posttoday

แบงก์เจอศึกหนัก...สินเชื่อหด หนี้บุคคลพุ่ง

11 กรกฎาคม 2556

ต้องบอกว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของไทยอยู่ในขั้นลุ้นระทึก

โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

ต้องบอกว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของไทยอยู่ในขั้นลุ้นระทึก

สำนักวิจัยหลายแห่งปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงมา ซึ่งเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจในประเทศ กำลังซื้อรายย่อยแผ่วเพราะเป็นหนี้มาก ขณะที่เศรษฐกิจโลก ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนก็กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าปีนี้เศรษฐกิจจีนจะเติบโต 7.1-7.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 7.5-8.5% ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยและอีกหลายประเทศ

ในฝั่งเศรษฐกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจาก 4.3-5.3% เหลือ 3.8-4.3% โดยประเมินว่าธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ สินค้าผู้บริโภค ธุรกิจค้าปลีก รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์สำนักงาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอสังหาริมทรัพย์

ผลจากอัตราการเติบโตเศรษฐกิจที่ถูกหั่นประมาณการลง จึงมีความเป็นไปได้ที่ปีนี้อัตราการเติบโตสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์จะเติบโตน้อยกว่าที่คาด มีการประเมินว่าสินเชื่อทั้งระบบจะเติบโตเพียง 9-11% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 10-13%

สินเชื่อที่หดตัวลงย่อมส่งผลกระทบมาถึงการจ้างงาน การผลิต และรายได้โดยรวมของคนไทยทุกถ้วนตัวคน

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในประเทศกับอัตราการขยายตัวของสินเชื่อมีความเกี่ยวโยงกันแบบแยกไม่ออก

หากเศรษฐกิจดี สินเชื่อก็จะขยายตัวดีไปด้วย การใช้จ่ายเงินของประชาชนก็สะพัด คนอยากกู้ อยากจับจ่ายใช้สอย

แต่หากเศรษฐกิจแย่ ก็ไม่มีธนาคารรายใดอยากเสี่ยงปล่อยสินเชื่อมากนัก เพราะลำพังแค่รักษาคุณภาพของลูกค้าไม่ให้เป็นหนี้เสียก็ถือว่าเหนื่อยแล้ว

ระยะจากนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อเริ่มช้าลง ส่วนหนึ่งเพราะฐานสินเชื่อในปีก่อนสูงลิ่ว ขณะเดียวกันนั้นการเติบโตเศรษฐกิจของไทยเป็นไปอย่างอ่อนแรง ทำให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบริหารจัดการสภาพคล่อง การดูแลฐานทุน ดูแลคุณภาพลูกค้า

สถานการณ์แบบนี้บอกได้เลยว่า กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย จากนี้จะเข้าสู่ช่วงลูกผีลูกคน รายได้ลด ต้นทุนเพิ่ม ชักหน้าไม่ถึงหลัง

ขณะเดียวกัน ธนาคารแต่ละแห่งคงต้องจับตามองลูกหนี้เป็นพิเศษ เพราะหากเศรษฐกิจอ่อนแรง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบก่อนจากสายป่านทางการเงิน และมีหน้าตักที่สั้นกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

ขณะที่ลูกค้ารายย่อย สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ อัตราการก่อหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะรถคันแรกที่มีการคาดการณ์ว่ามูลหนี้ต่อเดือนรวมทั้งหมดของคนที่กู้รถคันแรกอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ทำให้คนอยู่ในภาวะประหยัด และมีบางส่วนหมุนเงินจากบัตรเครดิตมาชำระค่าใช้จ่าย โดยอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ 10% ของบางธนาคารเพิ่มขึ้นมาถึง 60% ขณะที่ 40% เป็นการผ่อนชำระเต็มวงเงิน

นอกจากนี้ ยังเกิดพฤติกรรมลูกค้ารายย่อยบางคนที่ถือบัตรเครดิตใช้บัตรเครดิตในวิธีที่ไม่ถูกต้องนัก โดยเลือกที่จะจ่ายหนี้บัตรเครดิต 75% ของหนี้แต่ละรอบบิล ส่วนที่เหลือ 25% ค่อยชำระคืนในภายหลัง ทั้งที่รูปแบบเดิมหลายคนเคยจ่ายหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวน เพื่อไม่เสียดอกเบี้ย

การทยอยชำระหนี้บัตร โดยยอมจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ถือเป็นการต่อลมหายใจช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อนำเงินมาหมุนใช้จ่ายหนี้อื่น

แต่หลังจากนั้นจะเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของการชอร์ตเงินจนหมุนไม่ทัน และนั่นจะนำมาซึ่งปัญหาหนี้เสีย

ผลจากการเป็นหนี้มากทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสำหรับกลุ่มลูกค้ารายเก่าที่ถือบัตรมานานแล้วแผ่วลง เพราะหนี้เต็มวงเงินทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ทำให้ธนาคารบางแห่งพุ่งเป้ากระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตรายใหม่

เรียกได้ว่าลูกค้าเก่าหนี้เยอะ ก็เลี่ยงหาลูกค้าใหม่ที่หนี้ยังไม่มาก แต่ภาวะขณะนี้ธนาคารเองก็ไม่อยากเสี่ยงมาก จึงจับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงมากกว่า 3 หมื่นบาทขึ้นไป และหากลูกค้ารายใดถือบัตรเครดิต 3-4 ใบ ก็จะไม่อนุมัติบัตรเครดิตให้

ปรากฏการณ์พุ่งเป้าผู้สมัครบัตรเครดิตใหม่ มีเงินเดือนมากกว่า 3 หมื่นบาทขึ้นไป จึงถือเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ว่า กลุ่มมนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศที่ระดับรายได้เฉลี่ย 2 หมื่นบาท แต่ไม่ถึง 3 หมื่นบาทขึ้นไปนั้น เริ่มน่ากังวลกับภาวะหนี้พอกพูนแล้วจริงๆ

เพราะหากจะว่าไปแล้วผู้ที่มีรายได้เฉียด 3 หมื่นบาท ในระดับมนุษย์เงินเดือนก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง แต่เหตุใดธนาคารยังแสดงความกังวลเรื่องการปล่อยกู้ นี่คือสิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตาในระยะถัดไป

นัยหนึ่งอาจสะท้อนได้ว่า ขณะนี้หนี้รายย่อยได้บานปลายไปทุกหย่อมหญ้า และแม้ธนาคารจะเดินหน้าหาลูกค้าใหม่ นำเสนอสินเชื่อสารพัด แต่ยอดสินเชื่อคงค้างทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีแรกในบางธนาคารก็ยังต่ำเป้า เบาบาง ทำให้ธนาคารหลายแห่งต้องกลับมาตั้งหลัก ก้าวช้าๆ แต่มั่นคง ดีกว่าเร่งเครื่องปล่อยสินเชื่อแต่เสี่ยงตาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคำนวณตัวเลขออกมาโดยคาดการณ์ว่าสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบปีนี้จะเผชิญกับภาวะสินเชื่อหดตัวมากที่สุดกว่าทุกกลุ่ม โดยมีอัตราการเติบโตเพียง 17-19% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโต 22-23% สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ชะลอตัวตามมาตรการรถคันแรกที่หมดไป

ขณะที่หนี้ครัวเรือนสิ้นไตรมาสแรกปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8.97 ล้านล้านบาท หรือ 77.4% ต่อจีดีพี และยังคงมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นแรงกดดันให้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ภาคครัวเรือนจะเริ่มมีการตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่าปัจจัยด้านกำลังซื้อที่ลดลงจากภาระหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง อาจมีผลกระทบต่อจีดีพีในปีนี้ราว 0.2%

อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ภาคครัวเรือนจะอยู่ในภาวะแน่นอก แต่ในภาพรวมการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงท้ายปีงบประมาณ 2556 น่าจะช่วยพยุงสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ออกมาขี้เหร่เท่าไรนัก ยังพอมีช่องของการเบิกจ่ายเงินในภาครัฐได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะขับเคลื่อนให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเติบโตได้ในระดับ 10%

ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ทั้งระบบน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 79% ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเติบโตที่ระดับ 11% เป็นผลจากการซ่อมแซม ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่าจะขยายตัวได้เท่ากับปีที่ผ่านมา 10%

ประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไป คืออัตราดอกเบี้ยที่จะมีการกลับเข้าสู่ขาขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดเม็ดเงินอัดฉีดในมาตรการคิวอี ซึ่งคาดว่าเฟดจะทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นไปสู่ระดับแท้จริงที่ 3% ขณะที่ดอกเบี้ยไทยก็น่าจะปรับขึ้นไปสู่ระดับ 3.25%

ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ดอกเบี้ยไทยน่าจะมีการทยอยปรับขึ้นสู่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ 3.25% หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.75% ซึ่งในภาวะที่ดอกเบี้ยขึ้นสูงสุดหนี้ครัวเรือนอาจปรับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ต่อจีดีพี แต่หากเศรษฐกิจไทยรักษาการเติบโตไว้ได้ที่ 5% ก็ไม่น่ามีปัญหา เพียงแต่จะเผชิญความท้าทายคือเศรษฐกิจต้องโตไม่ต่ำกว่า 4%

ไม่เช่นนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนปะทุแน่