posttoday

บึ้มรับรอมฏอนสันติภาพอาจถึงทางตัน

12 กรกฎาคม 2556

เข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอนห้วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับการประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอนห้วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับการประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม ที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจะเห็นความสงบสุขปราศจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่สัญญาณที่ปรากฏออกมาเวลานี้ยังไม่อาจมั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น

ช่วงเช้าวันที่ 11 ก.ค. วันที่ 2 ของเดือนรอมฎอน เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดบนถนนในพื้นที่บ้านบารอ ต.บารอ อ.รามัน จ.ยะลา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารจากร้อย ร.15234 หน่วยเฉพาะกิจที่ 12 ยะลา บาดเจ็บเล็กน้อย

แม้ทางเจ้าหน้าที่จะวิเคราะห์ว่าเป้าหมายเป็นไปเพื่อต้องการก่อกวนมากกว่าจะหวังก่อเหตุรุนแรง แต่ก็ไม่อาจยืนยันถึงสถานการณ์ในอนาคตว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่

เส้นทางการเจรจาสันติภาพที่เคยเป็นความหวังว่าจะเป็นช่องทางนำไปสู่ความสงบในพื้นที่ เวลานี้กำลังเผชิญหน้ากับ “ทางตัน” และไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เงื่อนไข 6 ข้อ ที่ “ฮาซัน ตอยิบ” ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น เรียกร้องมายังรัฐบาลไทยในรูปแบบคำประกาศของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ครั้งที่ 4 ผ่านยูทูบ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นเงื่อนมัดให้ทุกอย่างขยับได้ยาก

ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนกำลังทหาร ตำรวจ ออกจากพื้นที่กลับไปอยู่ในค่าย และไม่สามารถโจมตี การสกัดถนน และการจับหรือควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะต้องให้นายกฯ ไทยลงนามและประกาศรับรองให้ชัดเจน

ท่าทีของรัฐบาลไทยซึ่งไม่ยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ จึงกลายเป็นข้ออ้างที่ฝั่งตรงข้ามหยิบยกขึ้นมาโจมตีว่ารัฐบาลไทยไม่มีความจริงใจ ที่จะร่วมมือแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

ทั้งที่ชัดเจนว่าการเสนอเงื่อนไขทั้ง 6 ข้อดังกล่าว เป็นการหาความชอบธรรมให้กับตัวเอง ด้วยการตั้งเงื่อนไขแบบสุดโต่ง ที่รู้อยู่แล้วว่าฝ่ายไทยไม่มีทางยอมรับปฏิบัติตามแน่นอน เพื่อจะได้โยนความผิดทั้งหมดว่าเป็นของฝ่ายไทย

แถมยังเป็นการหาช่องปกป้องตัวเอง ไม่ต้องมาแบกรับภาระใหญ่ ซึ่งความแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่มในขบวนการบีอาร์เอ็น ทำให้ไม่สามารถควบคุมสั่งการทั้งหมดได้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งตัวแทนคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย จึงยกโจทย์ยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนขึ้นมาเป็นบททดสอบบีอาร์เอ็น

เหตุการณ์เริ่มอึมครึมเพิ่มขึ้น เมื่อทางฝ่ายมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพเลื่อนกำหนดการ ซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็นจะแถลงหยุดก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เป็นการเลื่อนกำหนดกะทันหัน ไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะถึงกำหนดเวลาเดิม

สัญญาณนี้จึงดูจะไม่สู้ดีนักกับเส้นทางสู่สันติภาพ เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การแถลงข่าวของมาเลเซียต้องถูกยกเลิกจะเป็นเรื่องของการสื่อสารภายในของบีอาร์เอ็น ซึ่งฮาซัน ตอยิบ ตัวแทนพูดคุยก็ยอมรับเองว่า เขาเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ในขบวนการ ซึ่งหมายถึงว่ามีเสียงจากอีกบางกลุ่ม ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยนั่นหมายถึง บีอาร์เอ็นก็ไม่มั่นใจว่าจะคุมกันเองได้ 100% ซึ่งหากถูกมาเลเซียลากมานั่งแถลงข่าวก็เท่ากับหาเรื่องผูกมัดตัวเองเอาไว้กับคำแถลง

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ข้ออ้างซึ่งบีอาร์เอ็นระบุว่า ไม่มั่นใจต่อความจริงใจของฝ่ายไทยที่ยังคงมีการตรึงกำลังในหมู่บ้าน มีการตั้งด่านตรวจค้น ดังป้ายผ้าที่ปรากฏทั่วพื้นที่ชายแดนภาคใต้กว่า 100 จุด ซึ่งฝ่ายไทยวิเคราะห์ว่า การกล่าวหาถึงความจริงใจของไทย ก็เพื่อเบี่ยงประเด็นไม่ให้ถูกตั้งคำถามถึงการที่บีอาร์เอ็นไม่สามารถคุมกันเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ข้อเรียกร้องยุติความรุนแรงเป็นจุดแข็งของฝ่ายไทย เพราะตรงกับความต้องการของประชาชนกว่า 1.8 ล้านคน ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการโต้กลับแบบนุ่มนวลหลัง ฮาซัน ตอยิบ เปิดเกมรุกแถลงข้อเรียกร้องผ่านยูทูบมาแล้วถึง 4 ครั้ง การเดินเกมของฝ่ายไทยครั้งนี้ ตัวแทนของมาเลเซียสนับสนุนอย่างเต็มที่ ถึงขั้นระบุในแถลงการณ์ร่วมหลังการพูดคุยครั้งล่าสุดว่า เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

ระเบิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา วันที่ 11 ก.ค. แม้จะเป็นการแสดงศักยภาพของบีอาร์เอ็น แม้จะอ้างได้ว่าเป็นการกระทำของบางกลุ่มที่ไม่พอใจต่อท่าทีซึ่งไม่จริงใจของฝ่ายไทย แต่ถึงที่สุดแล้วบีอาร์เอ็นอาจกำลังเข้าสู่ภาวะตกที่นั่งลำบาก ด้านหนึ่งไม่กล้าขัดใจกองกำลังบางกลุ่ม ด้านหนึ่งพยายามปกปิดความไม่เป็นเอกภาพอันนี้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งอาจถูกมาเลเซียบีบให้จำยอมทำข้อตกลงยุติการก่อเหตุรุนแรง

แต่ไม่ว่าสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่ทั้งไทยและมาเลเซียกดดันต่อบีอาร์เอ็นนั้น จะทำให้ความแตกแยกในบีอาร์เอ็นปะทุขึ้นโดยกลุ่มย่อยต่างๆ ไม่ยอมรับอำนาจสั่งการของสภาองค์กรนำหรือไม่ อาจเป็นความสำเร็จที่สลายความเข้มแข็งของฝ่ายตรงข้ามได้ แต่ยิ่งแตกก็ยิ่งคุมไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายฝ่ายไทยก็จะต้องแบกรับโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่ผู้ร่วมพูดคุยไม่สามารถควบคุมอะไรได้แล้ว

ช่วงเวลานับจากนี้ แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องกลับมาครุ่นคิดทบทวนกันใหม่ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เมื่อเส้นทางเจรจาสันติภาพขณะนี้กำลังเดินทางมาถึงทางตัน