posttoday

"พม่า" ส่อหมดแววเด่นทุนนอกลังเล หวั่นไม่คุ้มทุน

04 มิถุนายน 2556

หนึ่งในแหล่งลงทุนที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในขณะนี้ก็คงจะเลี่ยงไม่พ้น “พม่า” เพราะนับตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจไปสู่ระบบเสรีในปลายปี 2011 รัฐบาล

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

หนึ่งในแหล่งลงทุนที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดในขณะนี้ก็คงจะเลี่ยงไม่พ้น “พม่า” เพราะนับตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจไปสู่ระบบเสรีในปลายปี 2011 รัฐบาล และนักลงทุนจากทั่วโลกต่างก็หันมาให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนกันอย่างคึกคัก

ถึงกับที่ทาง แมคคินซีย์ แอนด์ โค บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของโลก ออกมาคาดการณ์แล้วว่า ภายในปี 2035 ขนาดเศรษฐกิจของพม่าจะขยายตัวขึ้นถึง 4 เท่าตัว จากที่ระดับ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบันไปอยู่ที่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ในมุมมองของนานาชาติ พม่าก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้จากการที่ได้รับโอกาสในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรัม ในเอเชียตะวันออกครั้งที่ 22 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 57 มิ.ย.นี้ ที่กรุงเนย์ปิดอว์ โดยจะมีทั้งผู้นำรัฐบาล นักลงทุน และผู้บริหารชั้นนำกว่า 900 ชีวิตจากทั่วโลกเข้าร่วม ขณะที่ในปีหน้าก็จะทำหน้าที่เป็นประธานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พม่าจะมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียในอนาคต ทว่าในความเป็นจริงการไปถึงจุดนั้นได้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะยังมีอุปสรรค ความท้าทายที่ยังต้องรอให้แก้ไขอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ระบบไฟฟ้า ระบบการเงิน การโทรคมนาคม ที่ยังล้าหลังอยู่มาก การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ นอกจากนี้กฎระเบียบการลงทุนก็ยังไม่ชัดเจน ปัญหาการคอร์รัปชัน และระบบพวกพ้องการเล่นเส้นสายในวงราชการและทางการเมืองก็ยังมีอยู่มาก

ด้วยเหตุนี้บริษัทต่างชาติจึงไม่ค่อยกล้าเข้ามาลงทุนอย่างเต็มตัวมากเท่าที่ควร และก็มีหลายรายที่เลือกจะเข้ามาสังเกตการณ์ก่อน เนื่องจากเกรงว่าอุปสรรคดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการเข้ามาลงทุนมีสูงมาก จนทำให้ผลกำไรที่จะได้รับกลับมาไม่คุ้มค่า โดยยืนยันได้จากปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในปีที่แล้วที่สิ้นสุดลงในเดือน มี.ค. 2013 นั้น มียอดหลั่งไหลเข้ามาเพียงแค่ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (ปริมาณดังกล่าวถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของพม่าที่มีอยู่ และเป็นตัวเลขที่เทียบเท่ากับประเทศลาวในปีที่แล้วอีกด้วย)

ไม่เพียงเท่านั้น โวดาโฟน และไชนาโมบาย 2 บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษและจีน ก็ได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากการแข่งประมูลใบอนุญาตลงทุนระบบโทรคมนาคมในพม่า พร้อมให้เหตุผลว่า กฎระเบียบการลงทุนไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท

นอกเหนือจากนี้ประเด็นด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาเสถียรภาพจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในประเทศก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างความกังวลแก่นักลงทุนไม่น้อย เนื่องจากปัญหาดังกล่าวทำท่าว่าจะลุกลามออกไปยังเมืองอื่นๆ แล้ว โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มศาสนาขึ้นแล้วที่เมืองลาโช ในรัฐฉาน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศแล้ว จากเดิมที่จำกัดวงขัดแย้งเฉพาะในรัฐยะไข่ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของพม่าเท่านั้น

ดังนั้น หากรัฐบาลยังคุมปัญหาดังกล่าวไม่อยู่หมัด และปล่อยให้ปัญหาลุกลามออกไปยังพื้นที่อื่นๆ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดูดีในขณะนี้ของพม่าอย่างแน่นอน ทว่าในขณะเดียวกันหากรัฐบาลเลือกใช้กำปั้นเหล็กและดำเนินการรุนแรงเกินไปก็อาจกลายเป็นผลเสียได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะทำให้หลายชาติรู้สึกลำบากใจในการยกเลิกและถอนมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้น และในที่สุดก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในพม่าของต่างชาติไป

ส่วนความท้าทายสุดท้ายที่กำลังจะกลายเป็นตัวบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงของเศรษฐกิจพม่าที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยก็คือ ปัญหาเรื่องค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าและผันผวนอย่างหนัก โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมาค่าเงินจ๊าดเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงอย่างหนักถึง 8% โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. จาก 890 จ๊าดต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 946 จ๊าดต่อเหรียญสหรัฐวันที่ 9 พ.ค. ส่วนวันที่ 3 มิ.ย. ค่าเงินจ๊าดของพม่าอยู่ที่ 939 จ๊าดต่อเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าเงินจ๊าดที่อ่อนลงจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทว่าในอีกมุมหนึ่งกลับกำลังทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัสดุต่างๆ จากต่างประเทศสูงมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งภาวะดังกล่าวดันมาเกิดขึ้นในช่วงที่พม่ากำลังต้องการการพัฒนาทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อร่างสร้างประเทศพอดี ดังนั้นจึงทำให้ต้นทุนที่ต้องใช้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศจึงสูงขึ้น และคาดว่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชนในดินแดนแห่งลุ่มน้ำอิรวดี

ไม่เพียงเท่านั้น การที่ค่าเงินจ๊าดยังคงผันผวนและอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เกิดภาวะการเก็งกำไรค่าเงินมากขึ้น และกักตุนเงินเหรียญสหรัฐเอาไว้มากขึ้น เพราะต่างก็เชื่อว่ามูลค่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากการที่ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวทางธนาคารกลางพม่าก็ออกมายอมรับแล้วว่าปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นจริง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงอย่างหนักในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลพม่าที่จะต้องหันมาสร้างความเชื่อมั่นและตอกย้ำให้เหล่านักลงทุนมั่นใจว่าปัญหาเหล่านี้จะสามารถจัดการได้ในไม่ช้านี้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นตัวบั่นทอนโอกาสอันสดใสของพม่าที่จะผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรงในอนาคตได้