posttoday

ปชป.ถล่มงบ'57เติมเชื้อเขย่าปู

29 พฤษภาคม 2556

เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ระดมขุนพลชุดใหญ่เตรียมถล่มรัฐบาล ด้วยการออกมาตีปี๊บเรียกแขกตั้งฉายางบประมาณฉบับนี้ว่า “ซุกหนี้ ตบตาประชาชน”

เมื่อวงเงิน 2.525 ล้านล้านบาทรอบนี้ เป็นการตั้งงบแบบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท แม้จะเป็นขาดดุลที่ลดลงหากเทียบกับปีงบประมาณ 2556 ที่ขาดดุล 3 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2555 ที่เป็นการขาดดุล 4 แสนล้านบาท

ทว่านั่นไม่ใช่สัญญาณแนวโน้มงบประมาณขาดดุลกำลังปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุล แต่เป็นเพราะงบประมาณรายจ่ายในหลายโครงการที่ควรจะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปกติ กลับถูกโยกไปบรรจุอยู่ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อการบริหารจัดการน้ำ และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

การอภิปรายงบประมาณปี 2557 จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกแผลใน พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.บ.กู้เงิน มาถล่มในเวทีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคุ้มค่า ความโปร่งใส การขาดรายละเอียดโครงการ โดยเฉพาะในส่วน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เริ่มมีข้อมูลความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังกรรมาธิการได้ทำหน้าที่ซักไซ้ไล่เลียงรายละเอียดต่างๆ

นั่นจึงทำให้ “เพื่อไทย” ต้องร้อนตัวออกมาส่งสัญญาณเบรกว่าไม่อยากให้การอภิปรายครั้งนี้เป็นการซ้อมย่อยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรืออภิปรายนอกงบประมาณ ไปถึงโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หรือโครงการรับจำนำข้าว

เปิดฉากอภิปรายของฝ่ายค้านเที่ยวนี้ยังเป็นคิวของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ที่จะมาฉายภาพความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารงานที่ผ่านมา ด้วยชุดข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ต่างจากที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงว่าจะเข้ามากระชากค่าครองชีพให้ลดลง แต่ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม

พร้อมไล่เลียงเปิดแผลความล้มเหลวในแต่ละโครงการของรัฐบาล ที่นอกจากไร้ประสิทธิภาพแล้ว ยังขาดความโปร่งใส มีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

ก่อนจะเปิดให้สมาชิกขึ้นมาถล่มลงรายละเอียดตามกรอบ 3 ข้อ คือ 1.ความล้มเหลวของการใช้จ่ายงบประมาณ 2.การทุจริต และ 3.การใช้งบประมาณที่นำไปสู่อำนาจโดยมิชอบ

เริ่มตั้งแต่ ความล้มเหลวของการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าวของราคาแพงที่รัฐบาลละลายงบไปในหลายส่วน แต่กลับไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาได้ ตรงกันข้ามกับสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์ม ที่ทุ่มงบไปช่วยพยุงราคา แต่ราคากลับยังลดต่ำกว่าเดิม

งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีม็อบออกมากดดันเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการจัดสรรรายได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2557 จาก 27.28% เป็น 30% ที่จะต้องถูกขมวดรวมเข้ามาอยู่ในการอภิปราย

ต่อด้วยการถล่มโครงการประชานิยมของรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่โครงการรถคันแรก ที่รัฐบาลประกาศว่าจะคืนเงินภายใน 1 ปี แต่กลับไม่สามารถทำได้ จนต้องขอจัดสรร 4 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และปี 2558 อีกจำนวน 6,812 ล้านบาท มาชดเชย

ถัดมาที่ประเด็นการทุจริต ซึ่งเป็นอีกไม้เด็ดของฝ่ายค้านที่จะไล่เลียงขยายแผลการทุจริตในโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบเอาผิดหลายส่วน

สุดท้าย ประเด็นการใช้งบประมาณที่นำไปสู่อำนาจโดยมิชอบ โดยเฉพาะการใช้งบประมาณในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ฝ่ายค้านมีข้อมูลเด็ดในมือเตรียมนำมาถล่มในเวทีนี้

แต่ที่จะเป็นไฮไลท์สำคัญของการอภิปรายเที่ยวนี้ ยังหนีไม่พ้นเรื่องโครงการ “จำนำข้าว” เที่ยวนี้มี หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม สส.พิษณุโลก ออกมาตีปี๊บเตรียมอภิปรายหัวข้อ “ฉีกหน้ากากจอมบงการ” ซึ่งเป็นภาคต่อจากศึกซักฟอก ด้วยข้อมูลที่เชื่อมโยงไปถึงตัวละครใหม่และการเข้ามาแทรกแซงกระทรวงพาณิชย์ของกลุ่มทุน

โอกาสนี้ ฝ่ายค้านเตรียมข้อมูลชุดใหญ่มาถล่ม ทั้งการขาดทุนจากโครงการหลายแสนล้านบาท เงื่อนงำความไม่โปร่งใส การตั้งงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทมาใช้ในโครงการในงบปี 2557 รวมไปถึงผลกระทบที่บานปลายไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ที่สำคัญเวทีนี้ฝ่ายค้านยังเตรียมขึงพืด “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ด้วยการทวงสัญญาที่เคยประกาศว่าจะรับผิดชอบ หากโครงการจำนำข้าวสร้างความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในโครงการรับประกันราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่เที่ยวนี้ “กิตติรัตน์” ไม่อาจบิดพลิ้วตอบคำถามนี้ได้อีกต่อไป

แน่นอนว่าการอภิปรายงบประมาณเที่ยวนี้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และด้วยเสียงข้างมาก สุดท้ายคงผ่านการให้ความเห็นชอบไปได้อย่างไม่ยากเย็น

เป้าหมายที่สำคัญจึงอยู่ที่การอภิปรายตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารราชการ เติมเชื้อเขย่าเสถียรภาพรัฐบาลไปเรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็อาจจะทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีหลายคนต้องสั่นคลอนหนักยิ่งขึ้น