posttoday

มองคีร์กีซสถานย้อนดูไทยความต่างที่คล้ายคลึง

14 เมษายน 2553

สถานการณ์ในไทยจะถูกทำให้ดูราวกับคล้ายคลึงเหตุจลาจลคีร์กีซสถานได้อย่างไม่ยากนัก และหากมีผู้เสียชีวิตเมื่อใด ชาวต่างชาติที่จะแสดงอาการตื่นตระหนกที่สุด

สถานการณ์ในไทยจะถูกทำให้ดูราวกับคล้ายคลึงเหตุจลาจลคีร์กีซสถานได้อย่างไม่ยากนัก และหากมีผู้เสียชีวิตเมื่อใด ชาวต่างชาติที่จะแสดงอาการตื่นตระหนกที่สุด

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ในสถานการณ์ที่ประจวบเหมาะเช่นนี้ ไม่น่าประหลาดที่ผู้สังเกตการณ์ในต่างประเทศจะเปรียบเทียบวิกฤตการเมืองไทยกับความวุ่นจากการยึดอำนาจในคีร์กีซสถาน

แม้ว่าเงื่อนไขและและสภาพการณ์ของทั้งสองประเทศจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่มีความเหมือนที่ตรงกันอยู่ประการหนึ่งก็คือ วิกฤตครั้งนี้มีจุดศูนย์อยู่ที่ชายคนหนึ่ง ซึ่งเคยมีอำนาจสูงสุดในฐานะผู้บริหารประเทศ และบัดนี้ชายทั้งคู่ได้กลายเป็นบุคคลที่ถูกต้องการตัวมากที่สุดโดยผู้กุมอำนาจกลุ่มใหม่ในไทยและคีร์กีซสถาน

มองคีร์กีซสถานย้อนดูไทยความต่างที่คล้ายคลึง

ชายคนนั้นของคีร์กีซสถานคือประธานาธิบดี คูร์มันเบก บาคิเยฟ และชายคนนั้นของไทยคือ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม แม้ประเด็นปัญหา “บางส่วน” ของวิกฤตการเมืองในไทยและคีร์กีซสถานจะโคจรอยู่รอบๆ ชายทั้งสองคนดังกล่าว แต่ปัญหาลึกๆ ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่โครงสร้างและพัฒนาการทางการเมือง

ในกรณีของไทยย่อมเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วถึงความซับซ้อนของโครงสร้างทางการเมืองและสังคม

ส่วนคีร์กีซสถานมีโครงสร้างที่ซ้อนซ้อนน้อยกว่า แต่สุ่มเสี่ยงกับการมีผู้น้ำที่ฉ้อฉล ดังที่ล่าสุด เกิดการยึดอำนาจโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และโค่นล้มประธานาธิบดีบาคิเยฟ จนต้องถอยร่นไปตั้งหลังที่ภาคใต้ของประเทศ เนื่องจากประชาชนไม่อาจทนต่อการปกครองที่หมักหมมไปด้วยพฤติกรรมคอร์รัปชันและเล่นพรรคเล่นพวกได้

นอกจากนี้ ความแตกต่างของทั้งสองประเทศในด้านเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ และพัฒนาการทางการสังคมของไทย และคีร์กีซสถานยังเป็นปัจจัยที่ทำให้นานาชาติมองทั้งสองประเทศด้วยเลนส์ที่ต่างกัน

ในด้านเศรษฐกิจ คีร์กีซสถานยังต้องพึ่งพาจากภายนอกสูงมาก ขณะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีเศรษฐกิจร้อนแรงอย่างเหลือเชื่อในช่วงเวลาที่การเมืองร้อนระอุอย่างเหลือเชื่อเช่นกัน

ในด้านภูมิศาสตร์ ไทยเป็นประเทศเปิดอย่างเต็มที่ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่คีร์กีซสถานไม่มีทางออกทะเล เส้นทางเข้าออกสู่โลกภายนอกต้องผ่านกลุ่มประเทศเอเชียกลางหรือไม่ก็จีน ระดับการพึ่งพาจึงสูงมาก
ในด้านพัฒนาการทางการเมือง คีร์กีซสถานติดอันดับ 20 ประเทศที่ระดับคอร์รัปชันรุนแรงที่สุดในโลก ขณะที่ไทยเคยรั้งท้ายประเทศที่โปร่งใสที่สุดในเอเชียมาก่อนเช่นกัน

ไทยนับเป็นประเทศที่มีนานาประเทศเข้ามามีสัมพันธ์มากมายเกือบทุกทวีป ขณะที่คีร์กีซสถานถูกจำกัดด้วยปัจจัยดังที่ระบุไว้ข้างต้น จึงเป็นที่ที่มีตัวละครเข้ามาเล่นน้อยราย ซ้ำยังเป็นตัวละครหลักของเวทีโลกที่ยากจะขับไล่ไปให้พ้นทาง เพราะเป็นถึงรัสเซียและสหรัฐ และอาจรวมถึงจีนในบางกรณี

แม้จะมีประเทศหลักๆ เข้ามายุ่งเกี่ยวเพียง 3 ประเทศ แต่ด้วยเหตุที่ล้วนแต่เป็นประเทศ|มหาอำนาจ คีร์กีซสถานจึงต้องแขวนอยู่ในสื่อกระแสหลักอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

แม้จะแตกต่างราวฟ้ากับดินและความสำคัญจะเทียบกันอย่างไม่ติด แต่การเสนอข่าววิกฤตการณ์ในคีร์กีซสถานมีนัยต่อทัศนะของชาวต่างชาติและต่อบรรยากาศในไทย

หากติดตามข่าวสารอย่างคร่าวๆ ความสนใจมักจดจ่ออยู่ที่ระดับความรุนแรง ตัวอย่างเช่น มีผู้เสียชีวิตหรือไม่ หรือกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวต่างชาติหรือไม่

แน่นอนว่าในจุดนี้สถานการณ์ในไทยจะถูกทำให้ดูราวกับคล้ายคลึงเหตุจลาจลคีร์กีซสถานได้อย่างไม่ยากนัก และหากมีผู้เสียชีวิตเมื่อใด ชาวต่างชาติที่จะแสดงอาการตื่นตระหนกที่สุดคือ ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในระยะสั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว

กระนั้นก็ตาม ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คีร์กีซสถานเป็นที่รู้จักน้อยกว่าไทย ขณะที่ไทยเป็นเป้าหมายการเดินทางในระดับสากลมานานหลายทศวรรษ ความรู้สึกของชาวต่างชาติย่อมสามารถฟื้นคืนได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับไทยมานาน ขณะที่คีร์กีซสถานถูกปิดหรือปิดตัวเองจากโลกภายนอก ความรู้สึกที่สะท้อนกลับมาจึงค่อนข้างออกมาในด้านลบ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าไทยจะไม่ได้รับผลสะท้อนในด้านลบ

หากไทยพยายามปิดปัญหาของตัวเองจากการรับรู้ของโลกภายนอก ก็จะมีความเสี่ยงที่ไทยจะเผชิญกับท่าทีตำหนิจากต่างประเทศ และท่าทีตำหนินี้อาจเปลี่ยนเป็นความไม่ยี่หระต่อไทย จนในที่สุดสถานะของไทยจะกลายเป็นประเทศที่ไม่อยู่ในการรับรู้ของชาวโลกไปโดยปริยาย

กลุ่มๆ แรกที่จะได้รับกระทบอย่างรุนแรงที่สุดคือ เศรษฐกิจและการลงทุน อันเป็นหัวใจหลักของปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประชาคมโลก

ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บของผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติในไทย อาจทำให้ไทยได้รับการเปรียบเทียบที่เจ็บปวดยิ่งกว่าการเทียบกับคีร์กีซสถาน

เพราะหากผู้สื่อข่าวยังตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ความรุนแรงในกรณีต่อๆ ไป เราก็คงไม่ต่างอะไรกับประเทศอย่างอิรัก หรืออัฟกานิสถาน

โชคดีที่ไทยยังไม่มีแนวโน้มที่จะก้าวไปถึงขั้นนั้น

การเผชิญหน้าระหว่างคนไทยด้วยกันยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงในเร็ววันนี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ “คู่แฝด” ของเราในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่ไทยยังมีต้นทุนอย่างล้นเหลือในทางสังคม และยังไม่ถึงขั้นที่ประเทศได้ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายยึดอำนาจ และฝ่ายที่ยังดึงดันในอำนาจ

ได้แต่ภาวนาว่าต้นทุนของความเป็นไทยที่ยังหลงเหลืออยู่จะไม่เปลี่ยนประเทศนี้จนกลายเป็นดินแดนที่หมิ่นเหม่กับภาวะมิคสัญญีเหมือนดัง คีร์กีซสถาน