posttoday

เร่งสกัดทุนนอกไหลออกหวั่นตลาดทรุด ฉุดค่าเงินวินาศ

14 มิถุนายน 2556

กลายเป็นหนังคนละม้วนที่ปรับอารมณ์กันแทบไม่ทันทีเดียวสำหรับภาวะตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ร้อนแรง

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

กลายเป็นหนังคนละม้วนที่ปรับอารมณ์กันแทบไม่ทันทีเดียวสำหรับภาวะตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ร้อนแรง เมื่อปัจจัยทางจิตวิทยาเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังทำให้ตลาดทุนประสบภาวะผันผวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินสหรัฐเมื่อปี 2551

หลังจากที่เพิ่งทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดถึง 7,262.38 จุด ไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์กลับดิ่งลงสู่ภาวะตลาดหมีภายในเวลาแค่ 1 เดือนถัดมา โดยร่วงลงมาอยู่ที่ 6,556.65 จุด หรือต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี

ขณะที่ตลาดหุ้นบราซิลก็ดิ่งลงไปถึง 21% เมื่อเทียบกับช่วงสูงสุดในปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าภาวะขาลงของตลาดเหล่านี้อาจยังไม่ถึงจุดต่ำสุดเสียด้วย หากสหรัฐประกาศสิ้นสุดยุคของการอัดฉีดเงินเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม หากตลาดดีดตัวฟื้นกลับหลังการประชุมเฟดวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้ เพราะยังไม่ได้ยินการประกาศว่าจะชะลอแผนอัดฉีดเงิน 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้เช่นกันว่า ตลาดจะไม่เกิดภาวะตื่นตระหนักและผันผวนสุดขั้วเช่นนี้อีก ในเมื่อนักลงทุนทุกวันนี้ให้น้ำหนักกับเฟดและปัจจัยทางจิตวิทยาเหนือสิ่งอื่นใด

กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกจึงไม่สามารถพึ่งใครได้ นอกเหนือจากต้องเร่งปรับขบวนทัพฉุกเฉินกันครั้งใหญ่ในวันนี้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์ในตลาดทุนโลกที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตลาดอาเซียนที่พบการถอนทุนออกมากที่สุดในช่วงนี้ นำร่องประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีสองวันติดต่อกัน โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืน (ฟาสบี) อีก 0.25% ไปอยู่ที่ 4.25% เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ก่อนจะตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. โดยขยับอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 6%

การใช้มาตรการทางการเงินครั้งนี้มีขึ้น เพื่อมุ่งชะลอการอ่อนค่าลงอย่างหนักของค่าเงินรูเปียห์ อินโดนีเซีย ซึ่งดิ่งลงอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติพากันถอนทุนกลับ โยกเงินออกจากตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในตลาดทุนหรือกลุ่มคนรวยเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลกรุงจาการ์ตากังวลมากที่สุดก็คือ วิกฤตในตลาดทุนจะลากเอาภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงวายป่วงไปด้วย

เพราะเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงมากเกินไปจะดันให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจส่งผลกระทบต่อยอดไปยังการใช้จ่ายของผู้บริโภคตามมา

“ในช่วงแรกนั้น บรรดาตลาดเกิดใหม่ได้วางมาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้ากันเอาไว้ ทว่าปัจจุบันค่าเงินของประเทศเหล่านี้กำลังอ่อนค่าลงอย่างหนัก ทำให้พวกเขาต้องปวดหัวกับดุลบัญชีเดินสะพัด และเป็นที่ชัดเจนว่ามาตรการเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป รูปแบบความกังวลทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้น การปรับเปลี่ยนนโยบายจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม” ริชาร์ด เจอร์รัม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารกลางสิงคโปร์ ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก

ทั้งนี้ การเร่งปรับนโยบายของบรรดาตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกตั้งแต่ในเอเชียไปจนถึงอเมริกาใต้ ยังมีขึ้นสอดคล้องกับคำเตือนของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ออกโรงเตือนว่า ประเทศเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่งกำลังมีระดับการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทว่าไม่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นการโตบนเงินอัดฉีดจากต่างประเทศ ประเทศเหล่านี้จึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่หลายประเทศทั่วโลกระดมอัดฉีดทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปี 2553-2555 มีเงินทุนมหาศาลไหลเข้าสู่ตลาดทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ถึง 4.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ฟาก บราซิล นับเป็นตลาดเกิดใหม่อีกแห่งหนึ่งที่ต้องเร่งปรับนโยบาย เพื่อชะลอการไหลออกของทุนต่างประเทศ ไม่ให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วเกินไปจนช็อกตลาดทุนในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลแดนแซมบาประกาศยกเลิกภาษีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ประเภทสัญญาสกุลเงินต่างๆ ซึ่งเคยตั้งไว้ในระดับ 1% ลง เพื่อยับยั้งไม่ให้เงินรีลอ่อนค่าลงเร็วเกินไป ขณะที่ กุยโด มันเตกา รัฐมนตรีคลังบราซิล เพิ่งประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บราซิลจะยกเลิกภาษีการลงทุนต่างประเทศกับการซื้อขายพันธบัตรในบราซิล ซึ่งเคยตั้งอัตราภาษีไว้ที่ระดับ 6% เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนหันมาซื้อพันธบัตรบราซิลกันมากขึ้น

ขณะที่ อินเดีย ซึ่งประสบกับภาวะค่าเงินรูปีทรุดลงแตะระดับต่ำสุดแตะ 60 รูปีต่อเหรียญสหรัฐในสัปดาห์นี้ เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จนฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้ถอนออกจากตลาดทุนอินเดียนั้น ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้ธนาคารกลางอินเดียเทขายเงินเหรียญสหรัฐ เพื่อชะลอการอ่อนค่าลงของเงินรูปี

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงของธนาคารกลางด้วยการซื้อขายเงินนั้นยังเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาระยะสั้น ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเตรียมพิจารณาแผนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่ม ด้วยการเตรียมยกเลิกภาษีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้แก่อินเดียในระยะยาว

คาดว่าการปรับทิศพลิกนโยบายการเงินและการคลังเช่นนี้ จะยังคงมีให้เห็นอีกอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าความปั่นป่วนในตลาดทุนจะเป็นเพียงสัญญาณลวงของนักเก็งกำไร หรือเป็นการปรับตัวขึ้นลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจก็ตาม

งานนี้ขืนรับมือชักช้ามีสิทธิได้เห็นวิกฤตรอบใหม่เวียนคิวมาถึงฝั่งตลาดเกิดใหม่