posttoday

เศรษฐกิจไทยอาการหนัก

12 มิถุนายน 2556

ถึงตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยง หลังหมดแรงกระตุ้นจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/พรสวรรค์ นันทะ

ถึงตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยง หลังหมดแรงกระตุ้นจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล

ลางร้ายเหล่านี้เริ่มสะท้อนได้จากดัชนีและข้อมูลทางเศรษฐกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ 3 แห่ง คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณออกมาว่ากำลังเข้าสู่ภาวะอ่อนแรงลง

สภาพัฒน์ ระบุชัดว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ขยายตัวเพียง 5.30% นั้นถือว่าหดตัวลงถึง 2.20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ส่อให้เห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่การส่งออกซึ่งเป็นหัวรถจักรหลักของเศรษฐกิจในประเทศ เพราะมีขนาดเศรษฐกิจสูงถึง 70% ของจีดีพีประเทศที่มีอยู่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท ในไตรมาสแรกขยายตัวได้เพียง 4.50% ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ แต่ขยายตัวได้เพียงแค่ 0.50% ในรูปเงินบาท

นั่นหมายถึงว่า เมื่อนำเงินเหรียญสหรัฐออกมาแปลงเป็นเงินบาท ไม่เพียงกำไรของผู้ประกอบการจะลดลง แต่หมายถึงกำลังซื้อของผู้ส่งออกที่จะส่งต่อไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบต่อเนื่องทั้งภาคการผลิตและสินค้าเกษตรลดลงไปมหาศาล

เมื่อใดที่แรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรกหมดลง จะทำให้การใช้จ่ายหรือกำลังซื้อของประชาชนในประเทศลดลงอีก เพราะภาคการส่งออกไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนได้ ก็จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

การที่สภาพัฒน์ชิงประกาศปรับลดจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 4.20-5.20% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะโตได้ 4.50-5.50% เป็นสัญญาณที่ชัดว่าไม่เพียงแต่จีดีพีไตรมาสแรกโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เศรษฐกิจโลกก็ไม่ปกติ

ยิ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลของ สศค. ถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 2 ก็น่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจมีการชะลอตัว

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวติดลบ 3.80% และคาดว่าในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ จะขยายตัวติดลบอีก จนส่งผลให้ไตรมาส 2 ติดลบด้วย

ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคเกษตรก็ขยายตัวติดลบ ยิ่งทำให้กระทบเศรษฐกิจภาพรวมมากขึ้นไปอีก

อย่าลืมว่าประเทศไทยนั้นมีประชากรในภาคเกษตรมากที่สุด หากดัชนีภาคเกษตรหดตัว หมายถึงกำลังซื้อที่ลดลงมหาศาล

ครั้นจะมาพึ่งพาการลงทุน ของที่พอจะเป็นตัวช่วยให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้น มีเงินมาใช้จ่าย พอจะเป็นตัวดึงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ก็ส่อเค้าหดตัวอีก เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวติดลบถึง 8.50%

แถมดัชนีการบริโภคภาคเอกชนก็มีสัญญาณแผ่วลงมาก ดูได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในเดือน เม.ย. โตเพียง 3.70% จนส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวลดลงเหลือ 22.90% จากเดือนก่อนหน้า 93.40% เนื่องจากหมดมาตรการรถยนต์คันแรก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังลดลงเหลือ 73.90 จากเดือนก่อนหน้า 75.0

สัญญาณที่อ่อนตัวลงของเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ สศค.ต้องปรับลดจีดีพีปีนี้ลงจาก 5.30% ที่เคยคาดไว้เดิมอีก เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เป็นประเทศคู่ค้าของไทยยังชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกก็มีปัญหา

เห็นได้จากกระทรวงพาณิชย์เองก็ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือน เม.ย. มีมูลค่าเพียง 1.74 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวเพียง 2.89% ไม่ได้มีมูลค่า 1.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 10.52% จนต้องปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้ทั้งปีโตเพียง 77.50% จากเดิม 89% ส่งผลให้การขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังแผ่วลงมาก เพราะฐานปีก่อนหน้าสูง ทำให้การเติบโตอาจจะน้อยกว่าที่คาด จึงต้องทบทวนใหม่

ครั้นจะมาหวังเพียงแค่การจับจ่ายใช้สอยหรืออุปสงค์ในประเทศชะลอลง สะท้อนได้จากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนติดลบ 0.50% ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 0.70% รายได้ภาคการเกษตรก็หดตัวติดลบ 7.70% จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 4.80% บวกกับการส่งออกชะลอ ทำให้ผู้ผลิตในบางอุตสาหกรรมลดระดับการผลิตลงด้วย

จนดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมโตลดลงเหลือ 1.60% จากเดือนก่อนหน้า 5.10% เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบ 1.60% จากเดือนก่อนโต 0.30% จะดีบ้างก็แค่ภาคการท่องเที่ยวที่โต 21.60% จาก 20.30% เพราะมีนักท่องเที่ยวจากจีนและรัสเซียนิยมมาเที่ยวไทยเพิ่ม

สัญญาณการเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจไทยยังไม่หมดเท่านี้ เพราะหากมาพิจารณาเสถียรภาพด้านการเงินของประเทศก็กลับมีเค้าลางที่น่าห่วงด้วย

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันยังไม่สูงก็ตามที แต่ถ้าดูจากการขาดดุลล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ในเดือน เม.ย. กลับพบข้อมูลที่น่าตกใจ

เพราะประเทศไทยเจอภาวะการขาดดุลซ้อนกันถึง 4 รายการ

ดุลการค้าขาดดุล 1,620 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2,025 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนก็พบว่ามีการขาดดุลสูงถึง 1,742 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุลแค่ 89 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดุลบัญชีเดินสะพัดที่สะท้อนความเข้มแข็งของฐานะประเทศ ก็กลับพบว่ามีการขาดดุลสูงลิ่วถึง 3,361 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,936 ล้านเหรียญสหรัฐ และนับเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ถือว่าน่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง

เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะการส่งออกสินค้าเกษตรและประมงหดตัวลงแรง โดยเฉพาะการส่งออกข้าวที่ลดลงอย่างมาก อันเป็นผลจากความผิดพลาดของนโยบายรัฐบาล

ขาดดุลสุดท้ายที่อันตรายและอาจลากพาเศรษฐกิจให้เกิดอันตรายเหมือนวิกฤตในกลุ่มประเทศยุโรป คือ ขาดดุลงบประมาณในจำนวนที่มากโข

การขาดดุลงบประมาณของไทยนั้น ถือว่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 ที่ขาดดุล 4 แสนล้านบาท ปี 2556 ที่ขาดดุล 3 แสนล้านบาท และล่าสุดในปีงบประมาณ 2557 ที่เพิ่งจะผ่านสภา รัฐบาลก็จัดงบประมาณขาดดุลอีก 2.5 แสนล้านบาท ไม่มีวี่แววที่จะสมดุลได้

ที่สำคัญ การขาดดุลเหล่านี้ยังไม่รวมรายจ่ายในโครงการลงทุนนอกงบประมาณ การกู้เงินในโครงการลงทุนพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และการกู้เงินในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

ถ้ารวมการขาดดุลนอกงบประมาณเหล่านี้เข้าไป ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท

ภาวะเช่นนี้อันตรายมาก เพราะลำพังประเทศไทยเจอภาวะการขาดดุลแฝด คือ การขาดดุลงบประมาณและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในเวลาเดียวกันในห้วงปี 2539-2540 คนทั้งประเทศต่างพากันจนลงไปเกือบค่อนประเทศ

ถึงแม้ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นการขาดดุลเดือนแรก แต่หากสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศเองก็อ่อนแอพร้อมๆ กับเศรษฐกิจโลก โอกาสจะขาดดุลต่อเนื่องก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้

เนื่องจากจนถึงขณะนี้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้มีแผนการที่จะแก้ปัญหาให้ชัดเจน จึงไม่แปลกที่ความกังวลต่อภาวะสุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น

ขนาดสหรัฐประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพียงแค่ขาดดุลแฝดก็ยังน่าห่วงแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยขาดดุลถึง 4 รายการ จะไม่ให้วิตกกังวลก็เกินไป

ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏออกมาในขณะนี้ สะท้อนแนวโน้มความสุ่มเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐบาล ประชาชนผู้บริโภคผู้ประกอบการและนักลงทุนในภาคธุรกิจยังมองในภาพบวก

ความสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ ถ้าไม่หาทางแก้ไขโดยด่วน ปล่อยให้สถานการณ์จะถลำลึกลงไป เศรษฐกิจไทยพังแน่