posttoday

อันตรายเงินเยนอ่อนสกัดพัฒนา-นำเข้าแย่-ขวางค้าเสรีโลก

16 พฤษภาคม 2556

เป็นความหวังที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ)

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เป็นความหวังที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ตามแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ทำให้เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยมีแววกระเตื้องหลังจากต้องซบเซามานานหลายสิบปี

เห็นได้ชัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ดัชนีนิกเกอิ 225 ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งทะลุ 14,500 จุด จนทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง หรือกรณีที่สกุลเงินเยนอ่อนค่ามากกว่า 100 เยนต่อเหรียญสหรัฐ ครั้งแรกในรอบ 4 ปี จนช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทญี่ปุ่นสามารถแสดงรายได้กำไรมากขึ้น หลังขาดทุนต่อเนื่องมานาน เช่น บริษัท โซนี่ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นสัญญาณบวกที่ให้กำลังใจนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกไม่น้อย แต่นักวิเคราะห์ต่างเตือนว่า ข่าวดีนี้ยังไม่อาจทำให้ญี่ปุ่นพ้นภาวะเศรษฐกิจซบเซาเรื้อรังได้

เนื่องจากสถานการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นขณะนี้ ล้วนเป็นผลจากแรงผลักดันของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้นโยบายการเงินเพื่อทำให้ค่าเงินเยนอ่อนยวบ เพื่อมุ่งช่วยภาคส่งออกของประเทศให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง จนหลายฝ่ายอาจลืมไปว่า การที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว ต้องการปัจจัยที่มากกว่าเงินเยนอ่อนค่า

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายราย รวมถึง วิลเลียม เปเสก นักคอลัมนิสต์ประจำบลูมเบิร์ก ต่างพร้อมใจกล่าวเตือนว่า เงินเยนที่ทรุดฮวบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ไม่ต่างอะไรกับกับดักอันตรายที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นดำดิ่งลงเหวเอาได้ง่ายๆ

เพราะ 1) ทำให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นมัวแต่หลงระเริงกับกำไรที่เพิ่มขึ้นในรอบหลายปีจนมองข้ามปัจจัยจำเป็นที่สุดต่อการพลิกฟื้นธุรกิจ อย่างการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด 2) ภาคนำเข้าของประเทศจะแบกภาระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอก จนมีแนวโน้มให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้มากขึ้น และ 3) เงินเยนที่จงใจทำให้อ่อนค่าจะส่งผลให้ฝ่ายที่เสียเปรียบลุกขึ้นหามาตรการปกป้องตนเอง จนกลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างประเทศและขัดขวางตลาดการค้าเสรีโลกได้โดยง่าย

แน่นอนว่า ลำพังพิจารณาจากความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้น อาจทำให้นักลงทุนและนักธุรกิจหลายรายเชื่อว่า เศรษฐกิจแดนปลาดิบไปได้สวย โดยตลาดหุ้นของญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นแล้วถึง 36%

กระนั้น หากพินิจดูข้อมูลของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นทีละรายแล้ว ปริมาณการส่งออกกลับขยับเขยื้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น กรณี โซนี่ ที่ผลกำไรประจำปีงบประมาณล่าสุดซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2556 ระบุชัดว่า ผลกำไร 435 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการปรับโครงสร้างขายสินทรัพย์มากกว่าการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

เคลวิน โฮ ผู้อำนวยการฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า หากตัดการขายสินทรัพย์ออกไป โซนี่จะอยู่ในสถานะที่ขาดทุนมหาศาลทันที

ทั้งนี้ สตีฟ ดูโรส ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิทช์ เรทติ้งส์ เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ระดับของบริษัทญี่ปุ่น ทั้งโซนี่ ชาร์ป หรือพานาโซนิค ลดลงเรื่อยๆ เป็นเพราะการสูญเสียสถานะผู้นำตลาด ขาดการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่จะตอบโจทย์ความต้องการตลาด เหมือนแอปเปิ้ลหรือซัมซุง

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่บริษัทญี่ปุ่นควรทำมากที่สุดขณะนี้คือ การใช้โอกาสที่เงินเยนอ่อนขยับขยายลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการวางกลยุทธ์ผลักดันให้สินค้าเป็นที่ต้องการมากกว่าการพยายามรักษาผลกำไรของบริษัทที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการด้านราคาขึ้นมาสู้กับคู่แข่ง โดยจนถึงขณะนี้อันดับการน่าลงทุนของชาร์ป โซนี่ และพานาโซนิค ยังอยู่ในสถานะเสี่ยงและมีแนวโน้มติดลบ เพราะไม่สามารถเพิ่มยอดขายทั้งในและต่างประเทศได้เลย

ขณะเดียวกันเงินเยนที่อ่อนยังเป็นอันตรายต่อสถานะการคลังของประเทศ เพราะขณะนี้ ญี่ปุ่นต้องนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นในรอบหลายสิบปี หลังจากเหตุธรณีพิบัติภัยในเดือน มี.ค. 2554 ที่แหล่งพลังงานหลักของประเทศอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 52 แห่ง จากทั้งหมด 54 แห่ง ต้องหยุดเตาปฏิกรณ์

ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงต้องซื้อน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ จากต่างประเทศเพิ่มอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ โดยขณะนี้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีอาเบะเริ่มวิ่งรอกทำความตกลงด้านพลังงานกับประเทศต่างๆ เห็นได้จากการนำคณะเดินทางเยือนรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

กระนั้น ไม่ว่าจะพยายามเจรจาให้สามารถซื้อพลังงานในราคาถูกเพียงใด แต่ค่าเงินเยนที่อ่อนก็ทำให้ญี่ปุ่่่นต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าเดิม เพื่อซื้อพลังงานเท่าเดิมหรืออาจน้อยกว่าอยู่ดี

นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ภาระราคาพลังงานที่แพงขึ้นจะส่งต่อถึงผู้บริโภคในท้ายที่สุด จนกัดกร่อนแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยรัฐบาลอาจจำเป็นต้องออกมาตรการอุดหนุนพลังงาน จนมีแววว่าจะเผชิญหน้ากับการขาดดุลบัญชีครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันค่าเงินเยนที่อ่อนกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่เงินเฟ้อแบบผิด คือ ราคาสินค้าและบริการมีราคาสูง เพราะต้นทุนพลังงานสูง แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมีไม่มากพอ

ภาระข้างต้นยังทำให้บริษัทที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้าขายในประเทศต้องปวดหัวเช่นกัน โดยเมื่อไม่นานมานี้ ฟูจิตสึ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของญี่ปุ่น แง้มว่าเตรียมจะขึ้นราคาคอมพิวเตอร์ในประเทศ เพราะต้นทุนชิ้นส่วนที่แพงขึ้น ขณะที่ โตชิบา คอร์ป ก็ส่งสัญญาณเช่นกันว่าอาจจะทำตามฟูจิตสึ

ยังไม่นับรวมกรณีของผู้บริโภคภายในประเทศที่อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลง

นอกจากนี้ แม้มติจากที่ประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (จี7) จะเห็นว่า รับได้และไม่แค้นเคืองแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วยการกดเยนให้อ่อน กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า แนวทางดังกล่าวสร้างความตึงเครียดและขัดแย้งให้กับบางประเทศและบางอุตสาหกรรมไม่น้อย

หลักฐานยืนยันคือ การที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และจีน ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการแข็งค่าของสกุลเงินของตน และเพื่อปกป้องภาคการส่งออกของประเทศ

เฟรด เบิร์กสเตน นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งปีเตอร์สัน กล่าวว่า แม้ความตึงเครียดอาจไม่ถึงขั้นก่อสงครามค่าเงิน แต่ก็ทำให้หลายชาติอดจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปไม่ได้ เพื่อหามาตรการรับมือป้องกันต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการค้าในภูมิภาคที่ต่างต้องการให้สินค้าและบริการเป็นไปอย่างเสรีมากที่สุด

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า เงินเยนที่อ่อนค่ายังกระทบอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นอย่าง โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ประกาศเพิ่มยอดขายอย่างคึกคัก ค่ายรถใหญ่ของสหรัฐอย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส ฟอร์ด และไครสเลอร์ รวมถึงค่ายรถเกาหลีใต้อย่างฮุนได ต่างเริ่มหวั่นเกรงต่อผลกระทบจากเยนอ่อนทั่วหน้า และเริ่มเตรียมมาตรการเพื่อพร้อมรับมือ เช่น การย้ายฐานการผลิตมายังประเทศที่ถูกกว่า และมีแนวโน้มตลาดเติบโตสูงอย่างไทยของค่ายรถฟอร์ด

ขณะเดียวกันรายงานจากวอลสตรีท เจอร์นัล ยังระบุว่า สภานโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทน 3 ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของประเทศ ยังได้แสดงความเห็นว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนลงจนกระทบต่อการส่งออกและการสร้างงานของสหรัฐ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ญี่ปุ่นไม่สมควรมีส่วนร่วมในการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี)

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงจำเป็นต้องพึ่งพามาตรการกดค่าเงินเยนอ่อนต่อไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง แต่ญี่ปุ่นเองต้องไม่ลืมเช่นกันว่า มาตรการดังกล่าวคือยาแรงเพื่อบรรเทาอาการเรื้อรังเท่านั้น

และมีเพียงการปฏิรูปพลิกโฉมการผลิตสินค้า การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างจริงจังที่จะตอบโจทย์ตลาด และทวงคืนประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกให้คืนมาอีกครั้ง