posttoday

ต้อนมาร์คเข้ามุมอับ ประเทศช้ำ-ปชป.ทรุด

14 เมษายน 2553

สถานการณ์ขณะนี้จึงเป็นวิกฤตที่อภิสิทธิ์ไม่เคยเผชิญความเลวร้ายเช่นนี้มาก่อน จึงขึ้นอยู่กับอภิสิทธิ์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

สถานการณ์ขณะนี้จึงเป็นวิกฤตที่อภิสิทธิ์ไม่เคยเผชิญความเลวร้ายเช่นนี้มาก่อน จึงขึ้นอยู่กับอภิสิทธิ์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

โดย...ทีมข่าวการเมือง

วินาทีนี้ต้องเรียกได้ว่า เคราะซ้ำกรรมซัดสำหรับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ผลพวงจาก “วิกฤต 10 เมษา” ไม่เพียงแต่กระทบรัฐบาล ยังกระเทือนถึงเก้าอี้อภิสิทธิ์

ล่าสุดมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบบสายฟ้าแลบที่ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก็สั่นสะท้านไปทั้งพรรคในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล

“อภิสิทธิ์-รัฐบาล–พรรคประชาธิปัตย์” โดนชะตากรรมเดียวกันเป็นลูกระนาด

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ต้องบอกว่านี่ถือเป็นครั้งสองที่เผชิญคดียุบพรรค หลังจากเคยรอดพ้นมาได้เมื่อปี 2550

แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นศึกหนักกว่าครั้งที่แล้ว เพราะเป็นผลพวงมาจากกดดันของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่พุ่งชน กกต.แบบเต็มๆ และยังจะใช้มวลชนคนแดงบีบศาลรัฐธรรมนูญต่อไปเพื่อให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้

มีคำถามว่า ทำไม กกต.ถึงเร่งพิจารณาคดีนี้ ทั้งที่ในช่วงที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกไปเยี่ยมที่สำนักงาน กกต.เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประสานเป็นการภายในระหว่าง กกต. และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ว่าจะสรุปคดีนี้ในวันที่ 20 เม.ย.

แต่ กกต.กลับคลอดมติยุบพรรคเป็นของขวัญคนเสื้อแดงเร็วกว่ากำหนดถึง 8 วัน

ต้อนมาร์คเข้ามุมอับ ประเทศช้ำ-ปชป.ทรุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงมติยุบพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ เป็นผลจากพลังกดดันของม็อบเสื้อแดง ทำให้ กกต.ต้องรีบ “เขี่ยบอล” ไปให้อัยการสูงสุด (อสส.) และเพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดขั้นสุดท้าย

แว่วว่าในการประชุม กกต.นัดพิเศษวันที่ 12 เม.ย. แท้ที่จริงแล้ว กกต.ยังไม่มีวาระพิจารณาคดียุบพรรค มีเพียงการประชุม กกต. นอกรอบถึงความคืบหน้า

แต่เมื่อประชุมในช่วงเช้า กกต.บางรายถามถึงความคืบหน้า ประธาน กกต.จึงแจ้งว่า คณะทำงานได้พิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนจะถูก กกต.ส่วนใหญ่บีบให้ลงมติชี้ขาด จึงเป็นที่มาของมติยุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเวลา 15.00 น.

ทว่า พรรคประชาธิปัตย์เองยังพอมีเวลาหายใจอยู่บ้าง เพราะขั้นตอนการพิจารณาคดียังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อสส.มีเวลาพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 30 วัน หาก อสส. สั่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากมีคำสั่งไม่ฟ้องต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับ กกต. เพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน และถ้ายังหาข้อยุติไม่ได้ กกต.สามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเองได้

พิจารณาดูแล้วเอาแค่ขั้นตอนก่อนจะถึงมือศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลามากที่สุดถึง 60 วัน ยังไม่นับขั้นตอนเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาว่าจะต้องใช้เวลาออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนนานเท่าไหร เท่ากับว่าประชาธิปัตย์ยังพอมีทางดิ้นอยู่บ้าง

ถ้าที่สุดแล้ว ศาลยกคำร้องก็ดีไป แต่ถ้ามีคำสั่งให้ยุบพรรค ผลก็จะกระเทือนต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง เพราะจะทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดปี 2545 ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

บิ๊กประชาธิปัตย์วันนั้นจนถึงวันนี้ล้วนเป็นคีย์แมนสำคัญทั้งสิ้น

ไม่ว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม อลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ วิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

คดียุบพรรคจึงเป็นชะตากรรมที่สร้างความหนักใจให้กับแกนนำพรรค ไม่ใช่ห่วงเพราะสู้เรื่องข้อกฎหมายไม่ได้

แต่ห่วงเพราะการใช้กระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นสองมาตรฐาน ถ้าไม่ได้ดั่งใจเสื้อแดง ก็จะขู่ป่วนเมือง ชุมนุมจับประเทศเป็นตัวประกันไม่สิ้นสุด!!

นั่นเป็นปัญหาระยะยาวที่จะใช้เวลารู้ผลอีก 8-9 เดือน ทว่าวิกฤตระยะสั้นที่รัดพรรคประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์อยู่ คือ ผลพวงจาก “วิกฤตการณ์ 10 เมษา”

อภิสิทธิ์และรัฐบาลจะดำรงอยู่ได้อย่างไรในแต่ละวัน ทั้งม็อบเสื้อเดงที่ไม่ยุติการชุมนุม จนเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจที่ต่างชาติสั่งนักท่องเที่ยวห้ามเดินทางมาไทย

ผลกระทบเหล่านี้เป็นบูเมอแรงตีกลับมาที่รัฐบาลแม้จะอยู่ได้แต่ก็บริหารลำบาก วิกฤตประเทศกับภาวะอนาธิปไตย ที่คนเสื้อแดงป่วนเมือง วันทั้งวันได้แต่เคลื่อนไปที่นั่นที่นี่ คุกคามเสรีภาพประชาชน ใครไม่เห็นด้วยก็ทุบตี

สภาพกฎหมู่เหนือกฎหมายเช่นนี้ ยิ่งนานวันหากไม่สามารถคลี่คลายก็จะเกิดคำถามรัฐบาลดังหนักขึ้นว่า “ยุบสภาเหอะ” ปัญหาจะได้จบ เหมือนอย่างที่สภาอุตสาหกรรมเริ่มออกโรงเรียกร้องไปยังอภิสิทธิ์

นานวันเข้าสถานะของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยิ่งอ่อนแอ ยวบยาบ ปัญหาที่หนักกว่านั้น คือกลไกรัฐจะเกิดอาการ เกียร์ว่าง เพราะเห็นหลุมดำการเปลี่ยนผ่านว่า ถ้ามีการเลือกตั้งเร็วกว่า พรรคเพื่อไทยก็อาจกลับมาเป็นรัฐบาล

ซึ่งพรรคเพื่อไทยในฐานะนอมินีทักษิณ หากได้อำนาจบริหารประเทศหลังเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าจะเกิดการโยกย้ายล้างบางขนานใหญ่เหมือนยุคพลังประชาชน หรือสมัยรัฐบาลไทยรักไทยที่มีความเหี้ยมในตัว

ใครเป็นมือไม้ประชาธิปัตย์ หรือรับใช้บิ๊กพรรคร่วมรัฐบาล เช่น กลไกฝ่ายปกครองของเครือข่ายชิดชอบ จะเป็นเป้าหมายเด้งเข้ากรุลำดับแรก

สถานการณ์ขณะนี้จึงเป็นวิกฤตที่อภิสิทธิ์ไม่เคยเผชิญความเลวร้ายเช่นนี้มาก่อน จึงขึ้นอยู่กับอภิสิทธิ์ว่าจะตัดสินใจพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างไร บนทางเลือกที่ฝ่ายการเมืองไม่อยากเลือก หลังเสื้อแดงปิดประตูตาย “ไม่เจรจา”