posttoday

นับถอยหลังถอน "คิวอี" เอเชียเสี่ยงฟองสบู่แตก-หนี้ท่วม

30 พฤษภาคม 2556

นับตั้งแต่ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาเผยต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

นับตั้งแต่ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาเผยต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ว่า ในอนาคตข้างหน้าอาจตัดสินใจลดการใช้มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) เดือนละ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลง ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในอนาคตปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลและนักลงทุนทั่วโลกต่างก็หันมาจับตามองภาวะความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

ความกังวลว่าเฟดอาจลดการใช้มาตรการคิวอียิ่งได้รับการตอกย้ำหนักขึ้นไปอีกขั้น เมื่อดัชนีเอสแอนด์พี/เคสชิลเลอร์ ซึ่งเป็นผลสำรวจราคาอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐ ระบุว่า ราคาบ้านในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีการปรับตัวขึ้นถึง 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นการบวกที่พุ่งทะยานมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 2006 พร้อมกันนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. ก็เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยอยู่ที่ 76.2 จุด จาก 69 จุด ในเดือนก่อนหน้า

แนวโน้มดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างก็ฟันธงกันไปแล้วว่า เฟดจะต้องลดหรือถอนการใช้มาตรการคิวอีค่อนข้างแน่ ขึ้นอยู่กับว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น ซึ่งภาวะดังกล่าวย่อมนำไปสู่การแห่ถอนทุนกลับคืนสู่อ้อมอกของสหรัฐ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ไหลไปลงในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอย่างในเอเชีย ดังนั้น จึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ อินเดีย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

เพราะเงินร้อนมหาศาลจากการอัดฉีดของเฟดที่หลั่งไหลเข้าไปสู่เอเชีย เพื่อเก็งกำไรส่วนต่างผลตอบแทนและการเติบโตที่สูงกว่า ในขณะที่หลายชาติเอเชียใช้นโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวด้วยนั้น ได้กลายเป็นตัวบิดเบือนและกัดกร่อนพื้นฐานความแข็งแกร่งของเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอย่างหนัก โดยเห็นได้จากภาวะฟองสบู่สินทรัพย์และหนี้ทั้งภาคครัวเรือน เอกชน และหนี้สาธารณะที่พุ่งขึ้นอย่างหนัก จนทำให้หลายประเทศต่างตกอยู่ในอาการปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างหนักในขณะนี้

ยืนยันได้จากข้อมูลของแม็คคินซีย์ แอนด์ โค เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัลว่า หนี้ในทุกภาคส่วนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่อจีดีพีในเอเชีย ณ ปัจจุบัน ได้พุ่งทะยานขึ้นไปจนสูงกว่าระดับหนี้ในปี 1997 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีหลังที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่ระดับ 133% ต่อจีดีพีทั้งหมดในปี 2008 ขึ้นไปอยู่ที่ 155% ในช่วงกลางปี 2012

นอกจากนั้น จากการที่เงินกู้ยืมนั้นอยู่ในรูปของสกุลเงินต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้หลายชาติตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงมีหนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว หากเกิดภาวะ “ถอนทุนกลับ” ซึ่งจะดันให้เงินเหรียญสหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และดันให้ปริมาณหนี้ของเอเชียในรูปของสกุลเงินต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น

ฮ่องกง ซึ่งพบสัญญาณฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ขั้นสาหัสนั้น นับเป็นเขตเศรษฐกิจที่เสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่แตกมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย หลังจากนโยบายตรึงค่าเงินฮ่องกงกับเงินเหรียญสหรัฐส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของฮ่องกงขาดความยืดหยุ่น และกลายเป็นเป้านิ่งรับทุนร้อนจากต่างประเทศที่เข้ามาเก็งกำไร ค่าเงิน อสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ

ปัจจุบันราคาบ้านในฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นถึง 128% นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2008 ด้วยเหตุนี้หากเฟดยุติคิวอีขึ้นมา ก็จะส่งผลให้เกิดการถอนทุนกลับ นำไปสู่การปรับฐานของตลาดทุนครั้งใหญ่ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการตึงตัวของสินเชื่อและอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามมา

ในอดีตนั้น ฮ่องกงเคยมีบทเรียนมาแล้วในช่วงวิกฤตการณ์ภาคการเงินเอเชีย ปี 1997 เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่สั่งสมมานานแตกตัวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง นำไปสู่ภาวะการบริโภคที่ตกต่ำลงทั่วเกาะฮ่องกง ซึ่งก็ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก อีกทั้งยังเกิดภาวะเงินฝืดเข้าซ้ำเติมอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่าการยุติการใช้มาตรการคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกรอบ 2 ในฮ่องกงได้ ซึ่งในปัจจุบัน สิงคโปร์ ก็กำลังมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเผชิญปัญหาในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าที่ผ่านมาทางการสิงคโปร์จะผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวบ้างแล้วก็ตาม

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ ก็ออกมาเตือนว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจะนำไปสู่ปัญหางบดุลของครัวเรือน เนื่องจากบรรดาภาคครัวเรือนต่างคิดและเชื่อมั่นไปก่อนแล้วว่า ราคาบ้านจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทว่าความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ไม่เพียงเฉพาะแต่ฮ่องกงและสิงคโปร์เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากการยุติการใช้คิวอีของเฟด แต่ยังรวมไปถึงอินเดียและอินโดนีเซีย เนื่องจากปัจจุบันทั้งสองประเทศนี้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก หรืออยู่ในสภาวะที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น การที่นักลงทุนต่างชาติแห่ถอนเงินออกไปจากการถอนมาตรการคิวอีของเฟด ก็ยิ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศต้องหันมาพึ่งการขายสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อหาเงินทุนมาใช้พึ่งพาตนเองหนักขึ้นไปอีก

“การถอนทุนออกของนักลงทุนต่างชาติทั้งในรูปแบบของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ถือเป็น ความเสี่ยงต่อค่าเงินของเอเชียอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีการดำเนินนโยบายดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล หรือมีการเกินดุลเพียงเล็กน้อย อย่างอินเดียและอินโดนีเซีย” รายงานของบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ ระบุ

กรณีของ อินโดนีเซีย นั้น ดูท่าว่าจะหนักหนาสาหัสมาก เพราะการหลั่งไหลของทุนที่ออกจากแดนอิเหนาจะยิ่งกลายเป็นแรงกดดันต่อภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังค่าเงินรูเปียห์ของประเทศที่อ่อนค่าลงอยู่แล้วให้ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ แรงกดดันจากภาวะเงินทุนที่ไหลออกอย่างหนักหากว่าเฟดยุติการใช้คิวอี จะกลายเป็นตัวบีบคั้นให้ธนาคารกลางของอินโดนีเซียอาจต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเม็ดเงินต่างชาติเอาไว้ ทว่าในทางกลับกันก็จะไปขัดขวางการบริโภคและการลงทุนในประเทศแทน

ขณะที่ อินเดีย นั้น ก็คาดว่าจะต้องเผชิญกับค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก ขณะเดียวกันตลาดทุนในอินเดียก็เสี่ยงที่จะต้องได้รับความผันผวนไปด้วย ขณะเดียวกันเงินทุนที่ไหลเข้ามาน้อยอย่างกะทันหันก็ยิ่งกลายเป็นปัจจัยที่ทำลายการลงทุนในประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปีที่แล้วเงินทุนต่างชาติที่ไหลทะลักเข้าสู่อินเดียทั้งหมดอยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการใช้นโยบายอัดฉีดของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

เหล่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายในเอเชียจึงควรต้องจับตาและเตรียมมาตรการรับมือกับภาวะการถอนสมอคิวอีของเฟดเอาไว้ให้ดี เพราะเอเชียมีสิทธิเจ็บตัวหนักกว่าใครในยามที่อีกซีกโลกเขากำลังฟื้นตัว