posttoday

กลไกรัฐง่อยเปลี้ยเสียขาหมดแรงพยุงเศรษฐกิจ

12 กรกฎาคม 2556

ต้องยอมรับว่า ถึงขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังมุ่งเข้าสู่ภาวะซวนเซเสียแล้ว โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ที่มีการฟันธงแล้วว่าน่าจะเป็นจุดที่ตกต่ำที่สุดของปีนี้

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ต้องยอมรับว่า ถึงขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังมุ่งเข้าสู่ภาวะซวนเซเสียแล้ว โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ที่มีการฟันธงแล้วว่าน่าจะเป็นจุดที่ตกต่ำที่สุดของปีนี้

ปรากฏการณ์ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก็ระบุชัดว่าจะเฝ้าจับตาสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 เนื่องจากฐานปีก่อนค่อนข้างสูง จึงอาจทำให้ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นไตรมาสที่แย่ที่สุด

ดัชนีการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร มูลค่าการส่งออก ดิ่งหัวลงแทบทุกตัว ส่งผลให้ต้องปรับตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวในช่วง 4.2-5.2%

แม้แต่กระทรวงการคลังที่เป็นหัวรถจักรหลักในการกำหนดแนวทางกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศก็ยังยอมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.3% หรือมีช่วงคาดการณ์ 4.8-5.8% เหลือขยายตัว 4.5% และมีช่วงคาดการณ์ 45%

กระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก 14 ประเทศชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้มาก จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก

นี่คือเหตุผลที่ทำให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดการขยายตัวของการส่งออกจาก 9% เหลือเพียง 5.5%

ทุกสำนักต่างระบุชัดว่า เครื่องยนต์ที่ใช้พยุงเศรษฐกิจ อันได้แก่ การบริโภค การลงทุน การส่งออก การลงทุนภาครัฐ ทุกตัวพากันเดี้ยงไปหมด ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศรุมเร้า และโอกาสที่ฟื้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศในช่วงที่เหลือก่อนสิ้นปีนี้ดูท่าจะยาก

ส่วนหนึ่งนั้นเป็นไปได้ว่าการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ดาหน้าออกอาวุธกระหน่ำลงไปแบบไม่ยั้งในช่วงปีก่อนหน้า

เมื่อผสานกับการทำงานของทีมเศรษฐกิจที่ทำงานแบบของใครของมัน ขาดการเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน ขาดการทำงานที่มองไปให้รอบด้าน

ที่สำคัญขาดการมอนิเตอร์และประเมินผลต่อนโยบายที่อัดฉีดลงไป ทำให้เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนมาดีๆ พากันดิ่งลงเหว

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการโหมกระหน่ำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจลงไปสะท้อนจากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะโครงการรถคันแรก ทำให้คนที่ติดกับดักหนี้เริ่มหันมาประหยัดรายจ่าย

ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินกว่า 6.2 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้สร้างปาฏิหาริย์ให้ชาวนาหันมาจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่หวัง

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ติดๆ ดับๆ เช่นนี้จึงอันตรายอย่างยิ่งที่บรรดาผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัว

เพราะจะหวังพึ่งเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายคือ “การลงทุนจากภาครัฐ” ที่ตั้งงบรายจ่ายไว้ 2.4 ล้านล้านบาท แยกเป็นงบประจำ 1.9 ล้านล้านบาท และงบลงทุน 4.5 แสนล้านบาท ก็ดูจะใกล้หมดแรงทุกที

ล่าสุด ครม.ต้องออกมติมาขันนอตหน่วยงานราชการให้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังค้างท่ออีกกว่า 1.5 แสนล้านบาท ให้ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดโทษว่า หากหน่วยงานไหนไม่สามารถยื่นเรื่องเบิกจ่ายได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ จะต้องถูกตัดงบทันที ก็ดูเหมือนจะเป็นคำขู่

เห็นได้ชัดจากการขอมติยืดเวลาให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างออกไปถึงเดือน ก.ย.โน่น การอัดฉีดเงินลงทุน เงินงบประมาณ จึงติดๆ ขัดๆ

ครั้นจะมาหวังว่ารัฐบาลจะใช้ “นโยบายกึ่งการคลัง” อัดฉีดเงินผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐด้วยการเร่งอนุมัติสินเชื่อเข้าสู่ระบบในยามที่ทุกอย่างชะงักงันก็เลิกหวังกันได้

เพราะผลจากการที่ผู้กำกับนโยบายไม่ประสีประสาในการทำงาน ส่งผลให้กลไกแบงก์รัฐที่เคยใช้เป็นตัวพยุงเศรษฐกิจมานานนับ 10 ปี ในยามนโยบายการคลังบ้อท่าก็พากันเดี้ยง

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งเป็นเสมือนผู้ชุบชีวิตและต่อท่อเงินไปหล่อเลี้ยงเอสเอ็มอีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศร่วม 2.4 ล้านราย ปัจจุบันลำพังจะดูแลตัวเองก็ยากเย็นแสนเข็ญ ไม่ต้องนึกว่าจะเดินหน้ากอบกู้ผู้อื่น

ปัญหาหนี้เสียกว่า 3 หมื่นล้านบาท ยังคาราคาซัง กรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนให้องค์กรเดินไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จนบัดนี้ผ่านมาร่วม 2 ปีก็ยังไม่มีหัวเรือ

เอสเอ็มอีแบงก์จึงไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลเรื่องขึ้นค่าแรง 300 บาทได้

สะท้อนจากยอดปล่อยกู้ในครึ่งปีแรกทำได้ไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท

และหากหักยอดสินเชื่อที่ลูกหนี้ขอย้ายไปใช้บริการแบงก์อื่น และลูกหนี้ที่ชำระหนี้ครบกำหนดชำระหนี้แล้ว เชื่อว่ายอดสินเชื่อที่มีการอนุมัติจริงให้กับลูกหนี้รายใหม่คงอยู่ที่หลักพันล้านบาทเท่านั้น

ครั้นจะมาหวังธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ก็พังพาบมานานนับปี เพราะหนี้เสีย 3.9 หมื่นล้านบาท วันนี้เพิ่งมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง หลังกรรมการผู้จัดการคนล่าสุด คือ ธานินทร์ อังสุวรังษี ยื่นใบลาออกไปเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

นี่คือผลจากการที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ละเลยกับการกำกับทางนโยบายอย่างจริงจัง ทำให้ธนาคารที่รัฐถือหุ้นอยู่แก้ปัญหาตัวเองไม่จบ ปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่ได้

มีแค่หน่วยงานเดียวที่รัฐบาลใช้อย่างเต็มที่ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่รัฐบาลดึงไปช่วยโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผลที่ตามมาคือ ปัจจุบันธนาคารแห่งนี้นำเงินสภาพคล่องออกไปดูแลจำนำข้าวเพียงกลุ่มเดียวทะลุไป 2.6 แสนล้านบาท โดยที่รัฐบาลไม่สามารถนำเงินจากการระบายข้าวมาคืนให้ธนาคารตามกำหนด

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ที่จะเอาไปปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรกลุ่มอื่นที่ไม่ได้ปลูกข้าวจึงสะดุดเป็นโดมิโน่

ฟากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็แทบไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะเจอพิษรถคันแรก ทำให้คนหมดเครดิตในการกู้ซื้อบ้านใหม่ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ออกมาปรามให้แบงก์ทั้งระบบลดการชูโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% ทำให้ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยแทบจะหมดมนต์ขลังไปโดยปริยาย

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ที่ปล่อยกู้ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ หลังการส่งออกยังหดตัวตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก

เหลือเพียงธนาคารออมสินแห่งเดียวที่ดูมีสุขภาพแข็งแรงกว่าใคร แต่ก็โดนดูดสภาพคล่องไป ทำโครงการรัฐไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยกู้ ธ.ก.ส. ในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 1 แสนล้านบาท และเข้าประมูลพันธบัตร โครงการน้ำร่วม 2 แสนล้านบาท

จะเห็นได้ว่ากระสุนและเครื่องมือของรัฐบาลในการงัดออกมาสู้กับศึกเศรษฐกิจในยามนี้พากันเดี้ยงไปหมดแทบไม่เหลือกำลังที่จะใช้นโยบายกึ่งการคลังออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อเครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวพิกลพิการไปเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปคนไทยคงต้องพึ่งตัวเอง