posttoday

ลุยสร้างหนี้เกินตัวพาประเทศลงเหวแน่

16 กรกฎาคม 2556

ถึงแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีระดับหนี้สาธารณะเพียง 44.2% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ยังไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่ 60% ของจีดีพี

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

ถึงแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีระดับหนี้สาธารณะเพียง 44.2% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ยังไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่ 60% ของจีดีพี แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง หนี้ที่เคยต่ำอาจจะพุ่งปรี๊ดสร้างปัญหาได้ไม่ยากเย็น

ระดับหนี้สาธารณะจึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะต้องเพิกเฉยและมองข้ามไป

เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมักคาดการณ์ระดับหนี้ต่อจีดีพีในกรณีที่เศรษฐกิจเติบโตตามปกติ ไม่ได้คิดเผื่อหรือรองรับกรณีเลวร้ายที่อาจจะเกิดจากปัญหาหรือวิกฤตเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจชะลอไว้เลย

ที่สำคัญยังมีหนี้ที่ซุกไว้นอกงบประมาณที่ยังไม่นำมานับจำนวนมาก ระดับของปัญหาจึงเพียงแค่รอให้น้ำลดแล้วตอผุดเท่านั้นเอง

ไหนจะมีภาระที่รัฐบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต ผ่านการลงทุนรัฐวิสาหกิจที่อาจจะขาดทุนหรือกำไร ภาระรายจ่ายผ่านกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนน้ำมันฯ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ

ที่น่าห่วงไปกว่านั้นดูเหมือนว่าในภาวการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ รัฐบาลยังไม่ได้มีการเตรียมการรองรับรายได้ภาษีที่จะลดลงจากการเปิดการค้าเสรี เศรษฐกิจชะลอ และฐานภาษีที่ลดลงของภาคธุรกิจที่ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ และจากปัญหาอื่นๆ เลย

วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่ 5.12 ล้านล้านบาท หรือ 44.2% ของจีดีพีไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในอนาคตไทยอาจเผชิญหน้ากับ Fiscal Cliff หรือหน้าผาการคลังได้

ปัจจัยที่ทำให้ไทยเดินลงเหวโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวประกอบด้วย

1.การติดกับดักนโยบายประชานิยม ที่ทุกคนให้ความสำคัญกับการให้ได้รับเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งกลางและท้องถิ่น ทำให้เดิมประชานิยมเริ่มแรกมักให้ตามปัจจัยพื้นฐาน แต่ปัจจุบันขยายมาให้เกินปัจจัยพื้นฐาน

ถ้าการแข่งขันให้ได้รับเลือกตั้งในลักษณะนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นโยบายประชานิยมอาจจะยิ่งเลิกอยาก เนื่องจากมีความเสียหายมาเกี่ยวข้อง จะเลิกได้ก็ต่อเมื่อเสียหายสูงๆ แล้ว แถมโครงการในนโยบายประชานิยมยังไปเบียดงบการใช้จ่ายประจำและงบเพื่อการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย จนต้องหาช่องทางไปกู้เงินหรือหาช่องไปออกกฎหมายพิเศษแทน

2.ไทยไม่มีแนวนโยบายเพื่อการพัฒนาหรือยกระดับการแข่งขันของประเทศ และยังไม่มีแนวนโยบายเพื่อรองรับการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ลดลง เพราะมัวแต่ไปมุ่งทำนโยบายระสั้นอย่างนโยบายประชานิยม สะท้อนได้จากในระยะ 34 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการแข่งขันเรื่องสำคัญๆ ของไทยไม่เพิ่มขึ้นเลย ขณะที่เพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นสูงมาก รัฐบาลไม่ได้ลงทุนหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา กฎหมายธุรกิจคนต่างด้าว เพื่อรองรับการค้าเสรีเลย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่ได้ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันประเทศในระยะยาว หรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจไทยด้วย แถมในบางอุตสาหกรรมภาครัฐยังทำตัวเป็นคู่แข่งธุรกิจภาคเอกชนด้วย เช่น ในอุตสาหกรรมข้าว ที่ทำโครงการรับจำนำระบายขายข้าวเอง ธุรกิจธนาคาร ก็มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจมาแข่งกับธนาคารพาณิชย์ โดยมีข้อได้เปรียบในการระดมเงิน ทำให้ธนาคารของรัฐเติบโตจากเดิม 810% เพิ่มเป็นกว่า 30% ในปัจจุบัน

แปลว่าธนาคารของรัฐกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของตลาดการเงิน ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้กำหนดตลาดเช่นเดิม

ที่สำคัญ รัฐไม่มีแผนการจัดเก็บภาษีเพิ่มทดแทนรายได้ภาษีที่จะลดลง ขณะที่การย้ายฐานที่ตั้งธุรกิจไปต่างประเทศ เพราะนโยบายค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการบางส่วนที่เคยเลือกไปตั้งธุรกิจในที่ห่างไกลเพื่อพึ่งค่าแรง ก็ไม่กระจายออกไป กลายเป็นว่านโยบายรัฐไม่เอื้อต่อการแข่งขันธุรกิจของภาคเอกชน

3.รัฐบาลไม่มีการวางแผนรองรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ที่ต่อไปกองทุนประกันสังคมจะมีภาระรายจ่ายเพิ่มขึ้น แต่เก็บเงินสมทบได้ลดลง เพราะวัยแรงงานน้อยลง แต่ผู้สูงอายุที่รอใช้สวัสดิการจะเพิ่มขึ้น

สถานการณ์เหล่านี้ยังทำให้ครัวเรือนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุมีการใช้จ่ายและการออมลดลง ทำให้กลไกที่จะหวังพึ่งพาบริโภคของภาคครัวเรือนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนภาคอื่นที่จะลดลงก็หวังไม่ได้

4.ความสามารถและประสิทธิภาพของผู้นำทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการที่จะมาคิดนโยบายที่จะรองรับการเติบโตในระยะยาวลดลง เพราะระบบการเมืองและราชการมุ่งทำมาตรการระยะสั้นมากกว่า จนหอการค้าไทยต้องจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเอง แสดงว่าไม่มั่นใจแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐหรือไม่

ที่มากไปกว่านั้นคือ ปัญหาคอร์รัปชั่นยังทำลายระบบการทำงานของราชการและธุรกิจเอกชน ทำให้ข้าราชการระดับสูงที่มีความสามารถไม่ได้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ แต่ข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญก็ไม่แสดงผลงานอะไรให้สังคมประจักษ์ว่ามีความสามารถ โดยเฉพาะในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ

นี่อาจจะเป็นระเบิดเวลาอีกลูกได้

5.รัฐบาลไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารความเสี่ยงของภาครัฐรองรับกรณีเลวร้ายหรือเกิดวิกฤต ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลงหรือมีความผันผวนสูง รวมถึงมีภัยธรรมชาติที่ไม่คาดคิด เช่น สึนามิ น้ำท่วม โลกร้อน ฯลฯ ที่ถือเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อรายได้และรายจ่ายของภาครัฐในอนาคต

เมื่อวิเคราะห์ในแง่มุมเหล่านี้แล้ว ทำให้เห็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเดินลงเหวหรือติดกับดักหนี้สาธารณะชัดเจนขึ้น

ยิ่งหากรัฐบาลยังมีแนวคิดจะเพิ่มภาระรายจ่าย และยังไม่เตรียมหาทางออกให้กับปัญหาการจัดเก็บรายได้ภาษีที่จะลดลงในอนาคต

หุบเหวข้างหน้าคงไม่ไกลหากรัฐไทยยังไร้แผนรองรับอนาคต

ข้อพิเคราะห์ดังกล่าวนั้น แม้แต่ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร ก็เห็นพ้องว่า ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันไม่ได้เป็นปัญหา และไม่เกินกรอบวินัยการคลัง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลังๆ รัฐบาลมีความพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะใช้เงินนอกงบประมาณมาใช้ เพื่อลดข้อจำกัดกรอบวินัยการคลัง ไม่ว่าการใช้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำโครงการรับจำนำข้าวหรืออุดหนุนสินค้าเกษตร ซึ่งไม่รู้เลยว่าภาระในส่วนนี้ที่รัฐต้องอุดหนุนมีเท่าไหร่

“การใช้เงินนอกงบประมาณ ทั้งผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ผ่านรัฐวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ใช้เงินลงทุน หนี้ในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นที่กู้มาใช้ก็เพิ่มมากขึ้น หนี้สาธารณะที่ผ่านมามีภาระกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนน้ำมันฯ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ฯลฯ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะอีกเท่าไร ซึ่งภาระเหล่านี้อาจจะยังไม่รวมอยู่ในภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบันทั้งหมด และยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอีก ตัวเลขหนี้ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไป”

ฉะนั้น รัฐบาลควรดูช่องว่างของหนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดด้วย

ข้อวิเคราะห์ข้างต้นถือว่าไม่ได้มองในแง่ร้ายที่เกินเลย เพราะถ้ารัฐบาลยังมุ่งหน้าก่อหนี้ทั้งในและนอกงบประมาณอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยไร้แผนรองรับด้านรายได้ภาษี

โอกาสที่ประเทศไทยจะเดินลงเหวตกหน้าผาคงเกิดขึ้นได้จริง