posttoday

สัมพันธ์การค้า 2 มหาอำนาจศึกวัดใจสหรัฐ ดันจีนคู่ค้าหรือคู่แข่ง

12 มิถุนายน 2556

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่การฟื้นฟูและเติบโตยังคงไม่แน่นอน แถมยังเชื่องช้า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่การฟื้นฟูและเติบโตยังคงไม่แน่นอน แถมยังเชื่องช้า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาต้องการมากที่สุดในขณะนี้ก็คือแรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่ที่จะมาผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขยับไปข้างหน้า

แน่นอนว่า นอกจากแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่ทุ่มลงไปชนิดเกินขีดจำกัด จนทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะพุ่งชนเพดานหลายรอบ อีกหนึ่งแรงดันสำคัญก็คือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในฐานะเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อขยับขยายกิจการและการสร้างงานภายในประเทศ

และหนึ่งในทุนต่างชาติที่สหรัฐน่าจะพอคาดหวังได้บ้างในขณะนี้ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็คือ เอฟดีไอจากชาติมหาอำนาจอันดับที่ 2 ของโลกอย่างประเทศจีน

เห็นได้จากรายงานการนำเงินเข้ามาซื้อหุ้นหรือควบรวมกิจการรายใหญ่ของสหรัฐช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีกรณีตัวอย่างตอกย้ำชัดเจนล่าสุดอย่างการที่บริษัท ชวงฮุย อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลด์ดิงส์ ผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของจีนประกาศเข้าซื้อกิจการของสมิธฟิลด์ ฟู้ด อิงค์ ผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ที่สุดของโลกสัญชาติสหรัฐ ด้วยมูลค่าสูงที่สุดของการเข้าซื้อกิจการในสหรัฐของต่างชาติถึง 4,720 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.41 แสนล้านบาท) เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.

อย่างไรก็ตาม แม้จะยินดีกับการมาเยือนของจีน แต่นักวิเคราะห์ต่างสรุปตรงกันว่า สหรัฐกลับยังมีอาการกระอักกระอ่วนใจที่จะให้การยอมรับจีนในฐานะพันธมิตรทางการค้ามากกว่าคู่แข่งหรือภัยคุกคาม แม้การเข้ามาของจีนจะไม่ได้เฉียดใกล้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมืองและความมั่นคงของชาติเลยก็ตาม

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้เหตุผลตรงกันว่า สาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากทัศนคติความเชื่อของชาวสหรัฐส่วนใหญ่ที่ยังรู้สึกว่าไม่อาจจะเชื่อมั่นเชื่อใจจีนได้ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอ่ยถึงข้อตกลงที่มีผลประโยชน์มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ความไม่สบายใจที่จีนจะไขว่คว้าหาประโยชน์มากเกินพอดีจนไม่เหลือเผื่อถึงเจ้าของประเทศอย่างสหรัฐ รวมถึงการฉวยโอกาสคว้าเอาความรู้ วิทยาการ เทคโนโลยีไปต่อยอดจนกลายเป็นคู่แข่งผลิตสินค้ากับสหรัฐ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือความเห็นของ ชาร์ลส์ กราสลีย์ วุฒิสมาชิกจากรัฐไอโอวา ซึ่งกล่าวภายหลังการประกาศซื้อกิจการสมิธฟิลด์ของชวงฮุยว่าอดรู้สึกกังวลต่อระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารของสหรัฐไม่ได้ ขณะที่ผลสำรวจแบบสอบถามจากฮิล พลัสโนว์ตัน สแตรทเตอร์จี บริษัทด้านการสื่อสารในสหรัฐ ที่พบว่า 51% ของชาวอเมริกันยังคงเชื่อฝังหัวว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

ด้าน อีริก กอร์ดอน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและธุรกิจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า ชาวสหรัฐส่วนใหญ่เห็นว่าตนเองต้องเสียตำแหน่งงานให้กับจีน แถมยังต้องซื้อสินค้าจีนมากกว่าที่จีนซื้อจากสหรัฐ เป็นความรู้สึกถึงความไม่เสมอภาค หรือรู้สึกว่าสหรัฐกำลังเสียเปรียบจีน

ทัศนคติข้างต้นสะท้อนให้เห็นความกังวลที่จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้ามาลงทุนในสหรัฐของจีน เพราะความไม่ชอบใจผสมกับความกลัวจะกลายเป็นกระแสกดดันทางการเมืองให้รัฐบาลกำหนดมาตรการที่เข้มงวดกับจีนมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเลขจริงๆ ในปัจจุบัน จีนยังไม่แม้แต่จะติดอันดับ 1 ใน 20 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่เข้ามาในสหรัฐมากที่สุดเลยด้วยซ้ำ โดยปีที่ผ่านมาอันดับ 1 คือประเทศ เนเธอร์แลนด์ ตามด้วยฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน ยังทำให้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ในขณะนี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากผู้นำภาคธุรกิจในประเทศ โดยฝ่ายที่คัดค้านการเข้ามาของจีนได้เร่งรัดให้จัดการหาวิธีรับมือกับพฤติกรรมจีนที่เสมือนนักล่าความมั่งคั่ง และนักช่วงชิงทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนการเข้ามาลงทุนของจีนเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายกฎเพื่อเปิดทางให้จีนเข้ามาลงทุนซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจที่กำลังอ่อนแอของสหรัฐแข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมสหรัฐจึงไม่สบายใจที่จะเป็นพันธมิตรทางการค้ากับจีนได้เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุน

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งให้เหตุผลแรกสุดว่าเป็นเพราะแนวทางการปกครองที่แตกต่าง ทำให้แนวคิดและหลักการบริหารต่างกัน ขณะที่ประเทศหนึ่งมีระบบที่องค์กรอิสระตรวจสอบได้ อีกประเทศเลือกที่จะกุมทุกอย่างไว้อย่างเบ็ดเสร็จ และปิดเหตุผลในการตัดสินใจให้คลุมเครือ

เหตุผลประการต่อมาก็คือ การตีความของคำว่า “มาตรฐาน” ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยนักวิเคราะห์มองว่ามาตรฐานจีนยังคงห่างไกลจากความคาดหวังตามมาตรฐานสหรัฐ

ร็อกกี้ ลี หัวหน้ากฎหมายดำเนินการธุรกิจองค์กรของบริษัทกฎหมาย แคดวาลาเดอร์ วิกเคอร์เชม แอนด์ ทาฟท์ แอลแอลพี กล่าวว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือมาตรฐานด้านการบัญชีและการเมืองที่ไม่เท่าเทียมระหว่างสหรัฐกับจีน จนทำให้การทำธุรกิจระหว่างสองชาติเติบโตได้อย่างเชื่องช้า โดย ลี กล่าวว่า การจัดการบัญชีจีนเชื่อถือไว้ใจไม่ค่อยได้ มีตัวเลขที่ระบุที่มาไม่ได้ มีการกระทำเพื่อปกปิดค่านายหน้า หรือการหาเรื่องหักลดหย่อนภาษีมากจนผิดปกติ

สอดคล้องกับความเห็นของ เอ็ด คิง หัวหน้าการควบรวมและเข้าซื้อกิจการจากบาร์เคลย์ส ในฮ่องกง ที่ระบุว่า แม้ในช่วง 23 ปีให้หลัง บริษัทเอกชนจีนที่เป็นอิสระจากรัฐจะลงทุนในสหรัฐมากขึ้น แถมเลือกลงทุนในภาคส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือโทรคมนาคม แต่ด้วยปัญหามาตรฐานที่เหลื่อมล้ำ สหรัฐจึงยังไม่สบายใจที่จะคบหาจีนในฐานะคู่ค้าที่เท่าเทียม

ขณะที่เหตุผลประการสุดท้ายก็คือ เจตนาในการเข้ามาของจีน โดยนักวิเคราะห์แสดงความเห็นผ่านบลูมเบิร์กว่า บริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ของจีนอยู่ภายใต้การควบคุมสนับสนุนของรัฐบาล ดังนั้นสหรัฐจึงไม่สะดวกใจนักที่จะจับมือทำธุรกิจ เนื่องจากอดคิดไม่ได้ว่าจีนอาจจะเข้ามาล้วงความลับหรือบ่อนทำลายสหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาการลงทุนต่างชาติของสหรัฐ (ซีเอฟไอยูเอส) ได้ขวางการเข้าซื้อกิจการของบริษัทจีนอย่างน้อย 3 แห่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า การเข้าซื้อกิจการเหล่านั้น ข้องแวะกับกิจการที่เกี่ยวพันต่อความมั่นคงของชาติ เช่น พลังงาน โทรคมนาคม หรือตั้งอยู่ใกล้กับสิ่งก่อสร้างของทางกองทัพ

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน สหรัฐจึงไม่อาจนำความมั่นคงมาเสี่ยงเพื่อความมั่งคั่งได้ โดยเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาได้สั่งระงับไม่ให้บริษัท รอลส์ คอร์ป จากจีน สร้างโรงงานพลังงานลมใกล้กับฐานทัพเรือสหรัฐในโอเรกอน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ที่ประธานาธิบดีสหรัฐใช้อำนาจผู้นำขวางการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง

แต่แม้จะรู้สึกกระวนกระวายไม่สบายใจกับการเข้ามาของจีนเพียงใด แต่สุดท้ายแล้วสหรัฐก็ไม่อาจปฏิเสธจีนได้ โดย สตีเฟน ออร์ลินส์ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐจีน กล่าวว่า การลงทุนไม่ว่าจะมาจากชาติใด ย่อมเป็นประโยชน์กับสหรัฐทั้งสิ้น อย่างการลงทุนของจีนจะช่วยในเรื่องของการสร้างงาน เรื่องการเก็บภาษีของรัฐ ตลอดจนจะส่งผลดีต่อราคาสินทรัพย์และตลาดหุ้นภายในสหรัฐ

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องดีแน่นอนหากสหรัฐจะผ่อนคลายกฎการลงทุนให้กับจีนบ้าง ขณะที่ พิน หนี่ ประธานว่านเซียง อเมริกา อิงค์ ประจำรัฐอิลลินอยส์ บริษัทด้านการลงทุนของจีน กล่าวว่า การลงทุนจากจีนยังเป็นประโยชน์กับสหรัฐที่จะช่วยเจาะตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพในการจับจ่ายแห่งหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมถึงเงินทุนจากจีนที่เข้ามาเพื่อช่วยพยุงกิจการ ขยับขยายการเติบโต เสริมสภาพคล่อง และเพิ่มการจ้างงานในตลาดแรงงานของสหรัฐ โดยข้อมูลจากโรเดียม กรุ๊ป ระบุว่า ขณะนี้บริษัทจีนได้จ้างงานชาวอเมริกันเพิ่มมากขึ้นจาก 2.7 หมื่นคนเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 3.2 หมื่นคน ในเดือน พ.ค.ปีนี้

กลายเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สหรัฐจะต้องใคร่ครวญหาคำตอบให้ดี เพราะผลลัพธ์สุดท้ายก็คือการที่จะทำให้ได้จีนมาเป็นคู่ค้าที่เสมอภาคและพันธมิตรที่เท่าเทียม หรือการผลักให้จีนเป็นคู่แข่งคุกคามของจริง