posttoday

อียูหมดทางเลี่ยงคิวอีเศรษฐกิจจ่อถดถอยยาวซ้ำรอยญี่ปุ่น

27 พฤษภาคม 2556

“คุณควรจะวิตกได้แล้ว และลงมือทำตามนโยบายเพื่อหลีกเลี่ยงมัน (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย)”

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

“คุณควรจะวิตกได้แล้ว และลงมือทำตามนโยบายเพื่อหลีกเลี่ยงมัน (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย)” เจมส์ บัลลาร์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำรัฐเซนต์หลุยส์แสดงความเห็นระหว่างการเยือนเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

นับเป็นข้อเสนอแนะแกมอ้อนวอนที่ส่งตรงถึงบรรดาผู้นำในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะ 17 ชาติสมาชิกผู้ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) หลังข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอียูระบุชัดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคหดตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสล่าสุดซึ่งอยู่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ลดเพิ่มอีก 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงไปแล้ว 0.6% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือน เม.ย. ร่วงเหลือ 1.2% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2553

แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคข้างต้นเริ่มสะท้อนให้เห็นเด่นชัดแล้วว่า ยุโรปกำลังเดินตามรอยญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยและเงินฝืดมาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี ก่อนที่รัฐบาลญี่ปุ่นในปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ จะตัดสินใจประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ อัดเงินเข้าระบบ และปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ จนแดนอาทิตย์อุทัยเริ่มมีสัญญาณสดใสอีกครั้ง

เห็นได้จากการที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นล่าสุดในไตรมาสแรกปี 2556 ปรับเพิ่มขึ้นเหนือความคาดหมายมาอยู่ที่ 3.5% ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “มาตรการคิวอี” ได้ผลเพียงใด

ขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานยืนยันคำพูดของบัลลาร์ดที่ย้ำหนักแน่นว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นสิ่งที่จำเป็นต่ออียูและอีซีบีอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ภูมิภาคยุโรปต้องตกอยู่ในภาวะถดถอยยาวนานขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบทเรียนจากญี่ปุ่นแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่ร่วงลงหลุมถดถอยแล้วก็เป็นการยากที่จะปีนขึ้นมาได้

สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ถ้าไม่อยากติดกับและตกอยู่ในชะตากรรมยากลำบากแบบเดียวกับญี่ปุ่น อียูและอีซีบีก็ต้องใช้คิวอีเสียแต่เนิ่นๆ ไม่ควรยื้อหรือถ่วงเวลาอีกต่อไป

ทั้งนี้ บทเรียนสำคัญที่อียูควรจะเรียนรู้จากญี่ปุ่น ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่าย ตลอดจากนักลงทุนทั่วโลกรู้สึกได้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มวางใจได้มากขึ้น ก็คือความชัดเจนเด็ดเดี่ยวที่ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นกล้าดำเนินการขั้นเด็ดขาด ทั้งการตั้งเป้าเงินเฟ้อที่ 2% การแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อกดค่าเงินเยนให้อ่อน การกำหนดทิศทางให้กับธนาคารกลางในการแก้ปัญหา และการใช้มาตรการคิวอีเพื่อให้บรรยากาศในตลาดหุ้นเป็นไปอย่างคึกคัก

เป็นการกระทำที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็นว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนในตลาดทั่วโลกที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ เริ่มต้นขยับขับเคลื่อนได้อีกครั้ง

กระนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมถึง สเตฟาน ชูลไมสเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจในออสเตรียกลับเห็นว่า บรรดาผู้นำในอียูไม่ได้เรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ทั้งสองภูมิภาคต่างเผชิญหน้ากับสารพัดปัญหาที่คล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาประชากรสูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ ยุโรปก็กำลังปวดหัวกับปัญหานี้เช่นกัน โดยอัตราการเกิดของเยอรมนีอยู่ที่ 1.36% ซึ่งต่ำกว่าญี่ปุ่นที่อยู่ที่ 1.39% ส่วนสเปนกับอิตาลีก็มีอัตราการเกิดที่ใกล้เคียงกับเยอรมนี

ด้านปัญหาเศรษฐกิจ ยุโรปกับญี่ปุ่นต่างประสบกับภาวะชะงักงันและถดถอยเหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงว่าขณะที่ยุโรปเพิ่งจะเผชิญหน้ากับสภาวะดังกล่าวมาได้ 5 ปี ญี่ปุ่นกลับเผชิญมายาวนานกว่าถึง 15 ปี ยังไม่นับรวมที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีบริษัทขนาดใหญ่ก่อตั้งมานาน และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่กลับไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดได้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ความคล้ายคลึงสุดท้ายที่ทั้งสองมีร่วมกันคือการที่ต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะในปริมาณมหาศาลด้วยกันทั้งคู่ ยืนยันได้จากเมื่อรวมเอาจำนวนการกู้ยืมเงินจากภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาครัฐมารวมกันแล้ว ญี่ปุ่นกับยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ คือประเทศต้นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับให้มีหนี้สูงสุดเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จนเรียกได้ว่าทั้งสองต่างมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีพุ่งเกิน 100% ด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้น ด้วยความเหมือนที่มีร่วมกัน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงลงความเห็นตรงกันว่า ถ้ามาตรการคิวอีส่งผลทางบวกกับญี่ปุ่นก็น่าจะส่งผลดีแบบเดียวกันต่อยุโรปได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ซึ่งติดตามสถานการณ์ของยุโรปมาโดยตลอดต่างเห็นว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้อียูไม่คิดใช้มาตรการคิวอีเสียทีก็คือทัศนคติและความคิดที่อยู่ โดยเฉพาะเยอรมนีมีต่อมาตรการดังกล่าว แม้จะมีตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วอย่างญี่ปุ่นก็ตาม

เฮอริเบิร์ต ไดเอ็ตเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองประจำสถาบันด้านความมั่นคงและการต่างประเทศในกรุงเบอร์ลินยอมรับว่าการให้อียูหันมาใช้มาตรการคิวอีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เมื่อหัวเรือใหญ่เช่นเยอรมนี ค่อนข้างต่อต้านอย่างหนัก ขณะที่นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิลยังคงยึดมั่นกับมาตรการรัดเข็มขัด ปรับโครงสร้าง และตั้งสหภาพการคลังเพื่อเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นสำคัญ

ขณะที่ มาร์ก ไวส์บรอต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายแห่งกรุงวอชิงตัน เสริมว่า ท่าทีของเยอรมนีข้างต้นสืบเนื่องมาจากแรงกดดันทางการเมืองเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่มีผู้นำในกลุ่มอียูคนใดออกมาพูดในทำนองที่ว่าอียูน่าจะดำเนินรอยตามญี่ปุ่นด้วยการใช้มาตรการอัดฉีด ซึ่งหมายถึงการยอมก่อหนี้เพิ่มเติม

ด้าน เดอะนิวยอร์ก ไทม์ส ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่อียูดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด คงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เยอรมนีดูจะเป็นประเทศเดียวที่ยังคงการเติบโตไว้ได้ ขณะที่ฝรั่งเศส และยูโรโซนโดยรวมเข้าสู่ภาวะถดถอยเรียบร้อย

ทั้งนี้ อดัม เอส. ปีเตอร์สัน ประธานสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันในกรุงวอชิงตันสรุปว่า ทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)ต่างบรรลุผลตามแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นด้วยกันทั้งคู่ ต่างกันแต่เพียงว่าขณะที่บีโอเจผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว อีซีบีกลับดันให้เศรษฐกิจอียูตกอยู่ในภาวะชะงักงันและถดถอย โดย ชูลไมสเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจในออสเตรียกล่าวว่า ยิ่งประเทศในอียูใช้มาตรการรัดเข็มขัดมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้หนี้ของประเทศเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่า การใช้มาตรการคิวอีไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือยาวิเศษที่จะรักษาอาการหนี้ท่วมของอียู โดยเฉพาะใน 17 ประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรให้หายขาดเหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์ในทั่วภูมิภาคยุโรปกล่าวเตือน

ทว่า อย่างน้อยที่สุด การใช้ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ย่อมเป็นทางออกที่เป็นไปได้สำหรับสหภาพยุโรปในขณะนี้