posttoday

จนกระจายรวยกระจุกปัญหาซ้ำซากของชาติ

09 กรกฎาคม 2556

นิตยสารฟอร์บส์ เผยแพร่ผลการจัดอันดับรายชื่อมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกสุดของประเทศไทย ประจำปี 2556

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

นิตยสารฟอร์บส์ เผยแพร่ผลการจัดอันดับรายชื่อมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกสุดของประเทศไทย ประจำปี 2556 โดยระบุว่ามูลค่ารวมของทรัพย์สินทั้งหมดของมหาเศรษฐีไทยเท่ากับ 2.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย

ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้แตกต่างไปจากในอดีต แต่ที่น่าสนใจคือ มหาเศรษฐีเหล่านี้รวยขึ้นจากตลาดหุ้นไทยและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังอยู่ในภาวะรวยกระจุกและจนกระจาย ความเหลื่อมล้ำด้านเงินออมระหว่างคนรวยและคนจนยังอยู่ในระดับสูง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศไว้ 4 ด้าน คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 2.ลดความเหลื่อมล้ำ 3.สร้างการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4.ปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

เฉพาะยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า ต้องเร่งทำให้ประเทศไทยหลุดจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง พร้อมตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวปีละ 56% และมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 544,213 บาทต่อคนต่อปี ภายในปี 2570

นั่นหมายถึงว่าคนไทยจะมีรายได้สูงขึ้นถึง 3 เท่าตัวจากปี 2554 ที่คนไทยมีรายได้ต่อหัวแค่ปีละ 155,926 บาท

และหมายถึงการดำเนินนโยบายการคลัง จะต้องส่งเสริมและหนุนนำในการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน

ทั้งนี้ ในปี 2550 รายได้ของกลุ่มที่รวยที่สุดสูงกว่ารายได้ของประชากรที่จนที่สุดถึง 12.81 เท่า ซึ่งหมายความว่า ผลผลิตของประเทศไทยที่คิดเป็นเงินได้ 100 บาท ตกเป็นของคนรวยถึง 55 บาท ส่วนคนจน 20% ได้รับรายได้เพียง 4.30 บาทเท่านั้น

ขณะที่ปัจจุบันคนรวยสุด 20% แรกมีรายได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54% ส่วนคนจนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเป็น 4.8%

การกระจายรายได้และทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม และนำไปสู่การปั่นกระแสให้เกิดสงครามชนชั้น

ทุกรัฐบาลจะต้องมีการบรรจุแผนการลดความเหลื่อมล้ำ และลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน แต่ทำไมประเทศไทยยังไม่สามารถข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้

เหตุผลที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินมาตลอดในช่วง 2 ปี ก็คือ การสร้างความมั่นใจ และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนผ่านโครงการประชานิยม ทั้งการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท การประกาศราคารับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาตันละ 1.5 หมื่นบาท

แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่สามารถดูแลราคาสินค้าและบริการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ผู้ใช้แรงงานได้ค่าจ้างเพิ่ม แต่ก็ต้องซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคมาใช้ในราคาที่สูงขึ้น จนเหมือนไม่ได้ขึ้นค่าแรงเลย

ส่วนชาวนา แม้จะได้ราคาจำนำข้าวสูง แต่ต้นทุนการทำนา ทั้งราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง กลับเพิ่มสูงขึ้นมากเช่นกัน

1 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุดเน้นการทำนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นโครงการลดความเหลื่อมล้ำระยะสั้น ทำเฉพาะหน้าและมักจะไปสร้างปัญหาให้กับงบประมาณประเทศในระยะยาว

การลดความเหลื่อมล้ำอย่างถาวร คือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การดำเนินการผ่านงบประมาณแผ่นดิน

เอาเฉพาะกรณีการผลักดันร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นการสร้างความเสมอภาคในการถือครองที่ดินและการจัดการทรัพย์สิน ร่างกฎหมายนี้ยกร่างกันมานานทศวรรษ แต่ยังไปไม่ถึงไหน

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการเรียกเก็บภาษีกับนายทุนที่ตุนที่ดินไว้มากๆ เพื่อเก็งกำไรหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อให้กระจายการถือครองที่ดินให้คนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้มีที่ทำกิน

การลดความเหลื่อมล้ำด้วยกฎหมายฉบับนี้ เป็นการปรับที่โครงสร้าง

ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำที่ดำเนินการผ่านงบประมาณแผ่นดินนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า งบประมาณปี 2557 เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท ลดการขาดดุลลง 5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างงบประมาณเพื่อรองรับอนาคตประเทศ โดย 80% เป็นงบรายจ่ายประจำ มีแค่ 17% ที่เป็นงบลงทุน การจัดงบประมาณนี้ไม่รับผิดชอบต่ออนาคตประเทศ สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลแถลงและนายกฯ หาเสียงไว้

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ด้านการศึกษาแม้จะจัดงบประมาณให้ 4.8 แสนล้านบาท แต่เป็นงบประมาณการลงทุนเพื่อการศึกษาแค่ 2 หมื่นล้านบาท และยังตัดลดงบวิจัยและพัฒนาของทุกหน่วยงาน เป็นการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังไม่สนับสนุนกองทุนการออมแห่งชาติแม้แต่บาทเดียว ทั้งที่กฎหมายมีผลบังคับใช้นานแล้ว เหมือนกับรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นิพนธ์ พัวพงศกร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำถือเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า แต่ไม่ควรมองว่าการกระจายรายได้คือการเก็บภาษีคนรวยไปช่วยคนจน เพราะถ้าคิดอย่างนั้นจะเดินหน้าเรื่องนี้ไปไม่รอด

ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำมี 4 มิติ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ เช่น เรื่องงานและการประกอบอาชีพ ซึ่งพบว่าคนฐานราก 5060% ทำงานนอกระบบ มีรายได้ไม่แน่นอน

ความเหลื่อมล้ำทางด้านการคลัง เช่น เรื่องภาษี พบว่าฐานภาษีแคบ คนเสียภาษีน้อย คนรวยหนีภาษีมาก มีกลไกในการเลี่ยงภาษีมาก

ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตไม่เป็นธรรม เช่น ภาษีสุรา ภาษีไนต์คลับ ที่เขียนนิยามไม่ชัดเจน การลดหย่อนภาษีบีโอไอให้กับผู้ประกอบการต่างชาติ ขณะที่เอสเอ็มอีเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการสะท้อนว่านโยบายเหล่านี้เอื้อประโยชน์ให้กับคนที่มีฐานะดี นักธุรกิจที่ใกล้ชิดนักการเมืองมีความได้เปรียบกว่านักธุรกิจทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส เช่น เรื่องการศึกษาพบว่าโรงเรียนที่ดีมักอยู่ในเมือง รัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาทางด้านการศึกษา การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งขณะนี้พบว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว

ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ มีปัญหาเรื่องคน 2 กลุ่ม ฉกฉวยทรัพยากรของรัฐ คนรวยเข้าซื้อหรือถือครองที่ดิน มีการใช้กลไกช่องว่างกฎหมายในการถือครองที่ดิน

สิ่งที่จะเกิดขึ้น หากประเทศไทยยังรวยกระจุกและจนกระจาย ก็คือ เมื่อใดที่เศรษฐกิจกลับทางเป็นขาลง กำลังซื้อจากประชาชนจะลดลงทันที เพราะกลุ่มคนชั้นกลางและฐานรากเป็นผู้บริโภครายใหญ่ และจะเป็นผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด

ฉะนั้นประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน จะเป็นแผลใหญ่ของรัฐบาล หากยังสนใจแต่จะผลักดันแต่การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่ไม่ใส่ใจปัญหาค่าครองชีพที่กำลังบีบรัดประชาชน เหมือนที่ได้สัญญากับประชาชนไว้