posttoday

มะกันอัดฉีด-จีนยั่งยืน 2 วิถีกู้วิกฤตที่แตกต่าง

24 มิถุนายน 2556

ถือเป็นประเด็นความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในด้านนโยบายการเงินของสหรัฐและจีน

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

ถือเป็นประเด็นความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในด้านนโยบายการเงินของสหรัฐและจีน เนื่องจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า อาจจะลดการใช้มาตรการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ในปลายปี และยุติลงในกลางปีหน้า ขณะที่จีนก็หันมาเข้มงวดในด้านนโยบายการเงินมากขึ้น จนส่งผลให้อัตราการกู้ยืมระหว่างธนาคารเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นไปถึง 13.90% จากที่ระดับ 7.66% ในวันที่ 19 มิ.ย.

ถึงแม้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณบ่งชี้นัยๆ ว่า ทิศทางนโยบายการเงิน 2 ชาติอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกกำลังจะมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญด้วยการหันมาดำเนินมาตรการการเงินแบบปกติและอิงตามกลไกตลาดมากขึ้น หลังจากที่ได้เสพติดการกระตุ้นมานานกว่า 5 ปี ทว่าในอีกมุมหนึ่งนั้นต้องยอมรับว่าในรายละเอียดและเงื่อนไขแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกอบกู้ให้พ้นจากวิกฤตของทั้งสองฝ่ายก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยเฉพาะสหรัฐ

เพราะถึงแม้ว่าประธานเฟดจะออกมาประกาศเองว่าอาจจะลดการใช้คิวอีในปลายปีนี้และยุติลงในปีหน้า แต่ต้องไม่ลืมว่าเงื่อนไขสำคัญที่ เบอร์แนนคี ตั้งไว้นั้นคือ ภาวะเศรษฐกิจแดนมะกันจะต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดก่อน โดยเฉพาะการว่างงานที่ต้องลดลงมาต่ำกว่า 76.50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.60% ขณะที่เป้าเงินเฟ้อที่เฟดต้องการควรจะอยู่ที่ 2% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.40% เท่านั้น

นอกจากนี้ สหรัฐก็ยังจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจภายในที่ได้รับผลกระทบจากการตัดลดงบประมาณอัตโนมัติ (ซีเควสเตชั่น) และภายนอก โดยเฉพาะจากวิกฤตหนี้ยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ดังนั้น เป้าหมายไปสู่การลดหรือยกเลิกการใช้คิวอีในอนาคต จึงไม่ง่ายเหมือนดังที่ เบอร์แนนคี พูดเอาไว้ และน่าจะทำให้สหรัฐต้องคงการใช้คิวอีต่อไปมากกว่าที่จะลดลงในปลายปีนี้ค่อนข้างสูง

ภาวะดังกล่าวสวนทางกับจีน ที่แม้ว่าจะกำลังเผชิญกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะในไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่โตได้ต่ำกว่าคาดการณ์อยู่ที่ 7.80% ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตที่สำรวจโดยธนาคารเอชเอสบีซีก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดใน 9 เดือน ที่ 48.3 จุด

แต่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 5 ได้ประกาศชัดว่าจะยอมให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ช้าลงและเลิกการโหมใช้มาตรการกระตุ้นขนานใหญ่แบบในอดีต เพื่อแลกกับการเติบโตที่ยั่งยืนกว่า และพร้อมที่จะหันมาปฏิรูปโดยเฉพาะการสร้างฐานการบริโภคภายใน แทนที่การพึ่งพาส่งออกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

แนวทางการมุ่งกอบกู้วิกฤตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างแดนลุงแซมที่อยู่ในภาวะลังเลว่าจะยังคงการกระตุ้นเอาไว้ต่อไปดีหรือไม่ กับพญามังกรจีนที่แสดงความแน่วแน่อย่างชัดเจนว่าจะหันมาเน้นการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนนั้น เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ 2 อภิมหาอำนาจต่างก็ได้รับบทเรียนและผลข้างเคียงจากการมุ่งใช้มาตรการการกระตุ้นอย่างหนักมาแล้ว

เริ่มจากสหรัฐที่ตกอยู่ในภาวะเสพติดการกระตุ้นอย่างหนัก หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 จนกดดันให้เฟดต้องงัดมาตรการคิวอีขึ้นมาใช้ถึง 3 ครั้งนั้น แม้ว่าในด้านหนึ่งมาตรการอัดฉีดจะช่วยทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐ เช่น เอสแอนด์พี และดาวโจนส์ ต่างพุ่งขึ้นทุบสถิติอย่างต่อเนื่องในตลาด 5 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เหล่าเศรษฐีและนักลงทุนที่ถือหุ้นไว้ ซึ่งถือเป็นคนส่วนน้อยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของสังคมได้รับประโยชน์จนรวยขึ้นอย่างอู้ฟู่

ทว่า ระดับการจ้างงาน ภาคการผลิตและบริการ ซึ่งถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจและเกี่ยวพันกับคนส่วนใหญ่มากกว่า 90% ในสังคมกลับยังย่ำแย่อยู่ โดยเฉพาะการว่างงานสูงกว่า 7.50% มานานกว่า 2 ปี ซึ่งภาวะดังกล่าวถือเป็นความพิกลพิการทางเศรษฐกิจอย่างมาก ที่ทิศทางตลาดหุ้นไม่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจจริง แต่กลับไปอิงความเคลื่อนไหวจากมาตรการกระตุ้นแทน

ขณะที่จีนก็ได้รับบทเรียนจากผลข้างเคียงของการใช้มาตรการลุยกระตุ้นและอัดฉีดด้วยนโยบายการเงินการคลังครั้งใหญ่ รวมมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านหยวน (ราว 5.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2008 มาแล้ว ซึ่งแม้ว่าในอีกมุมหนึ่งจะช่วยปกป้องจีนให้พ้นจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาได้ในช่วงเวลานั้นก็ตาม แต่ก็ทำให้เกิดภาวะหนี้เสียและปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง

ทั้งนี้ จากการประเมินของธนาคารยูบีเอสจากสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า แม้ว่าอัตราหนี้สาธารณะของรัฐบาลจีนในปี 2012 อาจมีอยู่แค่ 15% ของจีดีพี แต่หากนำมาบวกรวมเข้ากับหนี้เสียภาคเอกชน และภาคครัวเรือน หนี้ทั้งหมดของจีนอาจพุ่งขึ้นทะลุไปถึง 200% ของจีดีพีเลยทีเดียว

ดังนั้น นี่จึงถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางต่อการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ และการเรียนรู้และตระหนักต่อปัญหาที่ต่างกันของสหรัฐ และจีนที่เกิดขึ้น โดยฝ่ายหนึ่งยังคงลังเลว่าจะยกเลิกการเสพติดการกระตุ้นดีหรือไม่ กับอีกฝ่ายที่บ่งชี้ออกมาอย่างชัดเจนว่าจะไม่กระตุ้น แต่จะหันมาใช้โอกาสนี้เพื่อผลักดันการปฏิรูป

ทั้งนี้ แม้ว่าผลลัพธ์จากการใช้สูตรยาที่ต่างกันของสหรัฐกับจีนจะยังไม่มีใครทราบผลลัพธ์ที่ออกมา แต่อย่างน้อยในขณะนี้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรปและญี่ปุ่นก็เริ่มหันมาตระหนักแล้วว่าลำพังการใช้มาตรการกระตุ้นอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ยาวิเศษที่จะใช้แก้พิษจากวิกฤตเศรษฐกิจเสมอไป

ล่าสุด แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะยังคงแนวทางการใช้มาตรการการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.50% และโครงการเข้าซื้อพันธบัตรของชาติที่ประสบปัญหา (โอเอ็มที) แต่ก็ได้หันมาหาทางกอบกู้วิกฤตหนี้ยูโรโซนผ่านแนวทางอื่นๆ มากขึ้นเช่นกัน โดยเห็นได้จากการเพียรพยายามหาแนวทางการปล่อยสินเชื่อไปให้ถึงมือผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ให้มากขึ้นในปัจจุบัน

เนื่องจากนโยบายกดอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการอัดฉีดทางการเงินที่ใช้ของอีซีบีอยู่นั้นแทบจะไปไม่ถึงมือผู้ประกอบการธุรกิจในยุโรปเลย เพราะปัญหาวิกฤตหนี้ที่เกิดขึ้นได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของธนาคารพาณิชย์ต่อการพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก

ขณะที่ ญี่ปุ่น ซึ่งกำลังกลายเป็นที่จับตาสำหรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการอัดฉีดทั้งนโยบายการเงินและการคลังเข้าด้วยกันที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” ก็ไม่ได้เห็นความสำคัญต่อการใช้มาตรการอัดฉีดเพียงด้านเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ได้ประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการแดนปลาดิบให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

แผนดังกล่าวเรียกว่า “ศรดอกที่ 3” (ต่อเนื่องจากนโยบายการเงินและการคลัง ที่เปรียบเป็นศร 2 ลูก) อาทิ การเพิ่มรายได้ การผลักดันให้ผู้หญิง โดยเฉพาะแม่บ้านได้เข้ามาทำงานง่ายขึ้น การที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพีกับสหรัฐ และอีก 11 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก

สาเหตุที่ต้องผลักดันแผนศรดอกที่ 3 ออกมาก็เพราะว่านโยบายการกระตุ้นทางการเงินการคลังเป็นเพียงการช่วยกอบกู้ญี่ปุ่นให้หลบพ้นจากภาวะวิกฤตที่เร่งด่วนและเจออยู่ในปัจจุบัน เช่น ภาวะเงินฝืด ค่าเงินแข็งค่า เท่านั้น ไม่ได้ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

ดังนั้น นี่จึงถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มของนโยบาย และแนวทางการกอบกู้วิกฤตของหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มเปลี่ยนแปลงจากการมุ่งกระตุ้นและอัดฉีด ไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า

ขณะเดียวกัน นี่ก็ยังถือเป็นโจทย์สำคัญที่สหรัฐจะต้องแก้ให้ตก เพราะการเสพติดและพึ่งพาการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบอีกแล้ว ซ้ำร้ายการเสพติดการกระตุ้นเป็นเวลานานๆ นั้น ก็ยังบั่นทอนพื้นฐานทางเศรษฐกิจโลกให้ย่ำแย่ลงอีกด้วย