posttoday

แบงก์ชาติสื่อสาร"เหลว"สะเทือนเชื่อมั่น ศก.โลก

19 มิถุนายน 2556

ถ้อยแถลงของ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี)

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

ถ้อยแถลงของ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ในวันพุธนี้ กำลังกลายเป็นที่จับตามองจากทั่วทุกมุมโลก ว่า สรุปแล้วเฟดจะตัดสินใจลดการใช้มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์รัฐบาลสหรัฐ (คิวอี) เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้

ถึงแม้ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ (ตามเวลาท้องถิ่นของไทย) จะยังคงไม่ทราบผลการแถลงข่าวต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของ เบอร์แนนคี ว่าจะออกมาในทิศทางไหน แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภาวะตลาดทุนและเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนและไร้เสถียรภาพอย่างหนัก โดยสังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนการบริโภคของภาคครัวเรือนในประเทศต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามไปด้วย

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นผลพวงมาจากการส่งสัญญาณถึงทิศทางนโยบายการเงินที่ไร้ซึ่งความชัดเจนและผิดพลาดของแบงก์ชาติยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าแทนที่การส่งสัญญาณของธนาคารกลางเหล่านี้จะมีส่วนให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกแข็งแกร่งขึ้น ก็กลับกลายเป็นการซ้ำเติมและทำลายความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโลกให้ยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม

กรณีดังกล่าวนั้น เห็นได้ชัดจาก เบอร์แนนคี ประธานเฟด ที่ได้ขึ้นให้การต่อวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่กล่าวไว้ว่า ในการประชุมเฟดในอีก 2-3 ครั้งข้างหน้า ที่ประชุมอาจตัดสินใจลดการใช้มาตรการคิวอีลงในอีกไม่ช้า หากเห็นว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจแดนลุงแซมแสดงถึงภาวะฟื้นตัวอย่างมั่นคง ทว่าก็ยังแอบแทงกั๊กไว้อยู่ว่า หากตัวเลขและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจรวมถึงเงินเฟ้อยังไม่ดีขึ้น ก็อาจต้องคงมาตรการคิวอีเอาไว้ต่อไป

ถึงแม้ประธานเฟดจะไม่ได้ประกาศชัดเจนแบบ 100% ว่าจะลดการใช้มาตรการกระตุ้น แต่ก็ทำให้ตลาดเกิดความผันผวนไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน ที่ 2.13% เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนก่อนที่ เบอร์แนนคี จะขึ้นให้การกับวุฒิสภา ซึ่งอยู่ที่ 1.93%

“การที่ธนาคารกลางทั่วโลกออกมาส่งสัญญาณว่าจะยังคงมาตรการกระตุ้นไว้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่จากการที่ตลาดเริ่มรับรู้ว่าการที่เฟดจะลดคิวอีลงในไม่ช้า ความผันผวนในตลาดพันธบัตรก็จะกลับมาอีกครั้ง” มิชารา มาร์คัสเซน หัวหน้านักวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก จากธนาคารโซซิเอเตเจเนอร์รัล กล่าว พร้อมคาดการณ์ว่าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 5% ในปี 2017

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ อลัน บลินเดอร์ อดีตรองประธานเฟดช่วงปี 1994-1996 ออกมาเตือนว่า เฟดต้องสื่อสารกับตลาดให้ระมัดระวังมากกว่านี้ เพราะการที่ เบอร์แนนคี ชี้ให้เห็นว่าเฟดอาจลดการใช้คิวอีลงอย่างมีเงื่อนไข ก็ยังทำให้ตลาดมองข้ามช็อตไปถึงการที่เฟดจะลดการใช้มาตรการคิวอีแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้น และในขณะเดียวกันการลดคิวอีในอนาคตอันใกล้ก็ยังไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ยังต่ำอยู่มาก น่าจะจูงใจให้เฟดยังคงการใช้คิวอีต่อไป

นอกจากนี้ การสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินของเฟดต่อตลาดในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ก็ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสับสนอีกครั้ง เมื่อเหล่าผู้กำหนดนโยบายของเฟดออกมาให้ข่าวขัดแย้งกันเองเกี่ยวกับทิศทางของการใช้มาตรการคิวอี จนทำให้การคาดเดาทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐเกิดความสับสนเป็นอย่างยิ่ง โดย เจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ทำให้เฟดน่าจะยังคงจำเป็นต้องใช้คิวอีต่อไป

ทว่าในอีกไม่นานหลังจากนั้น ริชาร์ด ฟิสเชอร์ ประธานเฟดสาขาดัลลัส กลับออกมาบอกว่า ความกังวลเรื่องเงินฝืดไม่ใช่ประเด็นสำคัญในขณะนี้สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนั้นเฟดจึงควรเริ่มลดการใช้คิวอีลงได้แล้ว

การสื่อสารกับตลาดที่ผิดพลาดนั้น ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นกับเฟดเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับธนาคารกลางของญี่ปุ่น (บีโอเจ) อีกด้วย

เพราะทั้งๆ ที่ปัจจุบันได้เกิดภาวะความไม่เชื่อมั่นต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้แผน “อาเบะโนมิกส์” ที่เป็นการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงิน การคลัง และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน จนส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นไปเกือบแตะระดับที่ 1% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่บีโอเจกลับไม่ประกาศมาตรการกระตุ้นหรือเสริมสร้างความเชื่อมั่นใดๆ ออกมา

นอกจากนี้ การแสดงจุดยืนด้านนโยบายการเงินของ ฮูโรฮิโกะ คุโรดะ ประธานบีโอเจ ที่ระบุออกมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ยิ่งสร้างความสับสนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากไปเผยว่าผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจแดนปลาดิบกำลังฟื้นตัวขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว หากเศรษฐกิจดีขึ้นจริง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต้องลดลง

ท่าทีดังกล่าว ถือว่าเป็นการตอกย้ำถึงความขัดแย้งในแนวทางด้านนโยบายการเงินของบีโอเจเองในขณะที่กำลังมุ่งกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมและการใช้จ่าย โดยผ่านทางการเพิ่มเงินเฟ้อและค่าจ้างให้สูงขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงออกมาชี้แนะว่า บีโอเจควรจะหันมาอธิบายและสื่อสารกับตลาดไปในทิศทางว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นจะเป็นไปตามภาวะคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น และการช่วยเข้าซื้อพันธบัตรนั้นก็มีขึ้นเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้ต่ำลง

ขณะที่ทางฝั่งของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แม้ว่าล่าสุดจะออกมาสื่อสารกับตลาดว่าพร้อมที่จะงัดมาตรการกระตุ้นต่างๆ ขึ้นมาใช้ เพื่อกอบกู้วิกฤตหนี้ยูโรโซน หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำ ทว่าก่อนหน้านี้อีซีบีก็สร้างความผิดหวังให้กับตลาดไม่น้อย

เพราะ มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ได้ประกาศในงานแถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของอีซีบีในต้นเดือนที่ผ่านมาว่ายังคงพอใจกับการคงมาตรการกระตุ้นผ่านทางการกดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ต่อไป เนื่องจากในปลายปีนี้การฟื้นตัวของยูโรโซนจะดีขึ้น ทว่าเดือนก่อนหน้านั้นกลับบอกว่าอีซีบียังเปิดช่องทางไว้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากเห็นว่าจำเป็นต้องทำ

นอกจากนี้ ประธานอีซีบียังกล่าวไว้อีกด้วยว่า พร้อมเสมอถ้าจะต้องตัดลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 0% ซึ่งนั่นมีส่วนสำคัญในการทำให้นักลงทุนและตลาดเกิดความคาดหวังว่าอีซีบีน่าจะมีมาตรการบางอย่างออกมาในต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ในที่สุดทุกฝ่ายต้องผิดหวัง

ดังนั้น การสื่อสารในด้านนโยบายการเงินที่สลับไปมาจึงเป็นการสร้างความสับสนให้กับตลาด และสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากพอสมควร ดูได้จากการที่ ดรากี ออกมาปฏิเสธการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ทั้งๆ ที่ภาวะการว่างงานและดัชนีภาคการผลิตยังคงย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง โดยทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ของสเปนและอิตาลี พุ่งทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐก็ได้แข็งค่าขึ้นมากสุดใน 4 เดือน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบกระเทือนต่อแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปทั่วโลก ก็ทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายการเงินในธนาคารกลางของชาติมหาอำนาจต้องหันมาทบทวนกับยุทธศาตร์ในการสื่อสารทิศทางนโยบายการเงินให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะตลาดปัจจุบันมีความอ่อนไหวมาก