posttoday

ศึกนอกประชิด ศึกในปะทุ

17 พฤษภาคม 2556

แรงกระเพื่อมภายในพรรคประชาธิปัตย์ก่อตัวขึ้นอีกระลอก หลัง อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ภาคกลาง

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

แรงกระเพื่อมภายในพรรคประชาธิปัตย์ก่อตัวขึ้นอีกระลอก หลัง อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ภาคกลาง จุดกระแสปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ด้วยเป้าหมาย เดินหน้าสู่การชนะเลือกตั้งที่ห่างหายมายาวนาน 21 ปี

แม้จะมีเสียงสนับสนุนกับการเคลื่อนไหวรอบนี้อยู่ไม่น้อย และพร้อมออกมาเป็นแนวร่วมเดินหน้าช่วยผลักดันการยกเครื่องรอบนี้ โดยเฉพาะ สส.ภาคกลางฝั่ง เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เมื่อเห็นว่าโครงการสร้างการบริหารจัดการภายในยังมีข้อจำกัดในการทำงาน

การวนเวียนอยู่ในกรอบการทำงานแบบเดิมๆ ตามแบบฉบับที่ประชาธิปัตย์เคยปฏิบัติมา ย่อมทำให้การขับเคลื่อนองคาพยพไม่อาจก้าวพ้นกรอบเดิมๆ และเป็นอุปสรรคที่ไม่อาจทำให้ประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านๆ มา

ทว่ายังไม่ทันได้ออกตัวเดินหน้า พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค 36 หน้าของ “อลงกรณ์” กลับต้องถูกเตะสกัดจากคนภายในพรรค โดยเฉพาะฝั่งที่อยู่แวดล้อม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อเห็นว่าแนวทางการขับเคลื่อนครั้งนี้อาจต้องเดินซ้ำรอยเดียวกับ “เพื่อไทย” ที่มุ่งเดินหน้าประชานิยมจนละเลยอุดมการณ์ที่สั่งสมมายาวนานของประชาธิปัตย์

ระเบิดลูกใหญ่ปะทุผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของ “อลงกรณ์” แบบยาวเหยียด ระบายความอัดอั้นพร้อมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ว่า ข้อเสนอปฏิรูปพรรคที่ถูกกล่าวหาว่าขัดอุดมการณ์พรรคเน้นประชานิยมเลียนแบบพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นการ “บิดเบือน” และ “ดิสเครดิต”

“การอ้างคำพูดท่านชวนที่ผมให้ความเคารพแบบจงใจพูดโกหก ‘ขาวเป็นดำ’ เช่นนี้ ไม่ใช่ลูกผู้ชาย จะทำร้ายผมได้ แต่อย่าทำร้าย ‘การปฏิรูป’

“22 ปี ไม่เคยไปไหน พรรคให้เป็นประธานตรวจสอบทุจริตยุคทักษิณเรืองอำนาจสูงสุด 5 ปีเต็ม เสี่ยงคุกเสี่ยงตาย คนแบบนี้ไม่มีอุดมการณ์หรือ

“ท่านชวนเป็นต้นแบบต่อต้านการซื้อเสียงและคอร์รัปชั่น ผมก็ต่อสู้พวกซื้อเสียง พวกทุจริตและไม่สนับสนุนนโยบายประชานิยมแบบมอมเมา

“การกล่าวหาใส่ร้ายเกิดขึ้นเพราะผมและเพื่อนๆ เสนอ ‘พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค’ และ ‘ความพ่ายแพ้ซ้ำซาก 21 ปี’ แบบตรงไปตรงมา”

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ การจุดประเด็นปฏิรูปของ “อลงกรณ์” เคยเป็นปัญหาที่ขัดอกขัดใจหลายคนในพรรค เพราะนำเรื่องภายในออกมาป่าวประกาศ แทนที่จะมาทำกันเงียบๆ จน “ชวน หลีกภัย” ต้องออกมาปราม และเหมือนจะสงบความขัดแย้งไปได้พักหนึ่ง

จนล่าสุดในการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งสัญญาณตอบรับดูจะไม่ค่อยสนิทใจ ดังจะเห็นผ่านถ้อยแถลงแบบแบ่งรับแบ่งสู้ของ “อภิสิทธิ์” ว่า ข้อเสนอของอลงกรณ์ก็เป็นเพียงฝ่ายหนึ่ง ซึ่งยังมีทั้งข้อเสนอของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้ อีกทั้งข้อเสนอของอลงกรณ์ก็ไม่อาจนำไปใช้ในทั่วทุกพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ก็จะต้องมีแนวทางที่แตกต่างกันไป

“การเปลี่ยนแปลงไม่ได้แปลว่าจะเอาชนะการเลือกตั้งโดยอะไรก็ได้ มันต้องเป็นการเดินหน้าที่รักษาอุดมการณ์ แล้วก็มุ่งไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นการทำงานให้กับประเทศ” อภิสิทธิ์ กล่าว

ทว่าส่องดูรายละเอียดพิมพ์เขียวของ “อลงกรณ์” เป้าหมายใหญ่ๆ อย่าง เพิ่มจำนวน สส. และเพิ่มความศรัทธาที่มีต่อพรรค เพิ่มโครงสร้างและระบบการดูแลประชาชนครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองและองค์กรทันสมัย ทรงประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ฯลฯ

ปฏิรูปโครงสร้างและระบบมี 5 แนวทาง 1.แนวทางขับเคลื่อนแบบบนลงล่าง ล่างขึ้นบน 2.มีโครงสร้างในการสื่อสารภายในและภายนอกที่มีประสิทธิภาพ 3.มีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา 4.มีโครงสร้างระดับพรรคภาคโซนจังหวัดเขตเลือกตั้งอำเภอตำบลหมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ 5.มีโครงสร้างและพื้นที่ทำงานให้แก่ผู้มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่าได้ทำงาน

รวมถึงหน่วยงานใหม่ๆ 1.สำนักวิจัยและพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ 2.สำนักวิจัยและพัฒนางบประมาณแผ่นดิน 3.สำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย 4.ศูนย์ปราบปรามคอร์รัปชั่น 5.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน 6.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ 7.สำนักกิจการสาขาและสมาชิก 8.สำนักกิจการสตรีและยุวประชาธิปัตย์ 9.สถาบันประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรและคิดค้นนวัตกรรมการบริหารจัดการ รวมทั้งงาน eLibrary 10.สำนักกิจการรายได้ 11.สำนักงานอำนวยการ โดยมีผู้อำนวยการพรรคเป็นนักบริหารมืออาชีพทำงานเต็มเวลา

ไปจนถึงข้อสรุปที่ต้องการปฏิรูปแบบองค์รวมต้องยกเครื่องใหญ่ ต้องกลับมาเป็นทางเลือกที่ดี ไม่ใช่เป็นทางเลือกสุดท้าย ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง ล้วนแต่ไม่มีอะไรที่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

สุดท้าย ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ กรรมการบริหารพรรคได้ออกมาสรุปว่าทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่การขัดแย้ง พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปตามกรอบที่เห็นพ้องว่าต้องปรับปรุงโดยยึดประสิทธิภาพเป็นหลัก เน้นความยืดหยุ่น เปิดกว้าง กระชับ คล่องตัวภายใน 30 วัน

ช่วงเวลาจากนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องรอดูว่าแนวคิดปฏิรูปพรรคจะขับเคลื่อนแบบจับต้องได้มากน้อยแค่ไหน และจะปะทุบานปลายไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่อีกหรือไม่ ในวันที่ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าใกล้เข้ามาทุกที