posttoday

โลกอย่าตระหนกเฟดลดคิวอีเงื่อนไขชัดรอศก.ฟื้น

21 มิถุนายน 2556

ถ้อยแถลงของ เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี)

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

ถ้อยแถลงของ เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ที่ระบุว่าอาจเริ่มต้นลดการใช้มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ที่เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปลายปีนี้ และจะยุติคิวอีในกลางปี 2014 หากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานดีขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนระดับ 8 ริกเตอร์ต่อตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียของวันที่ 20 มิ.ย. ให้ดิ่งลงอย่างหนัก

ดัชนีตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่เอ็มเอสซีไอ ร่วงลง 3.2% ไปอยู่ที่ 916.57 จุด โดยถือเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือน ขณะที่ดัชนีตลาดฮั่งเส็งปรับตัวลดลง 2.8% หรือลดลง 604.02 จุด ที่ 20,382 จุด นิกเกอิของญี่ปุ่น ลดลง 1.74% หรือลดลง 230.64 จุด ปิดที่ 13,014 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปก็ตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ไม่แพ้กัน โดย ฟุตซี100 ของอังกฤษ เปิดมาร่วงลง 2.39% หรือลดลง 152.84 จุด ที่ 6,195 จุด ขณะที่เด็กซ์เยอรมนี ร่วงลง 2.75% หรือลดลง 225.63 จุด ที่ 7,971 จุด

ส่วนราคาพันธบัตรหลายประเทศเอเชียก็เกิดการเทขายอย่างหนัก จนส่งผลทำให้ผลตอบแทนพุ่งขึ้น โดยพันธบัตรอายุ 5 ปี ของเกาหลีใต้พุ่งขึ้น 0.23% อยู่ที่ 3.22% (มากสุดในรอบเกือบ 1 ปี) ขณะที่พันธบัตรฟิลิปปินส์กำหนดไถ่ถอนปี 2037 พุ่งขึ้น 0.5% อยู่ที่ 5.5% (สูงสุดในรอบ 5 เดือน) ด้านค่าเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าลง 1.6% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ (อ่อนสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2011) ขณะที่รูปีอินเดียอ่อนค่าลง 1.9% (อ่อนสุดตั้งแต่ ก.ย. 2011)

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะดังกล่าวจะเป็นผลมาจากความแตกตื่นว่าเฟดจะลดการใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปลายปีนี้ และสิ้นสุดลงในกลางปีหน้า แต่หากมองในความเป็นจริงแล้วต้องยอมรับว่านักลงทุนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะกระต่ายตื่นตูมกับข่าวดังกล่าวมากเกินไป และกำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไปด้วย ดังเห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งขึ้นมากสุดในรอบหลายเดือน ขณะที่ค่าเงินหลายประเทศเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐก็อ่อนยวบลงอย่างหนัก

เพราะถึงแม้ตัวเบอร์แนนคีจะออกมาป่าวประกาศเองว่าจะลดปริมาณการใช้คิวอีในปลายปีนี้ จนส่งผลให้เกิดความหวั่นเกรงในหมู่นักลงทุนว่า เฟดอาจลดการใช้คิวอีเร็วกว่าที่ประกาศไว้

แต่ต้องไม่ลืมว่าหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ เบอร์แนนคี ตั้งเอาไว้อย่างชัดเจนนั่นคือ ภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการจ้างงาน ซึ่งเป็นปัจจัยชี้วัดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะต้องแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเสียก่อน

ตามภาวะคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด มองว่าในสิ้นปีนี้อัตราการว่างงานเมืองลุงแซมจะลดลงมาเหลือที่ 7.2% และลงมาเหลือที่ 6.5–6.8% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 7.6% ขณะที่อัตราการเติบโตของจีดีพีก็คาดว่าในสิ้นปีนี้จะโตได้ที่ 2.32.6% และจะเพิ่มขึ้นไปที่ 3–3.5% ในปี 2014

“เบอร์แนนคีส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะคงการกระตุ้นไว้ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะการเน้นย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดควรจะต่ำต่อไป ตราบเท่าที่การว่างงานยังอยู่สูงกว่า 6.5%” จิม คีแนน ผู้จัดการกองทุนพันธบัตรแบล็กร็อก ระบุ

ขณะที่ พอล อีเดลสเตน นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ระบุว่า การประเมินภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจในแดนพญาอินทรีจะขยายตัวอย่างกร้าวแกร่งขึ้นในปีนี้และปีหน้า จนสามารถลดและถอนการใช้คิวอีได้นั้น อาจถือเป็นการมองโลกที่ดีเกินไปของเฟด และเป็นการประเมินที่ดีเกินความเป็นจริง

เนื่องจากในปัจจุบันสหรัฐกำลังเผชิญทั้งการตัดลดงบประมาณอัตโนมัติ (ซีเควสเตชัน) และภาวะการชะลอตัวของยุโรปและจีน ดังนั้นการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้ในเวลาอันรวดเร็วราวปลายปีนี้ตามที่เฟดคาดการณ์จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะตัวเลขการว่างงานสหรัฐอยู่ที่ 7.6% ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงภาวะระดับราคาสินค้าและการซื้อการขายในตลาดของสหรัฐที่ยังถือว่าต่ำกว่าที่เฟดคาดหมายเอาไว้มาก โดยในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 1.4% เท่านั้น ขณะที่เป้าหมายที่เฟดต้องการคือ 2% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกลายเป็นตัวผูกมัดให้เฟดยังต้องคงการใช้มาตรการคิวอีเอาไว้ต่อไป

ดังนั้น นี่จึงถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนต่อนักลงทุนทั่วโลกให้ได้สบายใจลงชั่วขณะหนึ่งว่า ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลด หรือยุติการใช้คิวอีอย่างกะทันหัน จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะการดึงเงินทุนไหลออกอย่างมหาศาล และทำให้ค่าเงินของหลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอ่อนยวบอย่างหนัก จะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้น หากทุกอย่างเป็นไปตามที่เฟดคาดการณ์เอาไว้จริง การลดการใช้มาตรการคิวอีในเวลานั้น ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและทั่วโลก โดยเฉพาะการทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต้องสะดุดลง เพราะถึงเมื่อนั้นภาวะเศรษฐกิจแดนมะกันได้ก้าวเดินมาสู่ในจุดที่แข็งแกร่งจนสามารถดูแลตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งยาวิเศษยี่ห้อ “คิวอี” หรือการใช้คงดอกเบี้ยต่ำจากเฟดแล้ว

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมืองลุงแซม ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกดังกล่าว ก็น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการค้าการลงทุนทั่วโลกให้เพิ่มมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะเอเชีย เนื่องจากภาวะการเติบโต และการบริโภคของสหรัฐจะเข้ามากระตุ้นการส่งออกของเอเชียให้มากขึ้น ซึ่งนั่นจะเข้ามาทดแทนกระแสเงินทุนร้อนที่หลั่งไหลออกไปจากเอเชีย อีกทั้งจากการที่ค่าเงินเอเชียอ่อนลง ก็จะช่วยเกื้อหนุนการส่งออกของเอเชียให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ภาวะดังกล่าวจะสร้างความอุ่นใจต่อนักลงทุนทั่วโลกมากพอสมควร แต่ก็ใช่ว่าเหล่าบรรดานักลงทุน รวมไปถึงผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ จะวางใจกับการส่งสัญญาณครั้งล่าสุดของ เบอร์แนนคี มากจนเกินไป

เนื่องจากทุกฝ่ายควรหันมาทบทวนกับมาตรการตั้งรับกับผลกระทบจากการถอน หรือลดมาตรการคิวอีของเฟดให้เกิดความชัดเจน และมีการรองรับอย่างเป็นระบบให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้หลายประเทศจะเริ่มหันมาออกมาตรการรองรับกับปัญหาเงินทุนไหลออก ไปจนถึงค่าเงินที่อาจกลับมาอ่อนค่าลงอย่างหนักอีกครั้ง แต่ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าทิศทางการรับมือในปัจจุบันยังค่อนข้างสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่ใจว่าเฟดจะลดคิวอีจริงหรือไม่

ดังนั้น การส่งสัญญาณของเฟดในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า ทุกประเทศควรจะต้องคิดหาวิธีรับมือได้แล้ว เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะมาอ้างว่าเตรียมการรับมือไม่ทันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

นอกเหนือจากผลกระทบจากเงินทุนร้อนไหลออกจากเอเชียที่จะเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ผู้กำหนดนโยบายหลายฝ่ายต้องรับมืออีกอย่างนั่นคือ ภาวะการชะลอตัวของจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และถือเป็นคู่ค้าหลักของหลายประเทศในเอเชีย เนื่องจากตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของแดนมังกรหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพี ดัชนีภาคการผลิต ตัวเลขเงินเฟ้อ การลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ต่างสะท้อนว่ากำลังชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะมีกระสุนสำรองทางการเงินการคลังมากพอที่จะใช้นโยบายกระตุ้น เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะชะลอตัวอยู่ แต่แนวทางดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 5 ได้ส่งสัญญาณชัดแล้วว่า จะไม่เดินหน้ากระตุ้นเหมือนที่ผ่านมา และหันมาปฎิรูปแทน เนื่องจากกังวลว่าจะไปกระตุ้นภาวะฟองสบู่และหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวเคยเป็นบทเรียนที่หลอกหลอนจีนมาโดยตลอด นับตั้งแต่การใช้มาตรการกระตุ้นอย่างมหาศาลในปี 2008

ดังนั้น นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมไปถึงนักลงทุนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการเงินของสหรัฐที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของแดนมังกรด้วย

เพราะหากรับมือไม่ดี หรือขาดการวางแผนที่ชัดเจน อาจกลายเป็นตัวบั่นทอนแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่สดใส โดยเฉพาะเอเชียให้ดับลงได้เลยทีเดียว