posttoday

ไม้ตายย้ายข้าราชการปิดข้อมูลร้ายของรัฐบาล

28 พฤษภาคม 2556

การย้าย สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ดูแลภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ออกจากหน้าที่ให้ไปทำหน้าที่เป็นแม่บ้านของกระทรวง

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

การย้าย สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ดูแลภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ออกจากหน้าที่ให้ไปทำหน้าที่เป็นแม่บ้านของกระทรวง ปฏิเสธไม่ได้มาจากใบสั่งการเมืองที่ไม่พอใจการทำงาน เพราะการตั้งใจทำงานของรองปลัดคลังคนนี้มีหลายครั้งไปเปิดโปงความล้มเหลวนโยบายของรัฐบาล รวมถึงความไม่ชอบมาพากลในอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการ

แม้ว่า อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง จะให้เหตุผลสวยหรูว่าการยึดหน้าที่เดิมของ สุภา ให้รองปลัดกระทรวงการคลังคนอื่นดูแล ก็เพื่อต้องการให้ สุภา มาทำเรื่องธรรมาภิบาลของกระทรวงการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและการประสานงานกับภาคเอกชนในการทำเรื่องการป้องกันการทุจริตให้เป็นระบบ

หากดูผิวเผิน ก็ดูเหมือน สุภา ไปทำหน้าที่สำคัญกว่าหน้าที่ทำอยู่เดิม

แต่ในความเป็นจริง รองปลัดคลังหญิงเหล็กคนนี้จะทำงานได้อย่างไร ในเมื่อตัวเธอเองก็โดนเด้งจากหน้าที่ เพราะการเข้าไปต่อสู้กับฝ่ายการเมือง เปิดเผยข้อมูลที่เป็นภาระกับฐานะการคลังของประเทศในอนาคตให้ปรากฏ นอกจากนี้ยังต่อต้านการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ไปร่งใสของคนในองค์กรและคนในรัฐบาล

ดังนั้น เหตุผลของการโยกหน้าที่ สุภา จึงเป็นเหตุผลเพื่อปิดปากข้าราชการน้ำดี เพื่อจะได้ส่งข้าราชการที่รัฐบาลปิดปากได้ให้มาทำหน้าที่กลบความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ของรัฐบาลไม่ให้เป็นที่ปรากฏ เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบจากฝ่ายต่างๆ ต่อไป

การดำเนินการเด้ง สุภา จึงเป็นรังสีอำมหิตที่ปกคลุมการทำงานของข้าราชการไม่ให้สามารถทำงานในหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ เพราะการทำเช่นนั้นเท่ากับไปขัดผลประโยชน์ทางการเมือง และจะได้รับผลตอบแทนโดยการเด้งเข้ากรุในที่สุดเช่นนี้ทุกรายไป

กรณีของ สุภา จึงเป็นทั้งบทเรียนและแบบอย่างของข้าราชการที่จะทำประโยชน์ของประเทศโดยที่ไม่สยบอยู่ภายใต้อำนาจและผลประโยชน์จากฝ่ายการเมือง

ความจริง การโยก สุภา จากหน้าที่ มีสาเหตุสำคัญมาจากหลายเรื่อง

แต่ต้นตอสำคัญมาจากการที่ สุภา ซึ่งนั่งเป็นประธานกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และมีข้อมูลรั่วออกมาว่าโครงการรับจำนำข้าวปีแรกของรัฐบาลนี้ขาดทุนยับเยินถึง 2.6 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลพุ่งเป้าไปที่ สุภา เป็นคนปล่อยข่าว

ซึ่งเหตุผลดังกล่าว เป็นแค่ฉากบังหน้าหาเรื่องปลดเท่านั้น

แต่ปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ สุภา พยายามเร่งปิดบัญชีโครงการรับจำนำเพื่อที่จะได้รู้ภาระที่แท้จริงของประเทศเป็นอย่างไร ซึ่งสวนทางกับฝ่ายการเมืองที่ต้องการดึงเรื่องการปิดบัญชีให้นานที่สุด เพื่อไม่ให้ความจริงปรากฏและกลายเป็นหลักฐานประจานความล้มเหลวของรัฐบาล

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเมื่อรู้ว่าโครงการรับจำนำปีแรกขาดทุนบักโกรก ก็ยังมีความพยายามซิกแซ็กรวมโครงการจำนำข้าวปีแรกเข้ากับปีที่สอง เพื่อสร้างเงื่อนปมไม่ให้สามารถปิดบัญชีโครงการได้

แต่ สุภา ไม่เห็นด้วย เพราะการทำเช่นนั้นเหมือนเป็นการซุกความเสียหายไว้ใต้พรม ซึ่งนับวันยิ่งมีแต่จะเสียหายมากขึ้น

ข้อมูลด้านลบของโครงการจำนำข้าวถือเป็นจุดตายของรัฐบาล เพราะถือเป็นโครงการชิ้นเอกที่รัฐบาลหาเสียงและยืนยันมาตลอดว่าไม่ขาดทุน ถึงขาดทุนก็น้อยกว่าเงินที่รัฐบาลก่อนหน้าใช้ในโครงการรับประกันราคาข้าวที่ตกอยู่ปีละ 7 หมื่นล้านบาท

แต่เมื่อความจริงปรากฏ โครงการรับจำนำแค่ปีแรกขาดทุนถึง 3 เท่าของเงินที่รัฐบาลก่อนใช้ในโครงการรับประกันราคาข้าว ทำให้ สุภา กลายเป็นแพะสังเวยข้อมูลเน่าของโครงการรับจำนำของรัฐบาล

แม้แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็ยังลอยตัวไม่ได้แสดงท่าทีปกป้อง สุภา และก็ยังไม่ให้รายละเอียดความเสียหายจากโครงการรับจำนำ ทั้งที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และเป็นคนผลักดันให้คลังกู้เงินถึง 4.1 แสนล้านบาท กับเงินสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีก 9 หมื่นล้านบาท รวมกันเป็นเงินถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าว

ต้นตอของการเด้ง สุภา ออกจากหน้าที่ ยังมีปมมาจากเรื่องการส่งหนังสือคัดค้านการประมูลคลื่นโทรศัพท์ 3จี ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งการออกหนังสือดังกล่าวสร้างความไม่พอใจจากฝ่ายการเมืองอย่างมาก เพราะทำให้การประมูลสะดุด

แม้แต่ กสทช.ที่ทำหนังสือชี้แจงการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ให้เหตุผลเพียงแค่บอกว่า กสทช.เป็นองค์กรอิสระ ไม่จำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบพัสดุของทางราชการปกติ

ซึ่งการให้เหตุผล ของ กสทช.ก็ไม่ได้อธิบายว่าการจัดซื้อจัดจ้างที่ กสทช.ดำเนินการ ดีกว่าการจัดซื้อจัดจ้างปกติอย่างไร ต่างจาก สุภา ที่เห็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างปกติมีความโปร่งใสกว่า แม้ว่า กสทช.จะไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับ แต่ก็สามารถเลือกในสิ่งที่โปร่งใสกว่า ก็น่าจะเป็นเรื่องดีของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโครงการน้ำที่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่มีความพยายามดำเนินการซิกแซ็กให้มีการประมูลโดยวิธีพิเศษ แต่ สุภา ในฐานะที่คุมรายจ่ายของรัฐบาลและดูแลกรมบัญชีกลาง ได้แสดงความเห็นทั้งในการประชุมที่เกี่ยวข้องหรือการให้ความเห็นเป็นหนังสือ ว่าการจัดซื้อจัดจ้างต้องดำเนินการโดยวิธีปกติ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเงินแผ่นดิน

จะว่าไปแล้ว จุดยืนของ สุภา ในเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือไปถึงรัฐบาล แสดงความเห็นว่าการประมูลโครงการน้ำที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ มีแนวโน้มที่ไม่ถูกต้องและจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น

หรือแม้แต่การก่อสร้างโรงพักตำรวจที่มีปัญหา และ สุภา มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะกรรมการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยขอให้มีการสอบสวนหาคนผิด แต่เมื่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่าจะเข้าตัวเอง ก็มีความพยายามเตะถ่วงเรื่องนี้ พร้อมกับเตะโด่ง สุภา ออกไปจากวงโคจร

ทั้งหมดเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้รองปลัดหญิงของกระทรวงการคลังโดนปลดฟ้าฝ่ากลางวันออกจากหน้าที่ โดยก่อนหน้านี้ฝ่ายการเมืองต้องการให้ปลดออกจากตำแหน่งให้เข้ากรุนั่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง แต่ก็กลัวว่าจะโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นการย้ายนอกฤดูกาล ทำให้ถูกมองว่าเป็นการรังแกข้าราชการ รัฐบาลจะเสียภาพลักษณ์

ซึ่งการเด้งออกจากหน้าที่รองปลัดกระทรวงที่มีภารกิจดูแลรายจ่ายและหนี้สิน ก็เพียงพอที่จะเขี่ย สุภา ออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว และกรรมการ สตช. ที่ได้มาตามภารกิจที่ดูแลรายจ่ายของกระทรวงการคลัง

การโยก สุภา ยังทำให้หลุดจากการดูแลกรมบัญชีกลาง ทำให้ฝ่ายการเมืองหมดเสี้ยนหนามในการซิกแซ็กไม่ประมูลจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุ

กรณีการปลดข้าราชการน้ำดีเช่นนี้ จะส่งผลกระทบรุนแรงกับแวดวงข้าราชการเป็นอัมพาตมากขึ้น เพราะต่อไปข้าราชการน้ำดีก็ไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นช่องทำให้ข้าราชการน้ำขุ่นประจบประแจงฝ่ายการเมืองเพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง

ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะทำให้ต่อไปข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหรือการเมือง จะถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง เพราะข้าราชการต้องการเอาใจฝ่ายการเมืองหรือไม่ต้องการไปเหยียบตาปลาฝ่ายการเมืองให้เดือดร้อนต่อหน้าที่และตำแหน่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศก็กำลังวิ่งเข้าโค้งอันตราย เพราะข้อมูลจากฝ่ายราชการกำลังถูกฟอกจากดำให้เป็นขาว ส่วนข้อมูลที่เน่าฟอกให้ขาวไม่ได้ก็จะถูกซุกไว้ใต้พรม หรือถ่วงน้ำจมไว้ใต้ทะเล ปิดหูปิดตาคนทั้งประเทศไม่ให้ได้รับข้อมูลที่ควรรับรู้

ปรากฏการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัด จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล นอกจากความเสียหายหลายแสนล้านที่รัฐบาลพยายามจะปิดแล้ว การใช้เงินที่เกินกรอบที่กำหนดไว้ของ ธ.ก.ส. ที่ใช้เงินเกินสภาพคล่อง 9 หมื่นล้านบาท ไปหลายหมื่นล้านบาท โดยเลี่ยงวลีว่า เป็นเงินสำรอง เป็นหลักฐานว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลถังแตก ทำผิดกฎหมาย ไม่เป็นไปตามมติ ครม. ที่กำหนดว่าต้องใช้เงินให้อยู่ในวงเงิน 5 แสนล้านบาทเท่านั้น

ซึ่งกรณีดังกล่าว หัวเรือของ ธ.ก.ส.ไม่เคยออกมาชี้แจงเลย เพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลเคืองว่าเปิดแผลเน่าของรัฐบาล จึงเห็นว่าที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ส่งแต่รองผู้จัดการที่ไม่กี่เดือนจะเกษียณออกจากตำแหน่ง ซึ่งการให้ข้อมูลก็ไม่มีน้ำหนักอย่างที่ควรเป็น

ปรากฏการณ์เด้งราชการน้ำดี จึงเป็นภัยร้ายของประเทศ และการเด้ง สุภา เป็นการเขียนเสือให้ข้าราชการกลัว จะได้ไม่ให้แตกแถวมาเปิดเผยความจริงที่รัฐบาลไม่อยากให้เปิด