posttoday

แก้หนี้สางปมจน-รวยต้านม็อบแดงทะลักกรุง

14 เมษายน 2553

นับเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน เป้าหมายหลักคือการกุมหัวใจของคนยากจน

นับเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน เป้าหมายหลักคือการกุมหัวใจของคนยากจน

โดย...ทีมข่าวการเงิน

นับเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน เป้าหมายหลักคือการกุมหัวใจของคนยากคนจนซึ่งเป็นฐานเสียงหลัก

ขณะเดียวกันก็หวังที่จะตรึงให้คนยากคนจน ชาวไร่ ชาวนาอยู่กับบ้านจัดการเรื่องปัญหาหนี้สินของตัวเองไป

ไม่ต้องพากันหอบสังขารจากบ้านนอกคอกนา ออกมารวมพลังกับม็อบต้านนายกฯ กับกลุ่มคนเสื้อแดง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลได้พยายามสร้างสรรค์โครงการต่างๆ นับตั้งแต่การสั่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. พักหนี้เกษตรกร รอบที่ 2

ตามต่อด้วยโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นงบลงทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ภูมิภาค

และเหยียบคันเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของคนจน จนมียอดขึ้นทะเบียนจากทั่วประเทศกว่า 1.2 ล้านคน

ล่าสุดนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 เดินหน้าซื้อใจชาวรากหญ้า โดยสั่งการให้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ลุยแก้หนี้ให้กับเกษตรกรกว่า 5.1 แสนราย

เน้นแก้หนี้ให้กลุ่มที่เป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2552 กำหนดเพดานแก้หนี้เฉลี่ยต่อรายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท

แก้หนี้สางปมจน-รวยต้านม็อบแดงทะลักกรุง

เมื่อพิจารณาดูแล้วถือว่าเป็นหนี้ระดับที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะของเกษตรกรรายย่อย เพราะคนที่จะเป็นหนี้ขนาดนี้ได้ ก็สมควรจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน

รูปแบบการแก้หนี้ครั้งใหม่นี้ มีการจัดโปรโมชันแรงไม่แพ้ครั้งก่อนๆ เพราะสั่งการให้ธนาคารรัฐลดหนี้เงินต้นให้เกษตรกรถึง 50% พร้อมหยุดคิดดอกเบี้ยทั้งวงเงิน โดยหนี้เงินต้นที่ให้ชำระแค่ 50% นั้น ได้ขยายเวลาชำระหนี้ให้นานถึง 15 ปี รวมทั้งยังอนุมัติงบมากถึง 5,870 ล้านบาท เพื่อช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งๆ ที่งบที่มากมายแบบนี้ไม่น่าจะเรียกว่า “พอเพียง” แม้แต่น้อย

แต่ก็ซื้อใจเกษตรกรทั้ง 5.1 แสนราย ที่ได้รับการพักชำระหนี้ไปเต็มๆ

สำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้ แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 8 หมื่นราย กลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นหนี้กับสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 3.5 แสนราย และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ และเป็นหนี้กับสถาบันการเงินเอกชน สหกรณ์ และนิติบุคคล จำนวน 8 หมื่นราย รวมมูลหนี้ทั้งหมด 8.04 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีที่ดินอยู่จำนวน 5 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าที่ผ่านมาสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ มีการก่อม็อบขอให้รัฐเข้ามาช่วยเรื่องแก้หนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และรัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท ให้กับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อรับซื้อหนี้จากเกษตรกร และให้โอนเจ้าหนี้จากธนาคารพาณิชย์มาเป็นเจ้าหนี้ คือ กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรแทน

แต่เพราะการบริหารงานภายในไร้ประสิทธิภาพ ทำให้มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือจริงไม่ตรงกับยอดเงินที่ได้รับจากรัฐบาลมากนัก

ทำให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานพิเศษของนายกรัฐมนตรี เสนอไอเดียให้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง ช่วยเข้ามาปรับโครงสร้างด้วยโปรโมชันพิเศษแทนการอนุมัติงบให้กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรไปรับซื้อหนี้เองเหมือนเดิม

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า คุณสมบัติของคนที่เข้าโครงการนี้มี 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.คนที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้สินจริงๆ เพราะคนที่จะเข้าโครงการนี้ได้ต้องผ่านกระบวนการปรับทัศนคติในการเป็นหนี้ใหม่ และเข้าฟื้นฟูอาชีพควบคู่กันไปด้วย
2.ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลที่มีปัญหาหนี้สินจริง หมายถึง ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วมหรือฝนแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตล้มเหลว หรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในครอบครัว เช่น คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ ผู้นำครอบครัวเสียชีวิต หรือมีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย จนต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ธนาคารรับได้

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้กำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้ว่า ลูกหนี้จะได้รับการลดภาระหนี้ 50% และงดคิดดอกเบี้ยที่ค้างมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ โดยมีระยะเวลาในการผ่อนนานถึง 15 ปี ถ้าลูกหนี้สามารถผ่อนชำระค่างวดได้ครบตามระยะเวลาที่ตกลงกัน ธนาคารจะยกหนี้ส่วนที่เหลืออีก 50% รวมภาระดอกเบี้ยให้

แต่กรณีที่ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ได้ ลูกหนี้จะต้องกลับมารับภาระตามเดิม

“โครงการนี้ไม่ได้เป็นการยกหนี้ให้เกษตรกร เบื้องต้นจะต้องพิสูจน์ได้ว่ามีความตั้งใจจะแก้หนี้และหนี้เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ใครทั่วไปจะมาขอลดหนี้เหลือ 50% ได้ทุกคน ถ้าเข้าโครงการแล้วผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงไม่ได้ ก็ต้องกลับมาเป็นหนี้ตามเดิม เว้นแต่สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้เพราะอะไร” นายลักษณ์ กล่าว

นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า วิธีการแก้หนี้ดังกล่าวจะทำให้ธนาคารได้เจอตัวลูกหนี้ทำให้ธนาคารได้มีโอกาสในการฟื้นฟูลูกหนี้ ต่างจากรูปแบบก่อนหน้านี้ที่กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรจะเป็นผู้รับซื้อหนี้ไปแล้ว ให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้คืนกับกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเอง

ส่วนลูกหนี้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรที่ต้องการเข้าโครงการนี้ ก็จะได้รับการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ตามกระบวนการของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเอง

สำหรับลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. ที่มีการขึ้นทะเบียนลูกหนี้ไว้กับกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2552 มีจำนวนประมาณ 5 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่เป็นเอ็นพีแอล ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูฯ มีประมาณ 3 แสนราย จากลูกหนี้ทั้งหมดกว่า 5.1 แสนราย โดยลูกหนี้ที่เหลือกระจายอยู่กับธนาคารรัฐแห่งอื่นๆ รวมถึงสหกรณ์การเกษตรต่างๆ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าความพยายามของรัฐบาลที่ผ่านมามีการดำเนินการใน 2 ลักษณะ คือ การเดินหน้าปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ลงทุนในโครงการถนนไร้ฝุ่น การวางระบบโลจิสติกส์ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

รวมทั้งยังเข้าช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ การลดช่องว่างคนรวยคนจนผ่านโครงการพักหนี้ และแก้หนี้คนจน มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องปากท้องให้คนจน ซึ่งถือเป็นโครงการยอดฮิตตลอดกาลที่เรียกคะแนนนิยมได้อย่างล้นหลาม

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่เคยประเมินว่า การทุ่มเทงบประมาณเพื่อจัดการกับปัญหาหนี้สินเกษตรกรตลอดช่วงที่ผ่านมา ได้ใช้เงินไปมากมายมหาศาลแค่ไหน และมีเกษตรกรกี่รายที่สามารถออกจากวงเวียนปัญหาหนี้สินได้จริง

ปฏิบัติการทางนโยบายที่ทำไปแค่เพียงหวังผลระยะสั้นๆ หรือแต่สกัดกั้นไม่ให้ม็อบเสื้อแดงทะลักเข้ากรุง

ขณะที่เรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ การวางโครงสร้างการจัดการกับปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนในระยะยาวว่าจะจัดการในรูปแบบใดได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การออกกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะช่วยเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเป็นธรรม รวมถึงการออกมาตรการหรือการออกกฎหมายการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมเพื่อเปิดโอกาสให้คนจนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้แม้จะถูกยกร่างขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

แต่กลับชักช้าอืดอาจ ทั้งๆ ที่เป็นการวางโครงงานในระยะยาวเพื่อแก้ปม รวย-จน ห่างกันจนแหงนคอตั้งบ่า

วันนี้น่าจะถึงเวลาที่รัฐบาลหันมาทบทวนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ว่าจะหาทางอย่างไรเพื่อวางโครงสร้างให้เกษตรกรไทยได้หลุดพ้นจากความเป็นหนี้

จากนั้นจึงค่อย ลด ละ เลิก นโยบายที่คอยแต่ใช้เงินภาษีประชาชนไปแจกรายหัวด้วยการแก้หนี้ แก้หนี้ และแก้หนี้

เพราะวิธีการเช่นนี้ถมเท่าไรก็ไม่สำเร็จ

แต่หากรัฐบาลโยนเบ็ด วางโครงสร้างสอนให้ชาวบ้านรู้จักตกปลา ย่อมได้ผลมากกว่าในการลดปัญหาด้านชนชั้น...