posttoday

ลุอำนาจเชือด "วิทิต" สุมไฟขัดแย้งแพทย์ชนบท

21 พฤษภาคม 2556

มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างเกิดขึ้น หลังคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่างเกิดขึ้น หลังคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. ออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลเรื่องการบริหารงานของหมอวิทิต 2 ข้อ ได้แก่ 1.การจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล 148 ตัน จากประเทศจีน ช่วงอุทกภัยปี 2554 มีการปนเปื้อนไม่ได้มาตรฐาน และ 2.การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ล่าช้า

ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2555 หลัง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) รับตำแหน่ง จะพบว่ามีความพยายามปลด นพ.วิทิต อยู่แล้ว หากแต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจาก นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานบอร์ดขณะนั้น ไม่เอาด้วย และตัดสินใจลาออก เนื่องจากไม่สามารถทำได้ ฝ่ายการเมืองจึงหันไปเลือก นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทางเครือญาติกับ นพ.ประดิษฐ ขึ้นเป็นประธานบอร์ด อภ.แทน

เมื่อ นพ.พิพัฒน์ ขึ้นมาเป็นประธานบอร์ดได้ 3 เดือน เก้าอี้ของ นพ.วิทิต ก็เริ่มร้อนฉ่า เพราะมีข่าวรายวันตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึงปัญหาวัตถุดิบยาพาราเซตามอลไม่ได้มาตรฐาน จน สธ.ยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่าดีเอสไอมีความเป็นกลาง มากกว่าที่จะตั้งกรรมการสอบภายใน สธ.

กระทั่งวันที่ 1 พ.ค. ดีเอสไอก็ชี้มูลความผิด นพ.วิทิต ว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยชิ่งไปโดน นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานบอร์ด อภ. ไปด้วย โดยกระบวนการสอบสวนของดีเอสไอพบว่า นพ.วิชัย ทราบขั้นตอนการทำงานของ นพ.วิทิต เป็นอย่างดี แต่ไม่ได้ห้ามปราม หลังจากนั้นไม่นาน วันที่ 16 พ.ค. ดีเอสไอก็เปิดผลสอบเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ล่าช้าทันที โดยระบุว่ามีการฮั้วประมูลเช่นกัน ทั้งที่ นพ.วิทิต เพิ่งส่งข้อมูลให้ดีเอสไอสอบสวนในช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ค.เท่านั้น

วันรุ่งขึ้น บอร์ด อภ. ก็ตัดสินใจเลิกสัญญาจ้าง นพ.วิทิต โดยผู้รับผิดชอบในการสอบเรื่องร้อน และแถลงข่าวสาเหตุในการปลด คือ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล และ นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นประธานสอบสวนกรณีความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีน

น่าสังเกตก็ตรงที่ทั้ง นพ.นิพนธ์ และ นพ.สมชัย เหลืออายุราชการอีกเพียง 5 เดือน ฝ่ายการเมืองจึงเลือกทั้งสองเป็นประธานสอบข้อเท็จจริง เพราะอายุราชการเหลือน้อย ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองต่อไป และไม่ต้องมีแผลในการแต่งตั้งโยกย้ายรอบต่อไปอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ผลสอบของทั้งสองเรื่องก็ถูกตั้งคำถามในหลายแง่มุม โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สธ. ก็โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งของกระทรวงสาธารณสุขก็มีความล่าช้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากรายละเอียดการก่อสร้างมีความซับซ้อน แต่สุดท้ายไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบ และปลัด อธิบดี ก็ยังอยู่สุขสบาย

ขณะที่การจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอลเป็นการสำรองยาในช่วงเกิดภัยพิบัติตามนโยบายของ สธ. ขณะเดียวกันการประชุมร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ ก็เห็นต้องกันว่าควรมีวัตถุดิบและยาจำเป็นพื้นฐานสำรอง แม้โรงงานผลิตจะยังก่อสร้างไม่เสร็จก็ตาม อภ.จึงต้องมีวัตถุดิบสำรองไว้เสมอ เนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจริงจะหาผู้ผลิตได้ลำบาก

กระนั้นเอง นพ.วิชัย และกลุ่มแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุสำคัญที่ฝ่ายการเมืองเลือกเลิกสัญญาจ้างในที่สุด เกิดจากการที่ นพ.วิทิต ไม่ยอมสิโรราบด้วยการส่งเงินส่วนลดค่าซื้อยาที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรได้ 75 ล้านบาท ให้กับ สธ. และไม่ยอมส่งคืนวัตถุดิบยาพาราเซตามอลให้กับบริษัทต้นทาง

ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่ปลดหมอวิทิตที่ถูกระบุโดยบอร์ด อภ. เป็นเพียงข้ออ้าง เนื่องจากไม่ใช่คนของตัวหรือไม่ เพราะ นพ.วิทิต มีที่มาจาก นพ.วิชัย อดีตประธานบอร์ด อภ. พี่ใหญ่ของชมรมแพทย์ชนบท เห็นความสามารถในการปลุกปั้นโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จึงชักชวนให้มาเป็นผู้อำนวยการในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ผลงานของ นพ.วิทิต ยังโดดเด่นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีส่วนร่วมสนับสนุนการเปิดสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) รวมถึงการจัดระบบยาใหม่ จนทำให้ยารักษาโรคเรื้อรังหลายขนาน ไม่ว่าจะโรคเอดส์ โรคมะเร็ง หรือโรคไต ถูกลงกว่าเท่าตัว ขณะเดียวกันกำไรของ อภ.ก็พุ่งขึ้นจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท

เพิ่งจะมีปัญหาในยุคที่มีเสียงลือหนาหูว่า ผู้บริหารอย่าง นพ.ประดิษฐ มีความสนิทสนมกับโรงพยาบาลเอกชนและบริษัทยาข้ามชาติ และนโยบายหลายอย่างทั้งเมดิคัลฮับ และการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าคิดขึ้นเพื่อเอื้อต่อภาคเอกชน

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ อภ.ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบกับยอดขายของ อภ.อย่างหนักหน่วง โดยยาหลายตัวถูกเลิกสั่งซื้อเนื่องจากปัญหาใน อภ. และกลายเป็นเพิ่มกำไรให้กับบริษัทเอกชนไปโดยปริยาย

สะท้อนชัดว่า หลังจากนี้ นพ.ประดิษฐ คงจะเล่นบทโหด เชือดคนที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งมากขึ้น โดย นพ.วิทิต เป็นเหยื่อของ นพ.ประดิษฐ ที่ต้องการเชือดให้ผู้บริหารใน สธ.ดูว่า หากไม่ปฏิบัติตามโอวาทเป็นอย่างไร

แน่นอน นี่คือการสุมไฟเพิ่มเชื้อความขัดแย้งจากกลุ่มแพทย์ชนบทให้เปิดหน้าชกกันโดยตรง เพิ่มจากปัญหา P4P และความพยายามรวบอำนาจองค์กรอิสระตระกูล ส. ส่วนใครที่ไม่ยอมทำตามก็เสี่ยงที่จะโดนแบบ นพ.วิทิต

เหตุการณ์หลังจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า หมอและข้าราชการใน สธ.ที่เคยแข็งแกร่ง ไม่ยอมอำนาจจากฝ่ายการเมืองมาตลอด จะลุกขึ้นสู้ หรือจะยอมฟังคำสั่ง รักษาเก้าอี้ด้วยการให้อำนาจจากฝ่ายการเมืองสั่งซ้ายหันขวาหันต่อไป จนล่มสลายในที่สุด