posttoday

การเมือง-เอกชนตัวฉุดรั้งสกัดแผนปฏิรูปญี่ปุ่น

20 พฤษภาคม 2556

“ขณะนี้คือเวลาเหมาะที่จะยิงศรดอกที่สาม เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคธุรกิจ” นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

“ขณะนี้คือเวลาเหมาะที่จะยิงศรดอกที่สาม เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคธุรกิจ” นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นกล่าวในระหว่างการแถลงยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา

ถือเป็นคำพูดที่ชัดเจนและแน่วแน่ จนนักวิเคราะห์หลายสำนักยอมรับว่าน่าจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไม่น้อย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเสียงติติงจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายว่าลูกศรสองดอกแรกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอาเบะอย่างการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ และนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ไม่สามารถพลิกฟื้นญี่ปุ่นให้รอดพ้นจากยุคเศรษฐกิจฝืดที่กินเวลาหลายสิบปีนี้ได้ นอกเสียจากว่าญี่ปุ่นจะต้องหันมาปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบ และผ่อนคลายกฎทางการค้าอย่างจริงจัง

แม้ท่าทีล่าสุดของนายกรัฐมนตรีอาเบะจะแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นได้เริ่มลงมือทำตามแผนปฏิรูปแล้ว แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งต่างอดออกโรงเตือนไม่ได้ว่าใครก็ตามที่คาดว่าแผนดังกล่าวจะทำลายกำแพงกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของญี่ปุ่นให้หมดสิ้นไปมีแววว่าจะต้องผิดหวัง

เพราะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของแดนปลาดิบคราวนี้ยังต้องเผชิญกับพฤติกรรมการลงทุนของบริษัทผู้ประกอบการที่ยึดติดกับผลประโยชน์และกำไร และแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งทั้งสองปัจจัยล้วนเป็นโจทย์ปัญหาที่แก้ได้ยาก รวมถึงต้องการมากกว่าความเอาจริงเอาจังที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีในขณะนี้

เจสเปอร์ โคลล์ นักวิจัยตลาดหุ้นของเจพีมอร์แกน ประจำกรุงโตเกียวเห็นว่าศรดอกที่ 3 ของนายกรัฐมนตรีอาเบะไม่มีทางเป็นกระสุนวิเศษได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ หมายถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน จากการมุ่งสนใจแต่ผลประโยชน์มาเป็นการรู้จักลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ความเห็นข้างต้นยืนยันได้จากข้อมูลรายจ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditure : คาเป็กซ์) ซึ่งเป็นรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินกิจการหรือเพื่อการหารายได้ล่าสุดในเดือนเม.ย. ที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอีก 0.7% และนับเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สวนทางกับการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกของปีที่เพิ่มขึ้นมา 0.9% มาอยู่ที่ 3.5% โดยเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินเยน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ที่ช่วยให้ผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่ง รวมถึง อิซูมิ เดอวาลิเยร์ จากเอชเอสบีซี กล่าวว่า คาเป็กซ์เป็นดัชนีสำคัญสำหรับวัดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะแสดงให้เห็นการใช้จ่ายเพื่อขยับขยายกิจการของบริษัท ซึ่งเดอวาลิเยร์เห็นว่า บริษัทเหล่านี้ยังคงระมัดระวังตัวในด้านการลงทุน และต้องการเห็นเศรษฐกิจและการส่งออกเติบโตในระดับสูงพอที่จะทำให้สามารถควักเงินลงทุนได้อย่างสบายใจ

กระนั้น ท่าทีแนวโน้มของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะรายใหญ่ เช่น โซนี ชาร์ป หรือพานาโซนิก กลับยังคงยึดติดกับเรื่องของกำไรและขาดทุน เห็นได้จากการขายสินทรัพย์บางส่วน และไล่ปลดคนงาน แถมละเลยการลงทุนในแง่นวัตกรรมที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ขณะเดียวกัน ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 60% ต่อจีดีพีญี่ปุ่นที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจดูดีไม่น้อยก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากเงินเยนอ่อนทำให้ต้นทุนการนำเข้าแพงจนบริษัทต้องโยนภาระให้ผู้บริโภคช่วยแบกรับ และกลายเป็นสถานการณ์ที่ ฮารูมิ ทากูจิ นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอสกล่าวว่าจะทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าในตลาดลดลง

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้เป็นเรื่องยากที่บริษัทห้างร้านต่างๆ จะขึ้นค่าแรงตามความคาดหวังของแรงงาน แถมขณะนี้ อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังมีแนวโน้มลดลง โดยรายได้ของพนักงานประจำในเดือนมี.ค. ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าแล้ว 0.2% และลดลงจากเดือนก.พ. ก่อนหน้าแล้ว 0.7%

โยชิโร ซาโต นักเศรษฐศาสตร์จากเครดิตอะกริโกล ยอมรับว่า เหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินและแผนอัดฉีดการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นเพียงแค่การชดเชยความต้องการบริโภคที่ลดลงของผู้บริโภคไปในที่สุด

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์จากหลายสำนัก รวมถึง ไบรอน ซิเกล อดีตเจ้าหน้าที่ด้านการค้าของสหรัฐ ต่างเห็นตรงกันว่า หัวใจสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของญี่ปุ่นในขณะนี้คือการนำกฎเกณฑ์แบบแผนที่กำหนดไว้มาลงปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยมีตัวแปรหลักคือความตั้งใจจริงของบรรดานักการเมืองที่จะดำเนินการปฏิรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งกลับตั้งข้อสังเกตว่า แผนการปฏิรูปครั้งนี้ซึ่งเปรียบได้กับการปัดกวาดประเทศขนานใหญ่อาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่นายกรัฐมนตรีอาเบะวาดหวังได้

เพราะภายใต้แผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศนี้ ได้ครอบคลุมประเด็นที่มีความอ่อนไหวอย่างระบบประกันสุขภาพ และภาคเกษตรกรรม ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่อาจยอมเสี่ยงกับการสูญเสียความนิยมของประชาชนภายในประเทศ

เห็นได้จากการตัดสินใจของรัฐบาลที่มีแนวโน้มจะเลื่อนทำตามแผนปฏิรูปดังกล่าวออกไป อย่างน้อยก็จนกว่าการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. เพื่อให้พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ สามารถครองเสียงข้างมากได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยให้การอนุมัติกฎหมายใดๆ เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น

ขณะที่ ทางทาเคชิ นิอินามิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือข่ายห้างค้าปลีก ลอว์สัน อิงค์ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรัฐยอมรับว่าการเลือกตั้งรัฐสภามีผลต่อการปฏิรูปโครงสร้างขนานใหญ่ของนายกรัฐมนตรีอาเบะไม่น้อย และประเด็นเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมของประเทศจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการจัดการเปลี่ยนแปลง

กระนั้น นิอินามิได้สำทับปิดท้ายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าผลจะเกิดอะไรขึ้น บรรดาผู้นำญี่ปุ่นต่างตระหนักและรู้ซึ้งดีแล้วว่า ดินแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงถึงขึ้นที่เรียกว่าพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ เพื่อให้ญี่ปุ่นกลับมาผงาดอีกครั้ง

ทว่า สิ่งที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกอดปริวิตกไม่ได้ในขณะนี้ ไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะลงมือทำหรือไม่ และเมื่อไร แต่เป็นการลงมือทำอย่างไร ระหว่างกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วกับฝืนทำแบบเต็มกลืน ซึ่งจะส่งผลต่อแผนปฏิรูปรอบใหม่ที่มุ่งเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแน่นอน