร้อนแรงด้วยอัตราเลขสองหลัก จะไม่มีให้เห็นอีกแล้ว และที่ยิ่งไปกว่านั้น การเติบโตอาจจะชะลอตัวลงมากกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 7.5% เลยด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ โหล่วจี้เหว่ย รัฐมนตรีคลังจีน ว่ารัฐบาลจะไม่ลุยกระตุ้นเหมือนในอดีต พร้อมเผยอีกว่าการขยายตัวในปีนี้อาจอยู่ที่ 7%

อย่างไรก็ตาม แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะเป็นสิ่งที่ฟังดูแล้วไม่ชวนให้น่าฟังมากนัก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ และวัตถุดิบไปจีน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ทว่าในอีกมุมหนึ่งการที่จีนหันมาปรับเปลี่ยนแนวทางการเติบโต ด้วยการสร้างฐานตลาดภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น ก็ถือเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักลงทุน และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน

เพราะเมื่อใดที่คนจีนเริ่มมีรายได้มากขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดแดนมังกรพุ่งสูงขึ้นจากปัจจุบันไปอีกหลายเท่าตัว ซึ่งในรายงานของยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คาดการณ์ว่า ในปี 2020 จำนวนชนชั้นกลางในจีนจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 50-60% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือที่ 700-800 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ของประชากร หรือที่ 300 ล้านคน

ขณะที่รายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านประชากรแห่งชาติจีน เผยว่า รายได้โดยเฉลี่ยต่อปีของคนจีนจะเพิ่มขึ้นจาก 11,800 เหรียญสหรัฐ ไปอยู่ที่ 17,700 เหรียญสหรัฐ ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เหล่าบริษัท และผู้ประกอบการธุรกิจจำพวกสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคหลายรายจากต่างชาติจะหันมาให้ความสำคัญกับตลาดเมืองจีนมากขึ้น แม้จะรู้ว่าการเติบโตของจีดีพีจีนจะโตได้ช้าลง เห็นได้จากบริษัท เดียเนส กรุ๊ป จากเยอรมนี ผู้ผลิตใบมีดที่ใช้ในเครื่องใช้ประจำวันต่างๆ เช่น เครื่องตัดกระดาษ ได้รับยอดสั่งซื้อจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยขึ้นมาอยู่ที่ 3.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ล่าสุด บริษัท เอสเค กรุ๊ป ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าของรถยนต์จากเกาหลีใต้ ก็เพิ่งจะเซ็นสัญญาลงทุนตั้งโรงงานโดยร่วมกับนักลงทุนของจีนในกรุงปักกิ่ง ด้วยจำนวนเงินกว่า 160 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อตอบรับกับความต้องการของชาวจีนที่คาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต

“โครงการการลงทุนของเราส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าชาวจีนเป็นหลัก และเราจะไม่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สามอีก เพราะเรากำลังจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของจีนในรูปแบบใหม่” จุงมินยู โฆษกของบริษัท เอสเค กรุ๊ป กล่าว

ด้วยเหตุนี้ มุมมองที่มองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในเอเชียนั้น อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ เพราะการชะลอตัวที่เกิดขึ้นนั้นกำลังจะนำพามังกรจีนตัวนี้ไปสู่การพัฒนาและการเติบโตที่ยั่งยืนกว่า ซึ่งนั่นก็จะหมายถึงผลประโยชน์ และโอกาสทางการค้าก้อนมหาศาลที่จะตามมา

เพราะการพึ่งพาการค้า และการส่งออกกับต่างชาติมากเกินไปที่ผ่านมานั้น จีนได้ตระหนักแล้วว่าไม่ใช่แนวทางการเติบโตที่จีรังยั่งยืนอีกแล้ว