posttoday

ศก.โลกดิ่งหนัก"แรงขับเคลื่อนตลาดเกิดใหม่"ฟุบ

11 กรกฎาคม 2556

นับตั้งแต่ล่วงเข้าสู่หลักไมล์ของช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นมา สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกดูจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปอย่างชัดเจน

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นับตั้งแต่ล่วงเข้าสู่หลักไมล์ของช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นมา สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกดูจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จากที่เคยเป็นความหวังว่าการเติบโตอย่างร้อนแรงจะช่วยดึงให้เศรษฐกิจโลกพอที่จะเดินไปข้างหน้าได้บ้าง ก็กลับกลายมาเป็นความผิดหวัง และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยนอกเหนือจากสหรัฐ ยุโรป ที่เข้ามาเหนี่ยวรั้งการเติบโตของโลกเข้าไปอีก

เพราะไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย ต่างเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน ยืนยันได้จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาตัดลดจีดีพีกลุ่มประเทศดังกล่าวในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 5.0% จากเดิมที่ 5.3%

ขณะเดียวกัน ผลพวงจากการชะลอตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ก็ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปีนี้เช่นกัน โดยไอเอ็มเอฟ ตัดลดลงมาอยู่ที่ 3.1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ 3.3%

การส่งสัญญาณถึงการเติบโตที่น้อยลงกว่าที่คาดการณ์ของบรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่การชะลอตัวลงแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการชะลอตัวลงในระยะยาว ซึ่งนี่ถือเป็นตัวบ่งชี้แล้วว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไม่ได้มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งจริง และเพียงพอที่จะเป็นฮีโร่แห่งความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้อย่างแท้จริง

เพราะถึงแม้ว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะหันมาตระหนักถึงความสำคัญกับการสร้างฐานบริโภคภายใน และทำการปฏิรูปในหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เช่น จีนกับอินเดีย แต่ต้องยอมรับว่าหลายประเทศยังคงต้องอาศัยและพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอยู่มาก โดยเฉพาะตลาดบริโภคสำคัญอย่างในประเทศตะวันตก

เนื่องจากพลังซื้อจากตลาดภายในประเทศยังไม่มากพอ เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (GDP PER CAPITA) ต่อปี ยังคงต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตกมาก โดยจีน อยู่ที่ 8,442 เหรียญสหรัฐต่อหัว แอฟริกาใต้ อยู่ที่ 11,959 เหรียญสหรัฐต่อหัว ขณะที่สหรัฐ อยู่ที่ 48,481 เหรียญสหรัฐต่อหัว เยอรมนี อยู่ที่ 39,413 เหรียญสหรัฐต่อหัว

ไม่เพียงเท่านั้น การมุ่งเดินหน้าปฏิรูปโมเดลเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น จีน ที่หันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคภายในมากขึ้น ก็คาดว่ายังคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าสิ่งที่ทำลงไปจะผลิดอกออกผลมาให้เห็น อีกทั้งก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ยังคงส่อแววจะยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยูโรโซนนั้นคาดว่าจะยังคงจมอยู่ในภาวะถดถอยต่อไป จึงทำให้การเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เข้าสู่ภาวะซบเซาไปอีกพักใหญ่ๆ

ยืนยันได้จากตัวเลขการส่งออกของจีนที่ยังคงจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา การส่งออกลดลงมากถึง 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของแดนมังกรมีสัดส่วนลดลงถึง 5.3% ส่วนยุโรปลดลงมากถึง 8.3% ขณะเดียวกันก็ตัดลดคาดการณ์ว่าจีดีพีแดนมังกรลงมาอยู่ที่ 7.8% จากเดิมที่ 8%

ขณะที่รัสเซียและแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกด้านพลังงานก็มีการชะลอตัวลงของจีดีพีติดต่อกันหลายปีแล้วเช่นกัน โดยล่าสุดไอเอ็มเอฟได้ตัดลดคาดการณ์จีดีพีของแดนหมีขาวลงมามากถึง 0.9% ลงมาอยู่ที่ 2.5% ในปีนี้ ขณะที่แอฟริกาใต้ถูกตัดลด 0.8% ลงมาอยู่ที่ 2.0% ในปีนี้เช่นกัน

ภาวะการชะลอตัวลงหนักกว่าที่คาดการณ์ไว้ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ยังส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เกาหลีใต้ ไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของจีนอย่างหนัก เพราะพึ่งพาการค้าและส่งออกไปแดนมังกรในสัดส่วนที่สูงมาก

นอกเหนือจากภาคการส่งออกชะลอตัวแล้ว กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้ รวมไปถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลก ก็กำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะกระแสเงินทุนไหลออกอย่างหนัก เนื่องจากภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าอาจลดการใช้มาตรการอัดฉีดในปลายปีนี้ นักลงทุนต่างชาติพากันเทขาย และหันกลับเข้าไปซื้อสินทรัพย์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น และดูมั่นคงกว่าแทนทันที

ดังนั้น จึงทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อด้วยต้นทุนราคาถูกจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ค่าเงินของหลายประเทศก็อ่อนยวบลงอย่างหนัก โดยเฉพาะอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งหมดได้นำไปสู่ภาวะความผันผวนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างหนัก และคาดว่าจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น หากเฟดตัดสินใจลดการใช้คิวอีขึ้นมาจริงๆ โดยคาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้

ข้อมูลจากกองทุนอีพีเอฟอาร์โกลบอล เปิดเผยว่า ในช่วง 6 สัปดาห์หลังที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติต่างเทขายและดึงเงินทุนออกจากกองทุนพันธบัตรในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไปแล้วถึง 1.35 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และถอนเงินทุนออกจากตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศดังกล่าวไปถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เจพี มอร์แกน ก็เผยว่า การถือครองพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในรูปของสกุลเงินท้องถิ่นในเดือนที่ผ่านมาลดลงถึง 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาหลายชาติ จะหันปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเพื่อหันมาป้องกันภาวะเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอินโดนีเซีย เมื่อเดือนก่อน และคาดว่าจะถึงคราวของอินเดียในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ค่าเงินของสองประเทศนี้อ่อนยวบลงอย่างหนัก ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็พุ่งขึ้นมากสุดใน รอบหลายเดือน

ทว่าการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวก็เสี่ยงที่จะเป็นการเข้าซ้ำเติมให้ภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ยิ่งเลวร้ายหนักลงไปอีกได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่ประเทศคู่ค้าหลักของโลกอย่างจีนกำลังเกิดการชะลอตัวอย่างหนัก

เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่การค้าของประเทศเกิดภาวะชะลอตัวเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้ต้นทุนการกู้ยืมและทำธุรกิจในประเทศสูงขึ้น แต่กลับไม่สามารถส่งออกไปขายสินค้าได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยิ่งเมื่อหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียต้องมาเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันที่ส่อแววว่าจะพุ่งขึ้นสูง หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์ ก็คาดว่าจะเข้ามาเป็นปัจจัยที่สามที่จะเข้ามาย่ำยีภาวะเศรษฐกิจให้ยิ่งจมดิ่งลงไปอีก โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดสัญญาส่งมอบเดือน ส.ค. พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 104.81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว สูงสุดในรอบ 14 เดือน

เพราะภาวะเงินอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลมาจากเงินทุนไหลออก ได้ทำให้หลายประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลางมีต้นทุนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบในด้านลบต่อเอเชียที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นนั้น จะได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุด” เดวิด แมน หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ยังกล่าวต่อว่า ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเกิดใหม่ชะลอตัวและเงินทุนไหลออกอย่างหนัก ก็คาดว่าจะยิ่งทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้ว เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย ต้องประสบกับปัญหาการจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

“ถึงแม้ว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินเดียจะเริ่มลดลงมาอยู่ที่ 1.81 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วอยู่ที่ 3.26 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทว่าปัญหาดังกล่าวจะกลับมา เพราะการนำเข้าน้ำมันของอินเดียจะสูงขึ้น โดยเฉพาะการที่ค่าเงินรูปีอ่อนค่าลงอย่างหนัก” หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าว

ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ไปจึงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงยิ่ง ซึ่งหากเหล่าผู้กำหนดนโยบายการเงินไม่เตรียมตัวตั้งรับไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ รับรองได้ว่าหนักแน่นอน